การบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียน

UploadImage
 
UploadImage
 
การบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียน
Working Capital Management
 
พัชรพล ศรีเพชร
Patcharapon Sripetch
     E-mail : new.kshacc@gmail.com
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต  สาขาวิชาบัญชี คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม
 
บทคัดย่อ
          การบริหารกิจการให้สำเร็จนั้น ผู้บริหารจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาความสมดุลของเงินทุนหมุนเวียนให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม โดยสามารถดูหรือคาดคะเนได้จาก การพยากรณ์การตลาด การจัดทำงบการเงินโดยคาดคะเนและการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินที่เหมาะสม
          ความสำเร็จของงาน การบริหารจัดการเงินทุน ทั้งการกู้ยืมระยะสั้นและระยะยาวหรือการระดมเงินทุน จากส่วนของผู้ถือหุ้น ให้เพียงพอเหมาะสมกับช่วงระยะเวลา เพื่อรักษาสภาพคล่องของธุรกิจ ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีอยู่นั้นจะเป็นตัวกำหนดความอยู่รอดของธุรกิจ ความจำเป็นในการบริหารระดับหนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้น ให้เหมาะสมกับการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อรองรับการดำเนินงานของกิจการ เพื่อให้เกิดต้นทุนการกู้ยืม อยู่ในระดับที่เหมาะสมอันเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ
 
คำสำคัญ : การบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียน, ความสำเร็จของงาน, สภาพคล่องของธุรกิจ
 
Abstract
          Business management to be successful Executives must have knowledge An understanding of how to keep the working capital balance in an optimal state. which can be viewed or predicted from Market Forecast Preparing financial statements and analyzing appropriate financial ratios.
          Job success Capital Management Both short-term and long-term borrowing or raising funds. from shareholders' equity enough to be appropriate for a period of time. to maintain the liquidity of the business. The ability to access existing funding will determine the viability of the business. The need to manage debt and equity levels. to be suitable for acquiring sources of funds to support the operations of the business to incur borrowing costs at the appropriate level that is beneficial to the business.

Keywords : Working Capital Management, Job Success, business liquidity
 
บทนำ
          การที่ธุรกิจจะสามารถดำเนินงานและอยู่รอดได้ในยุคปัจจุบันนั้น จําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการบริหารเงินทุนหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากเงินทุนหมุนเวียนของกิจการเปรียบเสมือน “น้ำมันหล่อลื่นของเครื่องจักร” ที่จะช่วยให้ธุรกิจดําเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ติดขัด มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอสําหรับการใช้จ่ายในแต่ละวัน และสามารถชําระหนี้ได้เมื่อถึงกําหนด ผู้บริหารการเงินต้องให้ความสนใจและควบคุมและติดตามการบริหารเงินทุนหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง เนี่องจากการจัดการหรือการบริหารเงินทุนหมุนเวียนจะมีผลต่อสภาพคล่อง ความเสี่ยงและความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ  (ปรียานุช  กิจรุ่งโรจน์เจริญ , 2563 : ออนไลน์)
          เงินทุนหมุนเวียน (Working capital) หมายถึง เงินทุนที่ธุรกิจจัดสรรไปลงทุนในสินทรัพย์หมุนเวียนทั้งหมดหักด้วยหนี้สินหมุนเวียนทั้งหมด หรือเรียกว่าเงินทุนหมุนเวียนสุทธิ (Net working capital) ขออธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจกับ สินทรัพย์หมุนเวียน และหนี้สินหมุนเวียนดังนี้
          สินทรัพย์หมุนเวียน (Current assets) หมายถึง สินทรัพย์ที่ธุรกิจสามารถเปลี่ยนให้เป็นเงินสดได้ภายในรอบระยะเวลาการดำเนินงานปกติหรือภายในระยะเวลา 1 ปี ได้แก่ เงินสด เงินฝากธนาคาร หลักทรัพย์ในความต้องการของตลาด ลูกหนี้การค้า สินค้าคงเหลือ ตั๋วเงินรับ หรือที่นักบัญชีเรียกว่าสินทรัพย์สภาพคล่อง
          หนี้สินหมุนเวียน (Current liability) หมายถึง หนี้สินที่มีระยะเวลาการชําระคืนภายใน 1 ปี ได้แก่ เงินเบิกเกินบัญชีธนาคาร เงินกู้ยืมระยะสั้น เจ้าหนี้การค้า ตั๋วเงินจ่าย ค่าใช้จ่ายค้างจ่ายและรายได้รับล่วงหน้า
          เนื้อหาภายในบทความฉบับนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาในรายวิชา ACT512 นโยบายทางการเงินและการบริหารทางการเงิน ซึ่งผู้จัดทำขอขอบพระคุณ ดร.เบญจพร โมกขะเวส อาจารย์ประจำวิชาที่เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจนโยบายการเงินและการบริหารการเงิน บทความฉบับนี้ผู้จัดทำได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อประกอบบทความ ซึ่งผู้จัดทำหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านจะได้รับความรู้จากบทความฉบับนี้และอาจนำความรู้จากบทความฉบับนี้ที่ได้ใช้เป็นแนวทางในการบริหารเงินทุนหมุนเวียนสำหรับองค์กรของท่านให้มีสภาพคล่องในการดำเนินงานของกิจการอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ตามนโยบายทางการเงินและการบริหารทางการเงินต่อไป
 
