ระบบสารสนเทศทางการบัญชีที่ดีกับคุณภาพการปฎิบัติงานด้านบัญชี
01
Nov
ระบบสารสนเทศทางการบัญชีที่ดีกับคุณภาพการปฎิบัติงานด้านบัญชี
Good Accounting Information System And
Accounting Performance Quality.
สุวิชาดา เสาสูง
SUWICHADA SAOSOONG
E-mail: tianthum0666@gmail.com
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม
บทคัดย่อ
ระบบสารสนเทศทางการบัญชี (Accounting Information System: AIS ) โดยเป็นระบบที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อแปลงหรือประมวลผลข้อมูลทางการเงิน ( Financial Data ) ให้เป็นสารสนเทศที่มีประโยชน์ในการตัดสินใจต่อผู้ใช้
ระบบสารสนเทศทางการบัญชี จะให้ความสำคัญกับการรวบรวมข้อมูลและการติดต่อสื่อสารทางการเงิน ซึ่งเป็น กระบวนการติดต่อสื่อสารมากกว่าการวัดมูลค่า โดยที่ระบบสารสนเทศทางการบัญชีจะแสดงภาพรวม จัดเก็บ จัดโครงสร้าง ประมวลข้อมูล ควบคุมความปลอดภัย และการรายงานสารสนเทศทางการบัญชี เหล่านี้จะสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพการปฎิบัติงานด้านบัญชี
ปัจจุบันการดำเนินงานและการไหลเวียนของข้อมูลทางการบัญชีมีความซับซ้อนมากขึ้น ทำให้นักบัญชีกำหนดคุณสมบัติของสารสนเทศด้านการบัญชีให้สัมพันธ์กับการดำเนินงานขององค์การ ประการสำคัญระบบสารสนเทศทางการบัญชี และระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการจะมีทั้งส่วนที่แยกออกจากกันและเกี่ยวเนื่อง สัมพันธ์กัน แต่ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร (Management Information System) หรือ MIS จะให้ความสำคัญกับการจัดการสารสนเทศสำหรับการตัดสินใจของผู้บริหารขณะที่ระบบสารสนเทศทางการบัญชี (Accounting Information System) หรือ AIS จะประมวลสารสนเทศเฉพาะสำหรับผู้ใช้งานทั้งภายในและภายนอกองค์การ เช่น นักลงทุน เจ้าหนี้ และผู้บริหาร เป็นต้น
คำสำคัญ : ระบบสารสนเทศ, ระบบสารสนเทศทางการบัญชี, คุณภาพงานบัญชี
Abstract
An accounting Information System (AIS) is a system designed to convert or process financial data (Financial Data) into information that is useful in making decisions for users.
accounting information system The focus is on the collection of financial information and communication, which is a process of communication rather than a measure of value. The accounting information system will provide an overview, store, structure, process information, control security. and accounting information reporting These will reflect the quality of accounting operations.
Today's operations and flow of accounting information are becoming increasingly complex. Make accountants determine the properties of accounting information related to the operations of the organization. Importantly, accounting information systems And management information systems are both separate and interrelated parts, but Management Information systems (MIS) focuses on managing information for executive decision-making while the management information system. The Accounting Information System (AIS) processes information specific to internal and external users such as investors, creditors, and executives, etc.
Keywords : Information system, Accounting information system, Accounting quality.