วัตถุประสงค์
  1. เพื่อศึกษาหลักการบริหารเงินทุนหมุนเวียน
  2. เพื่อศึกษาเทคนิคการบริหารเงินทุนหมุนเวียน
  3. เพื่อศึกษาข้อห้ามและข้อควรคำนึงถึงเกี่ยวการบริหารเงินทุนหมุนเวียน
  4. เพื่อศึกษาปัจจัยเกี่ยวกับความต้องการเงินทุนหมุนเวียน
  5. เพื่อวิเคราะห์กรณีศึกษาการบริหารเงินทุนหมุนเวียน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
     
หลักการบริการเงินทุนหมุนเวียน
          หลักในการบริหารเงินทุนหมุนเวียนนั้น ผู้บริหารจำเป็นต้องบริหารเงินทุนหมุนเวียนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งด้านส่วนประกอบและปริมาณที่เหมาะสม โดยพิจารณาระดับของความเสี่ยง (risk) และผลตอบแทนหรือกำไร (Profit) ในระดับที่เหมาะสม กล่าวคือการจัดสรรเงินเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ใดก็ตาม  โดยหลักทางการเงิน พบว่า หากลงทุนในสินทรัพย์ถาวรมากกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน จะมีผลทำให้สภาพคล่องต่ำ ความเสี่ยงสูง กำไรสูง แต่หากลงทุนในสินทรัพย์หมุนเวียนมากกว่าสินทรัพย์ถาวร จะมีผลทำให้สภาพคล่องสูง ความเสี่ยงต่ำ กำไรต่ำ การบริหารเงินทุนหมุนเวียน เป็นการบริหารให้มีประสิทธิภาพในประเภทและขนาดที่เหมาะสม ไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป เพราะหากมีมากเกินไปก็จะทำให้กิจการสูญเสียกำไรจากการลงทุน เช่น การถือเงินสดมากเกินความจำเป็นจะทำให้ธุรกิจเสียโอกาสในการลงทุนที่ให้กำไรสูงกว่า หรือการมีลูกหนี้ที่เก็บไม่ได้จำนวนมาก ก็จะทำให้เกิดเงินทุนจมในตัวลูกหนี้และความเสี่ยงต่อการเกิดหนี้สูญมากขึ้น เกิดค่าใช้จ่ายในการเก็บหนี้มากขึ้น และหากกิจการมีสินค้าคงเหลือมาก ก็จะทำให้เกิดเงินทุนจมในสินค้า สินค้าอาจเสื่อมสภาพหรือล้าสมัยจนไม่สามารถขายได้ และเกิดค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาสินค้ามากขึ้นในขณะเดียวกัน หากธุรกิจมีสินทรัพย์หมุนเวียนน้อยเกินไป ก็จะทำให้ธุรกิจมีปัญหาด้านการดำเนินงาน เช่น การถือเงินสดน้อยเกินไป ก็จะมีผลทำให้การดำเนินงานติดขัดไม่ราบรื่น เพราะมีเงินสดไม่เพียงพอในการจ่ายชำระหนี้ ไม่เพียงพอต่อการจ่ายค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานหรือหากกิจการเก็บหนี้ให้เร็วขึ้นด้วยการเร่งรัดชำระหนี้ อาจมีผลทำให้ทำให้ยอดขายลดลง เพราะลูกค้าเปลี่ยนการตัดสินใจไปซื้อสินค้าจากรายอื่นที่ให้เครดิตนานกว่า และหากมีสินค้าคงเหลือน้อยเกินไปอาจทำให้สินค้าขาดมือจนทำให้ส่วนแบ่งตลาดลดลง
          ดังนั้นการบริหารเงินทุนหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพนั้น จะต้องอาศัยดุลยพินิจในการบริหารเงินทุนหมุนเวียนว่าจะอยู่ในระดับใดที่เหมาะสม จึงจะทำให้ธุรกิจมีกำไรและสภาพคล่อง ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และโดยทั่วไปพบว่า ปัญหาในเรื่องของการขาดเงินทุนหมุนเวียน หรือสภาพคล่องของธุรกิจ เกิดขึ้นจากสาเหตุหลายประการ เช่น การไม่สามารถเก็บหนี้จากลูกหนี้ได้ตามกำหนดเวลา สินค้าจำหน่ายไม่ได้ ทำให้เงินจมในสินค้า ผลกระทบตามมาก็คือกิจการขาดเงินทุนหมุนเวียนที่จะชำระหนี้สินและใช้ในการดำเนินงาน ซึ่งธุรกิจอาจแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการหาแหล่งเงินจากแหล่งเงินทุนระยะสั้นเพิ่มขึ้น เพื่อนำมาจ่ายชำระหนี้ให้ทันกำหนด เช่น การหาแหล่งเงินทุนระยะสั้น เช่น การกู้ยืมเงินจากธนาคาร วิธีการดังกล่าวสามารถจ่ายชำระหนี้ได้ทันตามกำหนดก็จริง แต่จะไม่สามารถทำให้สภาพคล่องของกิจการดีขึ้นแต่อย่างใด แต่ในทางกลับกันจะทำให้กิจการมีปัญหาสภาพคล่องมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้เพราะการหาเงินทุนจากแหล่งเงินทุนระยะสั้นเพิ่มขึ้น เพื่อนำมาชำระหนี้นั้น จะมีผลทำให้อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน (Current Ratio) เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ลดลง (ปรียานุช กิจรุ่งโรจน์เจริญ, 2563 : ออนไลน์)
          จะเห็นได้ว่า การบริหารเงินทุนหมุนเวียน ก็คือการบริหารสินทรัพย์หมุนเวียนและหนี้สินหมุนเวียน ให้เกิดความสมดุลกันระหว่าง สภาพคล่อง ความสามารถในการทำกำไร และความเสี่ยงซึ่งจากการบริหารดังกล่าว สามารถจำแนกการบริหารเงินทุนหมุนเวียนได้ 3 ลักษณะ ดังนี้
          1. เงินทุนหมุนเวียนเป็นศูนย์ (zero position) เป็นการบริหารเงินทุนหมุนเวียนที่สินทรัพย์หมุนเวียนเท่ากับหนี้สินหมุนเวียน ผลคือจะทำให้กิจการมีสภาพคล่อง กำไรและความเสี่ยงในระดับปานกลาง
          2. เงินทุนหมุนเวียนเป็นบวก (positive position) เป็นการบริหารเงินทุนหมุนเวียนที่มีสินทรัพย์หมุนเวียนมากกว่าหนี้สินหมุนเวียน มีผลทำให้กิจการมีสภาพคล่องสูง ความเสี่ยงต่ำ และความสามารถในการทำกำไรลดลง
          3. เงินทุนหมุนเวียนเป็นลบ (negative position) เป็นการบริหารเงินทุนหมุนเวียนที่มีสินทรัพย์หมุนเวียนน้อยกว่าหนี้สินหมุนเวียน มีผลทำให้กิจการมีสภาพคล่องต่ำ ความเสี่ยงสูงขึ้น แต่กำไรสูงกว่า
 
เทคนิคการบริหารเงินทุนหมุนเวียน
          ผู้ประกอบการจำเป็นต้องบริหารเงินทุนหมุนเวียนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยใช้หลักเกณฑ์ด้านสภาพคล่อง ระดับของความเสี่ยงและกำไรในระดับที่ยอมรับได้เป็นส่วนในการพิจารณา โดยทั่วไปธุรกิจที่ลงทุนในสินทรัพย์หมุนเวียนมากกว่าสินทรัพย์ถาวรมีสภาพคล่องสูง ความเสี่ยงต่ำ กำไรต่ำ ในทางตรงข้าม ลงทุนสินทรัพย์ถาวรมากกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนส่งผลสภาพคล่องต่ำ ความเสี่ยงสูง กำไรสูง ดังนั้น การบริหารเงินทุนหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพต้องอาศัยดุลยพินิจอย่างสูงเพื่อลดการสูญเสียกำไรจากการลงทุน เพิ่มความคล่องตัวด้านการดำเนินงาน และอยู่ในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (สถาบันพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการ SME, 2562 : ออนไลน์)
1. จัดการเงินสดให้เป็นระบบ โดยแบ่งออกเป็น
          1.1 เงินสดย่อย สำหรับค่าใช้จ่ายรายวันจำนวนไม่มาก เช่น ค่าแสตมป์ ค่ายานพาหนะ ค่าเครื่องใช้สำนักงาน เป็นต้น ทำให้สะดวกในการใช้จ่าย ควบคุมรายจ่ายที่เกิดขึ้นประจำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          1.2 เงินสดในมือ ได้จากการขายประจำวันและเงินทอน เป็นส่วนที่ไม่มีผลตอบแทน ควรมีเท่าที่จำเป็น ลดความเสี่ยงจากการสูญเสีย เช่น การขโมย ดังนั้นควรนำไปฝากธนาคารทุกวัน
          1.3 เงินฝากกระแสรายวัน อำนวยความสะดวกในการบริหารเงินได้อย่างคล่องตัวและปลอดภัยโดยใช้เช็คสั่งจ่ายของธนาคารแทนการใช้เงินสด
          1.4 เงินฝากออมทรัพย์ ใช้สำหรับรับโอนเงินจากเงินฝากกระแสรายวันเพื่อรับดอกเบี้ย เป็นเงินสำหรับใช้จ่ายภาษีต่างๆ หรือ ใช้ในกรณีฉุกเฉิน
2. นำหลักทรัพย์ลงทุนชั่วคราวเพื่อสร้างรายได้
ผู้ประกอบการสามารถนำเงินสดที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้จ่ายหรือชำระหนี้ทันทีไปลงทุนในหลักทรัพย์ระยะสั้นหรือตราสารในตลาดเงินซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่าเก็บไว้ในบัญชีกระแสรายวันซึ่งไม่มีดอกเบี้ย และบัญชีออมทรัพย์ซึ่งดอกเบี้ยต่ำมาก
3. กำหนดนโยบายบริหารลูกหนี้
ในกรณีขายเชื่อ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีวิธีการบริหารลูกหนี้ โดยกำหนดเป็นนโยบายขายเชื่อ มีรายละเอียดสำคัญ 3 ประการ คือ ประเภทลูกค้าและวงเงินขายเชื่อ ระยะเวลาและเงื่อนไขขายเชื่อ และวิธีการควบคุมขายเชื่อและมาตรการแก้ปัญหา
4. จัดการสินค้าคงเหลือเหมาะสม
เป้าหมายหลักของการจัดการสินค้าคงคลัง ทำให้ค่าใช้จ่ายรวมในการจัดการสินค้าคงเหลือมีค่าน้อยที่สุดในขณะลูกค้าได้รับความพอใจ ดังนั้นผู้ประกอบการต้องบริหารสินค้าคงคลังให้ปริมาณพอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยเกินไป เงินลงทุนจะได้ไม่จมอยู่กับสินค้า ค่าใช้จ่ายในการบริหารสินค้าเหลือน้อยและมีสินค้าพร้อมขายแก่ลูกค้าทันท่วงที
 