บทนำ
สารสนเทศทางการบัญชีพัฒนาขึ้นเพื่อทำหน้าที่หลักในการบันทึก ประมวลผล และจัดทำสารสนเทศทางบัญชีให้เป็นสารสนเทศที่มีประโยชน์ในการตัดสินใจต่อผู้ใช้ระบบสารสนเทศทางการบัญชีมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในการเก็บบันทึกรายการที่เกิดขึ้นของธุรกิจ ประมวลผลข้อมูลให้ได้สารสนเทศที่ดีมีคุณภาพ และมีประโยชน์ต่อการวางแผน การสั่งการและการควบคุม และควบคุมสินทรัพย์ของธุรกิจให้มั่นใจว่า ข้อมูลที่ได้มานั้นถูกต้องและเชื่อถือได้ รายการบัญชีที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของธุรกิจ ได้แก่ วงจรที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ การชำระหนี้ วงจรการผลิต วงจรเงินเดือน ค่าตอบแทนของพนักงาน การรับชำระหนี้ และการจัดหาเงิน การชำระเงินกู้ การจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น ระบบสารสนเทศทางบัญชี มีประโยชน์แก่ผู้ใช้งานในการให้ข้อมูลเพื่อการปฏิบัติงานประจำวัน เพื่อการตัดสินใจวางแผน ควบคุมให้เป็นไปตามนโยบายของบริษัทและตามที่กฎหมายกำหนด การจัดทำระบบสารสนเทศทางการบัญชี จะมีผู้ที่เกี่ยวข้องคือ ผู้จัดทำบัญชี ผู้ตรวจสอบ ผู้พัฒนาระบบ ซึ่งในอดีตการบริหารธุรกิจจะประสบความสำเร็จหรือไม่จะขึ้นอยู่กับตัวบุคคลเป็นสำคัญ กล่าวคือถ้าคนใดสามารถวางแผนการปฎิบัติงานได้ดี ควบคุมงานได้ดี ก็จะทำให้การบริหารกิจการนั้นประสบความสำเร็จได้ แต่ในปัจจุบันเมื่อธุรกิจมีการแข่งขันมากขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ได้มีการพัฒนามากขึ้น คุณภาพของการบริหารงานและความอยู่รอดขององค์กรนั้น จึงขึ้นอยู่กับระบบมากกว่าตัวบุคคล ดังนั้นการบริหารงานสมัยใหม่ จะให้ความสำคัญกับระบบบริหารจัดการด้านข้อมูล และระบบสารสนเทศมากขึ้น เพราะหากกิจการใดมีระบบสารสนเทศที่ดีกว่าก็จะทำให้สามารถใช้ข้อมูลในการตัดสินใจที่รวดเร็ว และถูกต้อง
ระบบสารสนเทศทางการบัญชีแบบเดิมเน้นการบันทึกรายการบัญชีเพื่อประโยชน์ในการจัดทำรายงานทางการเงินและแสดงผลการดำเนินงานที่ผ่านมามากกว่าการจัดเก็บข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจ และเมื่อธุรกิจมีหลากหลายระบบ เช่น ข้อมูลลูกค้าในระบบขาย หรือข้อมูลด้านผู้ขายในระบบซื้อ ข้อมูลสินค้าในระบบผลิต ทำให้องค์กรจำเป็นต้องพัฒนาระบบสารสนเทศอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อรวบรวม ประมวลผลรายการต่าง ๆ แยกต่างหากจากระบบสารสนเทศทางการบัญชี จึงอาจก่อให้เกิดปัญหาในด้านข้อมูลที่มีปริมาณมาก เกิดการซ้ำซ้อนของข้อมูล ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการยากที่จะนำข้อมูลทุกระบบมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบสารสนเทศทางการบัญชีจึงมีความจำเป็นต้องจัดเก็บข้อมูลที่เป็นรายการทางการเงินและรายการที่ไม่ใช่ทางการเงินที่มีความเกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรเข้าด้วยกัน เช่น การรวบรวมข้อมูลการปฏิบัติงานและหน้าที่งานทางการตลาด ทรัพยากรบุคคล และการผลิต เข้ากับข้อมูลทางการบัญชีและการเงิน การนำระบบสารสนเทศทางการบัญชีเข้ามาใช้ในองค์กรมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพนักงานและเป็นเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจให้กับผู้บริหารในการดำเนินธุรกิจในภาวะของเศรษฐกิจปัจจุบัน องค์กรจึงควรจัดสรรงบประมาณด้านเทคโนโลยีให้เพียง เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การดำเนินธุรกิจได้ การประมาณผลตอบแทนจากการลงทุน การคำนวณการประหยัดในค่าใช้จ่ายต่าง ๆ นอกจากนั้นยังได้รับประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ เช่นการบริการลูกค้าที่ดีขึ้น ประสิทธิภาพในการทำงานที่มีมากขึ้น