ข้อห้ามและข้อควรคำนึงถึงเกี่ยวการบริหารเงินทุนหมุนเวียน
          เส้นเลือดแดงที่ล่อเลี้ยงธุรกิจอย่าง เงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ มีความสำคัญอย่างมาก ผู้ประกอบการจะละเลยไม่ได้ ต้องบริหารเงินทุนหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพ คล่องตัว มีกำไรภายใต้ความเสี่ยงเหมาะสมโดยอาศัยเทคนิคต่าง ๆ มากำหนดนโยบายอย่างสมดุลและหลีกเลี่ยงข้อห้ามที่เป็นอันตรายต่อการบริหารเงินทุนหมุนเวียน ทั้งนี้ต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ภาวการณ์แข่งขันทางการตลาดและสภาวะแวดล้อมอีกด้วย
7 ข้อห้ามการบริหารเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ
          1. ถือเงินสดมากเกินความจำเป็น ธุรกิจเสียโอกาสในการลงทุนที่ให้กำไรสูงกว่า
          2. ขายเชื่อมากเกินไป เกิดลูกหนี้ที่เก็บไม่ได้จำนวนมากเงินทุนจมในตัวลูกหนี้ เสี่ยงเกิดหนี้สูญ มีค่าใช้จ่ายเก็บหนี้มากขึ้น
          3. สต๊อกสินค้าคงเหลือเกินความจำเป็นเงินทุนจมในสินค้า ระยะยาวสินค้าเสื่อมสภาพหรือล้าสมัยจนไม่สามารถขายได้ และเกิดค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาสินค้ามากขึ้น
          4. ถือเงินสดน้อยเกินไป ส่งผลธุรกิจดำเนินงานติดขัด ไม่ราบรื่น เพราะมีเงินสดไม่เพียงพอในการจ่ายชำระหนี้จ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
          5. เร่งรัดชำระหนี้เร็วเกินไป อาจมีผลทำให้ยอดขายลดลง เพราะลูกค้าเปลี่ยนการตัดสินใจไปซื้อสินค้าจากรายอื่นที่ให้เครดิตนานกว่า
          6. สินค้าคงเหลือน้อยเกินไป ทำให้สินค้าขาดมือส่งผลต่อความน่าเชื่อถือและส่วนแบ่งตลาดลดลง
          7. ยืมเงินจากแหล่งเงินทุนระยะสั้นมากเกินไป เพื่อนำมาจ่ายชำระหนี้ให้ทันกำหนด เช่น การกู้ยืมเงินจากธนาคาร สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ทันตามกำหนด แต่ไม่สามารถทำให้สภาพคล่องของกิจการดีขึ้น กลับกันทำให้ธุรกิจมีปัญหาสภาพคล่องมากขึ้นกว่าเดิมเพราะอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน (Current Ratio) เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ลดลง (สถาบันพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการ SME, 2562: ออนไลน์)
 
ปัจจัยเกี่ยวกับความต้องการเงินทุนหมุนเวียน
          ปัจจัยที่จะกำหนดว่า ธุรกิจต้องมีเงินทุนหมุนเวียนถาวรหรือชั่วคราวและเป็นจำนวนเท่าใด คือ
  1. ปริมาณยอดขาย (Volume of Sales)
ในการขายสินค้าจำนวนหนึ่งธุรกิจต้องมีเงินทุนหมุนเวียนไว้จํานวนหนึ่งยิ่งยอดขายสูงขึ้นเพียงใดเงินทุนหมุนเวียนก็ต้องเพิ่มขึ้นเพราะการลงทุนในสินทรัพย์หมุนเวียนมักเป็นสัดส่วนกับยอดขายส่วนเงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นจะถาวรหรือชั่วคราวขึ้นอยู่ว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นตลอดไปหรือเพียงชั่วคราวซึ่งถ้ายอดขายเพิ่มขึ้นตลอดไปเงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นก็เป็นลักษณะถาวร แต่ถ้ายอดขายเป็นเพียงการเพิ่มขึ้นตามช่วงบางฤดูกาลเงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นก็จะเป็นลักษณะชั่วคราว
  1. วัฏจักรและฤดูกาล (Seasonal & Cyclical)
ความต้องการในสินค้าหรือบริการอาจเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามฤดูกาลหรือตามสภาวะเศรษฐกิจเมื่อสภาวะของเศรษฐกิจตกต่ำยอดขายของธุรกิจก็จะลดลงเนื่องจากลูกค้าระมัดระวังในการซื้อสินค้าหรือบริการเมื่อยอดขายลดลงความต้องการในเงินทุนหมุนเวียนชั่วคราวย่อมลดลงด้วย แต่ถ้าเศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองก็จะเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม
  1. เทคโนโลยี (Technology)
การเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยีด้านการผลิตจะมีผลต่อจำนวนเงินทุนหมุนเวียนที่ธุรกิจต้องดำรงไว้ซึ่งถ้าธุรกิจได้ลงทุนในอุปกรณ์การผลิตเพิ่มขึ้นย่อมทำให้กำลังการผลิตเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะเพิ่มขึ้นธุรกิจจึงต้องมีวัตถุดิบให้เพียงพอกับกำลังการผลิตธุรกิจจะต้องลงทุนในสินทรัพย์หมุนเวียนถาวรในรูปของสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้น แต่ถ้าการนำเทคโนโลยีมาใช้แล้วทำให้ต้นทุนส่วนที่เป็นวัตถุดิบลดลงธุรกิจก็ต้องลดการลงทุนในสินค้าคงเหลือ
  1. นโยบายของธุรกิจ (Firm Policies)
นโยบายของธุรกิจหลายอย่างที่มีผลต่อเงินทุนหมุนเวียนประเภทถาวรและชั่วคราวเช่นการเปลี่ยนนโยบายให้สินเชื่อของธุรกิจจากเดิม n / 30 เป็น n / 60 ทำให้ลูกหนี้ส่วนที่อยู่ในเงินหมุนเวียนประเภทถาวรเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงในนโยบายการผลิตก็จะทำให้เงินทุนหมุนเวียนถาวรเกี่ยวกับสินค้าคงเหลือเปลี่ยนแปลงไปด้วยหรือเป็นกรณีที่ธุรกิจเปลี่ยนนโยบายการถือเงินสดขั้นต่ำไว้เงินทุนหมุนเวียนถาวรก็เปลี่ยนแปลงไปส่วนจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงแล้วแต่กรณี แต่ถ้าระดับเงินสดที่ถือไว้มีความสัมพันธ์กับยอดขายเงินทุนหมุนเวียนเฉพาะชั่วคราวอาจกระทบกระเทือนไปด้วย (ธนิดา จิตร์น้อมรัตน์, 2542 : ออนไลน์)
จากการศึกษางานวิจัยในอดีต พบว่า อัตราการหมุนเวียนของสินทรัพย์รวมมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับราคาหลักทรัพย์ของ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย SET100 กลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ดังนั้นควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการสินทรัพย์หมุนเวียนและหนี้สินให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อให้ได้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่านั้นจะส่งผลต่อราคาหลักทรัพย์ของบริษัทอย่างยั่งยืน (ณัฐริณี ศิวะพรประสงค์ และกัลยาภรณ์ ปานมะเริง, 2562)
         
กรณีศึกษา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
          THAI หรือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นรัฐวิสาหกิจเป็นสายการบินแห่งชาติที่ดำเนินธุรกิจกิจการการบินพาณิชย์ทั้งเส้นทางบินระหว่างประเทศและภายในประเทศโดยแยกการบริหารออกเป็นธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจสายการบิน และกลุ่มกิจการสนับสนุนการบินและการขนส่ง หลายคนคงรู้กันดีว่าการบินไทยเป็นธุรกิจที่มีผลประกอบการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมการบินไทยถึงขาดทุน (ลงทุนศาสตร์, 2561 : ออนไลน์)