ความพึงพอใจของลูกค้า และอื่นๆ อีกมากมายในหลากหลายกรณีที่สิ่งเหล่านี้ เป็นประโยชน์อย่างมากต่อองค์กรในอนาคตที่มีการแข่งขันสูง หลายๆ ธุรกิจยังให้ความสำคัญกับระบบสารสนเทศทางการบัญชีอยู่ในระดับน้อยอาจเป็นเพราะว่าในการนำระบบสารสนเทศทางการบัญชีเข้ามาปรับใช้ในระยะแรกต้องลงทุนสูงทั้งในด้านระบบที่จะนำมาใช้และผู้ใช้ระบบก็ต้องได้รับการอบรมพัฒนา ในด้านคุณภาพของระบบสารสนเทศทางการบัญชี ความสมบูรณ์ของระบบสารสนเทศทางการบัญชี ความถูกต้องและเชื่อถือได้ของข้อมูล ความถี่ในการรายงานผล การใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจ ความยืดหยุ่นในการใช้งาน เพื่อจะได้เป็นแนวทางให้ผู้บริหารควรส่งเสริม ปรับปรุงและพัฒนาความรู้ด้านระบบสารสนเทศทางการบัญชี เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงตามสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน
วัตถุประสงค์
- เพื่อศึกษาระบบสารสนเทศทางการบัญชีที่ดีกับคุณภาพการปฎิบัติงานด้านบัญชี
เนื้อหาของบทความ
ระบบสารสนเทศทางการบัญชี
สารสนเทศทางการบัญชี คือ สารสนเทศที่ได้มาจากระบบสารสนเทศทางการบัญชี คือ งบการเงินและการภาษีมูลค่าเพิ่มที่นำเสนอต่อผู้ใช้งบการเงินและกรมสรรพากร และในส่วนการบัญชีบริหาร คือ รายงานวิเคราะห์ต้นทุนต่าง ๆ รายงานงบประมาณ ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่ออกจากระบบสารสนเทศทางการบัญชีและใช้เป็นหลักฐานทางการเงิน ดังนี้
1. ช่วยให้ธุรกิจทราบกำไรที่แท้จริงขององค์การ
2. ช่วยให้ธุรกิจทราบฐานะทางการเงินของกิจการ
3. ช่วยเป็นเครื่องมือสนับสนุนการหาแหล่งเงินทุนของธุรกิจ
4. ช่วยเป็นเครื่องมือในการเสียภาษี
5. ช่วยในการวางแผนธุรกิจ
6. ช่วยในการปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจให้เจริญก้าวหน้าต่อไปได้
ระบบสารสนเทศทางการบัญชี เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นมาในกิจการ โดยมีการใช้ทรัพยากรบุคคล คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์รอบข้าง และจัดทำสารสนเทศทางการบัญชี ให้แก่ผู้ใช้ภายในและผู้ใช้ภายนอกของกิจการ ในระบบสารสนเทศทางการบัญชีนี้อาจใช้คนจัดเก็บบันทึกข้อมูล ประมวลผลและจัดทำสารสนเทศทางการบัญชีโดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์รอบข้างเป็นเครื่องมือช่วยอำนวยความสะดวก หรืออาจนำคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์รอบข้างรวมทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศอื่น
ในปัจจุบันนี้ธุรกิจส่วนใหญ่ได้นำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้าใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงานทั้งทางด้านการตลาด ด้านการเงิน ด้านการผลิต และด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์ ดังนั้นการจัดทำสารสนเทศทางการบัญชีจึงเปลี่ยนจากการจัดเก็บ การบันทึก การประมวลผลและจัดทำรายงานด้วยมือ มาเป็นการจัดเก็บ การบันทึก การประมวลผล และจัดทำรายงานด้วยคอมพิวเตอร์
ส่วนประกอบของระบบสารสนเทศทางการบัญชี
เอกสารและบันทึกทางการบัญชี ได้แก่ แบบฟอร์ม เอกสารต่าง ๆ ที่ต้องจัดเตรียมให้ทั้งผู้ใช้ภายในและภายนอก วิธีการปฏิบัติและขั้นตอนในการดำเนินกระบวนการประมวลผลรายการค้า ได้แก่ ขั้นตอนการจัดเตรียมเอกสาร การอนุมัติรายการ การจัดเตรียมรายงานการควบคุมภายใน ตามแนวคิดของ COSO และการควบคุมสารสนเทศ ได้แก่ การควบคุมทั่วไป และการควบคุมเฉพาะระบบงานบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและมีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งงาน ได้แก่ ผู้จัดการฝ่ายบัญชี นักบัญชีการเงิน ผู้ตรวจสอบภายใน ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี ผู้พัฒนาระบบงาน และผู้ตรวจสอบบัญชี โครงสร้างเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แก่ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เชื่อมต่อต่าง ๆ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ แป้นพิมพ์ เครื่องพิมพ์ โปรแกรมต่าง ๆ ที่ใช้ในการประมวลผลข้อมูล อินเตอร์เน็ต สื่อในการจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ
ประโยชน์จากสารสนเทศทางการบัญชี
1. ให้ข้อมูลเพื่อใช้ในการปฏิบัติงานประจำวันแก่ผู้บริหารระดับล่างและพนักงาน เพื่อใช้ในการประสานงาน ประเมินผลการปฏิบัติงาน ควบคุมและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในหน้าที่งานหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น รายงานการขาย รายงานสินค้าคงเหลือ รายงานเงินสดรับ-จ่ายประจำวัน
2. ให้ข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจ วางแผน และควบคุมการดำเนินงานทั้งระยะสั้น และระยะยาวแก่ผู้บริหารระดับกลางและผู้บริหารระดับสูงเพื่อนำไปใช้ประกอบกับข้อมูลที่ไม่เป็นตัวเลขทางการเงิน บริหารงานด้านการตลาด การผลิต หรือทรัพยากรบุคคล เช่น กำลังซื้อของผู้บริโภค วิเคราะห์แนวโน้มการเพิ่มขึ้นหรือลดของยอดขายสินค้า
3. ให้ข้อมูลขั้นพื้นฐานตามกฎหมายกำหนดแก่ผู้ใช้ภายนอก ประกอบด้วยตัวเลขในงบกำไรขาดทุน และงบดุล หรือถ้าเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กิจการต้องจัดทำงบกระแสเงินสดเพิ่มเติมให้ผู้ใช้ภายนอกด้วย
คุณภาพของระบบสารสนเทศทางการบัญชี
การตัดสินใจและการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ โดยเฉพาะปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสารสนเทศทางการบัญชี เนื่องจากข้อมูลทางการบัญชีเป็นแหล่งสารสนเทศสำคัญต่อผู้ใช้ในการตัดสินใจโดยเฉพาะรายงานทางการเงินที่ทำให้ทราบถึงผลการดำเนินงาน สารสนเทศทางการบัญชีที่มีคุณภาพช่วยให้การคาดการณ์อนาคตขององค์กรถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ส่งผลให้การบริหารงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ (เมธากุลเกียรติกระจาย และศิลปพร ศรีจั่นเพชร, 2547; สวิตา อ่อนละออ, 2555) ได้กล่าวว่า ลักษณะเชิงคุณภาพของรายงานทางการเงิน หมายถึง คุณสมบัติที่ทำให้ข้อมูลในงบการเงินมีประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงิน โดยคุณภาพหลักของงบการเงินประกอบด้วย ความเข้าใจได้ (Understandability) ความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ (Relevance) ความเชื่อถือได้ (Reliability) และการเปรียบเทียบกันได้ (Comparability) (วนันพรณ์ ชื่นพิบูลย์, 2552) นอกจากนั้น จากการศึกษาเพิ่มเติมปรากฏแนวทางการพิจารณาคุณภาพของระบบสารสนเทศทางการบัญชีต้องพิจารณาความถูกต้อง (Accuracy) ความสมบูรณ์ครบถ้วน(Completeness) แสดงเป็นจำนวนได้ (Quantifiability) ความทันต่อเวลา (Timeliness) (วรรณวิมล ศรีหิรัญ, 2553; ดวงฤดี ชีวานุกูล, 2556; ศศิทร ราชพิบูลย์, 2558) อีกด้วย
ระบบสารสนเทศทางการบัญชีจะแบ่งออกเป็น 2 ระบบที่สำคัญคือ
ระบบบัญชีการเงิน Financial Accounting System คือ ระบบที่ต้องจัดทำตามมาตรฐานการบัญชี เป็นระบบประมวลผลข้อมูลทางการบัญชีเริ่มตั้งแต่ การรวบรวมเอกสารขั้นต้นซึ่งเป็นเอกสารเกี่ยวกับรายการค้าที่เกิดขึ้นในแต่ละวันมาบันทึกรายการ จนถึงการออกรายงานงบการเงิน ระบบบัญชีการเงินมีวัตถุประสงค์หลักคือ นำเสนอแก่ผู้ใช้และผู้ที่สนใจซึ่งมีทั้งภายนอกและภายในองค์กร ผู้ใช้ภายนอกองค์กร เช่น นักลงทุน เจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้น ผู้ใช้ภายในองค์กร เช่น ผู้บริหาร ฝ่ายการเงิน