ในเชิงวิเคราะห์ด้วยมุมมองนักลงทุน สรุปรวมจากการติดตามภาพรวมผลประกอบการของกิจการมาหลายปี ดังนี้
          1.การบินไทยแบกต้นทุนค่าอาคาร ที่ดิน และอุปกรณ์ไว้มากเกินไป
          จากข้อมูลเปรียบเทียบค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายรอบงวดการเงิน 6 เดือนแรกของปี 2561 พบว่าต้นทุนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของ THAI สูงกว่า AAV (ไทยแอร์เอเชีย) และ BA (บางกอกแอร์เวย์) มาก โดยอัตราส่วน % ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้รวมของ THAI สูงถึง 11.82% ในขณะที่ BA อยู่ที่ 4.68% และ AAV อยู่ที่ 3.87%        ข้อมูลตรงนี้แสดงให้เห็นว่าการบินไทยแบกสินทรัพย์ไว้มากเกินไปหรืออาจจะเป็น สินทรัพย์ที่ราคาแพงเกินไป เกินกว่าที่ตัวบริษัทเองจะสามารถนำมาสร้างมูลค่าให้คุ้มค่ากับต้นทุนได้ สังเกตว่ารายได้ที่ทำได้จากต้นทุนค่าเสื่อมราคานั้นน้อยกว่าบริษัทอื่นกว่าครึ่งเลยทีเดียว ประเด็นชี้ให้เห็นโครงสร้างสินทรัพย์ที่อาจจะยังใช้ประโยชน์ได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ความสำคัญของปัญหานี้คือ ต้นทุนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายนั้นจะอยู่กับบริษัทไปนาน เพราะอายุการใช้งานของสินทรัพย์ยาว และอาจจะกดดันงบการเงินได้นานในระดับมากกว่า 20 ปี
2.การบินไทยแบกบริษัทในเครือที่มีผลขาดทุนมาก
          บริษัทในเครือการบินไทยที่ดูจะเป็นปัญหาสำหรับการบินไทยคือ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ที่มีผลประกอบการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง และมีการเพิ่มทุนอย่างสม่ำเสมอ จนล่าสุด THAI เหลือสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ใน NOK ที่ 495,390,721 หุ้น หรือ 21.80% ซึ่ง NOK ก็ถือเป็นภาระอีกก้อนหนึ่งที่การบินไทยต้องแบกไว้ เพราะเจอเรื่องการรับรู้ขาดทุน (หรือด้อยค่าเงินลงทุน) รวมไปถึงการอาจจะโดนเพิ่มทุนในอนาคตด้วย ปัญหาอีกบริษัทที่ดูเหนื่อยไม่ต่างกัน มิหนำซ้ำอาจจะดูเหนื่อยกว่าด้วยซ้ำ คือ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ผู้ให้บริการสายการบินราคาประหยัดในเครือการบินไทย ไทยสมายล์แอร์เวย์ดูเหมือนจะเป็นความหวังใหม่ของการบินไทยในตอนต้น เพราะจะไปช่วยเจาะตลาดสายการบินราคาประหยัด แต่ผลคือ ไทยสมายล์แอร์เวย์ มีผลประกอบการขาดทุนอย่างต่อเนื่องปีละ 1,600 – 2,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นเงินขาดทุนก้อนใหญ่มากเมื่อเทียบกับการบินไทย และที่สำคัญ การบินไทยถือหุ้นในไทยสมายล์แอร์เวย์ทั้ง 100% ด้วย ทำให้ต้องรับรู้การขาดทุนเต็มๆ และต้องแบกการบริหารบริษัทนี้ไว้อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
3.การบินไทยอยู่ในธุรกิจสายการบินที่เป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง
          ถึงแม้ว่าการบินไทยจะมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจแต่ก็ไม่ได้ช่วยให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้นนัก เพราะอุตสาหกรรมสายการบิน ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงและค่อนข้างเสรีมาก บริษัทไม่ได้แข่งกับแค่สายการบินในประเทศ แต่แข่งกับสายการบินทั่วโลก สายการบินถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง เมื่อลองคิดตามหลักแรงกดดันทั้ง 5 หรือ 5 – forces model ทั้งการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่สูง การเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ที่ไม่ยาก ความสามารถในการต่อรองกับซัพพลายเออร์ต่ำ ลูกค้าก็ไม่จงรักภักดีต่อแบรนด์มากและพร้อมจะย้ายไปหาแบรนด์อื่นที่ให้ข้อเสนอที่ดีกว่า ธุรกิจสายการบินจึงเป็นธุรกิจที่สร้างผลตอบแทนต่อเงินทุนต่ำโดยธรรมชาติ อย่างการรวบรวมข้อมูลผลตอบแทนจากการลงทุน (ROIC) ของบริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1998 – 2008 ก็พบว่าอุตสาหกรรมสายการบินให้ผลตอบแทนต่ำที่สุดเลย
 
ผลการสอบของคณะทำงานตรวจสอบและตรวจสอบบัญชีย้อนหลัง 3 ปี (2560–2562)
          การขาดทุนสะสมต่อเนื่องของบริษัทการบินไทย จำกัด นำมาสู่การยื่นศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ ในขณะที่กระทรวงคมนาคมได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบสาเหตุปัญหาการขาดทุนของการบินไทย นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงการบริหารการบินไทย โดยระบุว่า ภายหลังได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลการบินไทย ได้ตรวจสอบเต็มที่เพื่อคลายข้อสงสัยของสังคมถึงการขาดทุนของการบินไทยที่เรื้อรังตั้งแต่ปี 2551 โดยตั้งคณะทำงานตรวจสอบและตรวจสอบบัญชีย้อนหลัง 3 ปี (2560–2562) ทั้งนี้ หลังได้รับข้อมูล หลักฐานและผู้มาให้ข้อมูลทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผยไม่น้อยกว่า 100 คน พบว่าสาเหตุสำคัญของการขาดทุนสะสมหลักมาจากการซื้อเครื่องบิน A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ เพราะเมื่อนำมาทำการบินก็เกิดปัญหาขาดทุนทุกเส้นตั้งแต่เที่ยวบินปฐมฤกษ์ กรุงเทพฯ-นิวยอร์ก ในเดือน ก.ค.2548 จนปลดระวางลำสุดท้ายในปี 2556 และเป็นภาระในการดูแลถึงปัจจุบัน “จุดเริ่มต้นการขาดทุนย้อนไปปี 2551 หลังจากเที่ยวบิน A340 ทำการบิน 3 ปี ซึ่งการบินไทยขาดทุนครั้งแรกในประวัติศาสตร์การตั้งบริษัทมา 60 ปี เป็นมูลค่า 21,450 ล้านบาท ต้องแก้ปัญหาด้วยการออกหุ้นกู้ครั้งแรก ซึ่งคณะทำงานฯ พบว่า ปัญหาการขาดทุนของการบินไทยไม่ต่ำกว่า 62,803 ล้านบาท มาจากการจัดซื้อเครื่องบินรุ่น A340 จำนวน 10 ลำ”
          นายถาวร กล่าวว่า ข้อมูลที่ตรวจสอบทั้งหมดจะถูกเสนอให้กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของการบินไทย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภายในวันที่ 31 ส.ค.นี้ เพื่อสอบสวนเอาผิดผู้ทุจริตตามอำนาจที่มี และจะเสนอนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจดำเนินการอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ ยืนยันว่าเอกสารที่ตรวจสอบทั้งหมดเป็นของแท้แน่จริง ได้ข้อมูลมาจากคนในการบินไทยที่เชื่อถือได้ มั่นใจว่าข้อมูลเหล่านี้จะเอาผิดได้ ดังนั้นหวังว่าเมื่อส่งมอบข้อมูลให้ผู้มีอำนาจ เช่น ป.ป.ช.จะเป็นการวัดใจว่าจะจริงจังจริงใจที่จะทำต่อหรือไม่ รวมทั้งขอฝากถึงผู้ทำแผนและบริหารแผนฟื้นฟูการบินไทย ซึ่งคาดหวังว่าการบินไทยจะเดินไปข้างหน้า แต่ต้องกวาดบ้านให้ได้เพราะเจ้าหนี้เชื่อใจแผนฟื้นฟูแล้ว “อัยการสอบเอาผิดได้เพราะสอบย้อนหลังขณะเป็นรัฐวิสาหกิจ ส่วนผู้ทำผิดที่มีส่วนทำให้บริษัทขาดทุนมีทั้งผู้บริหารที่พ้นสภาพแล้ว และมีบางส่วนอยู่ในตำแหน่งปัจจุบัน”
          พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะหัวหน้าคณะทำงาน เผยว่า การตรวจสอบครั้งนี้มีเวลาเพียง 43 วัน โดยแต่งตั้งคณะทำงานชุดย่อย 6 คณะ ประชุมแล้ว 3 ครั้ง มีผู้มาให้ข้อมูลทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผยไม่น้อยกว่า 100 คน และตรวจสอบรายงานการประชุมคณะกรรมการชุดต่างๆ ของการบินไทยย้อนหลัง 3 ปี (2560-2562)
สรุป คณะทำงานฯ ได้ตรวจสอบช่วงปี 2560-2562 ซึ่งการบินไทยขาดทุนรวม 2.56 หมื่นล้านบาท พบว่าสาเหตุที่ทำให้การบินไทยขาดทุนมี 7 สาเหตุ ดังนี้
1. ปัญหาค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสูงมาก เช่น ค่า OT ฝ่ายช่างสูงถึง 2.02 พันล้านบาท ตรวจพบพนักงาน 1 คน ทำ OT สูงสุด ได้ถึง 3,354 ชั่วโมง มีวันทำ OT ถึง 419 วัน แต่ 1 ปี มีเพียง 365 วัน
2. การจัดหาเครื่องบินรุ่น B787-800 จำนวน 6 ลำ แบบเช่าดำเนินงาน โดยแต่ละลำราคาไม่เท่ากัน มีส่วนต่างราคาต่างกันถึง 589 ล้านบาท ทั้งที่เป็นเครื่องบินแบบเดียวกัน มีการจ่ายค่าชดเชยการคืนสภาพเครื่องบินแบบเช่าดำเนินงาน รุ่น A330-300 จำนวน 2 ลำ สูงถึง 1,458 ล้านบาท
3. การตรวจพบว่าผู้รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ได้รับเงินค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษเดือนละ 2 แสนบาท ผ่านไป 9 เดือน เพิ่มเป็น 6 แสนบาท โดยอ้างแนวปฏิบัติที่เคยทำมา
4. ช่วง 3 ปี (2560–2562) สายการพาณิชย์ไม่ทำงบประมาณการณ์ แต่ใช้วิธีการกำหนดเปลี่ยนแปลงงบประมาณเอง โดยผ่านคณะกรรมการบริหารนโยบายของบริษัทเท่านั้น
5. มีการขายตั๋วโดยสารในราคาที่ต่ำมาก โดยปี 2562 มีราคาเฉลี่ยใบละ 6,081 บาทเท่านั้น แต่บริษัทฯ มี Cabin Factor เกือบ 80% และมีผู้โดยสารถึง 24.51 ล้านคน มีรายได้ค่าตั๋วโดยสาร 1.49 แสนล้านบาท
6. มีการเอื้อประโยชน์ให้ตัวแทนจำหน่ายตั๋วโดยสาร (Agent) ทั้งค่าคอมมิชชั่น ค่า Tier และค่า Incentive และกำหนดราคา Flash Sale (ราคาต่ำสุด) ทำให้ Agent เพียง 3-4 รายได้รับประโยชน์
7. ผู้บริหารในสายงานพาณิชย์ได้แต่งตั้ง โยกย้ายบุคคลใกล้ชิดให้ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายทั่วไป (AA) ในต่างประเทศ และกำหนดเป้าหมายรายได้จากการขายเพื่อให้ได้ค่า Incentive ตามที่ต้องการ เพื่อให้ AA จัดส่งรายได้ จำนวน 10% ของค่า Incentive เข้าบัญชีกองทุนของผู้บริหารสายงานพาณิชย์และนำเงินในกองทุนดังกล่าวไปจัดสรรและแบ่งปันกันเอง ซึ่งกองทุนดังกล่าวไม่มีระเบียบ ประกาศ หรือกฎหมายของบริษัทฯ รองรับ (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 2564 : ออนไลน์)
การวิเคราะห์กรณีศึกษา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
          การบินไทย กลายเป็นกระแสพูดถึงมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา หลังจากมีข่าวรัฐบาลอนุมัติเงินกู้ยืม 50,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในแผนฟื้นฟูกิจการ ท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกออกเป็น 2 ฝั่ง ถกเถียงกันว่าการให้กู้เงินในครั้งนี้นั้นจะส่งผลดีในระยะยาวหรือไม่ นำมาสู่การยื่นศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ ในขณะที่กระทรวงคมนาคมได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบสาเหตุปัญหาการขาดทุนของการบินไทย จากความเห็นของผู้ลงทุน 3 ประเด็น และความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบที่แบ่งออกมาเป็น 7 ข้อสรุปได้ตรงกันในประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาการขาดทุน คือ การกู้ยืมเงินเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ โดยสินทรัพย์เจ้าปัญหาสำคัญคือ ปัญหาการขาดทุนไม่ต่ำกว่า 62,803 ล้านบาท มาจากการจัดซื้อเครื่องบินรุ่น A340 จำนวน 10 ลำ” ที่จัดหามาเพื่อเส้นทางกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก ในเดือน ก.ค.2548 จนปลดระวางลำสุดท้ายในปี 2556 และเป็นภาระในการดูแลถึงปัจจุบัน
 
ข้อเสนอแนะ
          การบริหารเงินทุนหมุนเวียนเป็นการบริหารสินทรัพย์ที่อยู่ในกลุ่มสินทรัพย์หมุนเวียนอัน ได้แก่ เงินสดหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาด (เงินลงทุนชั่วคราว) ลูกหนี้และสินค้าคงเหลืออีกทั้งยังต้องบริหารสินทรัพย์หมุนเวียนเหล่านั้นให้สอดคล้องและมีความสมดุลกันกับหนี้สินหมุนเวียนคือต้องบริหารให้ธุรกิจมีเงินทุนหมุนเวียนอยู่ในระดับที่เหมาะสมไม่มากหรือน้อยเกินไปโดยพิจารณาระหว่างกำไรและความเสี่ยงที่คาดว่าจะได้รับซึ่งการบริหารเงินทุนหมุนเวียนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจประจำวันเป็นอย่างมากดังนั้นธุรกิจควรพิจารณาอย่างรอบคอบในการรักษาระดับของเงินทุนหมุนเวียนของธุรกิจ (อรุณรุ่ง วงศ์กังวาน, 2559 : ออนไลน์)
 
บรรณานุกรม
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. (2564, กรกฎาคม 29). เปิด 9 สาเหตุการบินไทยขาดทุน 'ถาวร' ส่ง ป.ป.ช.สอบเอาผิดทุจริต. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2564. จากเว็บไซต์ : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/895675.
ณัฐริณี ศิวะพรประสงค์ และกัลยาภรณ์ ปานมะเริง. (2562). ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราส่วนทางการเงินกับราคาหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย SET100, กลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง. ค้นคว้าอิสระ คณะบัญชี, มหาวิทยาลัยศรีปทุม.
ธนิดา จิตร์น้อมรัตน์. (2542). การจัดการการเงิน. (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.
นุชจรี พิเชฐกุล. (2561). รายงานทางการเงินและการวิเคราะห์. (พิมพ์ครั้งที่ 2). ปทุมธานี :มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี.
ปรียานุช  กิจรุ่งโรจน์เจริญ. (2563). บทความทางวิชาการ เรื่อง การบริหารเงินทุนหมุนเวียน. คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา.สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2564,สืบค้นจาก http://identity.bsru.ac.th/archives/969.
ลงทุนศาสตร์. (2561, มิถุนายน 3). ทำไมการบินไทยถึงขาดทุน ?. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2564. จากเว็บไซต์ : http://www.investerest.co/business/financial-loss-of-thai-airways/.
สถาบันพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการ SME. (2562). 4 เคล็ดลับบริหารเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ บริหารดีธุรกิจโต บริหารแย่ธุรกิจพัง. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์ : http://taokaemai.com/เงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ/.
อรุณรุ่ง วงศ์กังวาน. (2559). บทที่ 6 การจัดการเงินทุนหมุนเวียน. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์ : http://www.elfms.ssru.ac.th/arunroong_wo/file.php/1/2559-2/2/unit6.pdf.