ระบบบัญชีบริหาร Managerial Accounting System คือ ระบบที่ไม่ได้มีรูปแบบรายงานที่ตายตัว รายงานจากระบบบัญชีบริหารมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับให้ตรงตามความต้องการของการใช้งานได้ นำเสนอข้อมูลที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน ระบบบัญชีบริหารเป็นการนำเสนอข้อมูลแก่ ผู้ใช้ภายในองค์กร เช่น ผู้บริหาร รายงานของระบบบัญชีบริหารประกอบด้วย บัญชีต้นทุน รายงานงบประมาณ เป็นต้น
หน้าที่ของระบบสารสนเทศทางการบัญชี
1. การรรวบรวมข้อมูล
2. การประมวลผลข้อมูล
3. การจัดการข้อมูล
4. การควบคุมข้อมูลและรักษาความปลอดภัยของข้อมูล
5. การจัดทำสารสนเทศ
ดังนั้นระบบสารสนเทศทางการบัญชีจึงเป็นระบบที่มีหน้าที่ประมวลผลข้อมูล และนำเสนอสารสนเทศทางการบัญชีที่มีประโยชน์ต่อผู้ใช้ และระบบสารสนเทศทางการบัญชีสามารถแบ่งออกเป็น 2 ระบบที่สำคัญ คือ ระบบบัญชีการเงิน และระบบบัญชีบริหาร
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
วัชธนพงศ์ ยอดราช (2557) ได้วิจัยเรื่อง ประสิทธิผลของระบบสารสนเทศทางการบัญชีที่มีต่อผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผลการวิจัยพบว่า ประสิทธิผลของระบบสารสนเทศทางการบัญชี ซึ่งจำแนกตามขนาดขององค์กร กลุ่มอุตสาหกรรม ระยะเวลาที่เปิดดำเนินการที่แตกต่างกัน จะมีความถี่ในการรายงานผล ความสามารถในการพยากรณ์การเสนอแนวทางการตัดสินใจ การรับข้อมูลโดยอัตโนมัติ ความยืดหยุ่นของระบบสารสนเทศทางการบัญชี การตัดสินใจของผู้บริหาร การจัดการข้อมูลทางบัญชี และความพึงพอใจของผู้ใช้ประโยชน์จากรายงานของระบบสารสนเทศทางการบัญชีส่งผลิตต่อการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้งที่เป็นตัวเงินและที่ไม่เป็นตัวเงิน ทั้งนี้เนื่องจากระบบสารสนเทศทางการบัญชีนอกจากจะช่วยให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพต่อองค์กรโดยทั่วไปแล้ว การใช้ระบบสารสนเทศทางการบัญชีที่เหมาะสมกับขนาดธุรกิจยังช่วยให้เกิดผลในเชิงบวกในธุรกิจอีกด้วย ขนาดธุรกิจยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นก็ยิ่งได้รับประโยชน์
นฤมล พรหมจักร (2557) ปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิภาพการใช้ระบบสารสนเทศทางการบัญชีเพื่อการวางแผนทรัพยากรของบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิภาพการใช้ระบบสารสนเทศทางการบัญชีเพื่อการวางแผนทรัพยากร ซึ่งพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามมีความเห็นต่อปัจจัยด้านคุณภาพของระบบสารสนเทศในระดับสูงสุด ในเรื่องการที่ระบบ ERP สามารถแสดงรูปแบบที่สามารถเปรียบเทียบกันได้ ดังนั้นหากกิจการเล็งเห็นถึงความสำคัญของปัจจัยดังกล่าว ดังนั้นผู้ศึกษาจึงมีความเห็นว่า การพัฒนาในด้านคุณภาพของระบบสารสนเทศมีความสำคัญต่อประสิทธิภาพการใช้งาน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพข้อมูลสารสนเทศที่ได้จากระบบเพื่อใช้ในการบริหารทรัพยากรขององค์ต่อไป
สรุป
ระบบสารสนเทศทางการบัญชี มีหน้าที่หลักในการ บันทึกข้อมูล ประมวลผล และจัดทำสารสนเทศด้านบัญชีให้ผู้ใช้ภายในและผู้ใช้ภายนอก กระบวนการจัดทำสารสนเทศทางบัญชี ทำด้วยมือ หรือด้วยคอมพิวเตอร์ก็ตาม ผลลัพธ์ออกมาเป็น สารสนเทศทางบัญชีที่ไม่แตกต่างกัน
ระบบสารสนเทศทางบัญชี มีประโยชน์แก่ผู้ใช้ 3 ประการ คือ
1. ให้ข้อมูลเพื่อการปฏิบัติงานประจำวัน
2. ให้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจวางแผนและควบคุม
3. ให้ข้อมูลตามกฎหมายกำหนดให้แก่ผู้ใช้ภายนอก
การจัดทำระบบสารสนเทศทางการบัญชี มีผู้ที่เกี่ยวข้องได้แก่
1. กลุ่มของผู้จัดทำบัญชี
2. กลุ่มของผู้ตรวจประเมินผล
3. กลุ่มของ ผู้พัฒนาระบบ (หมายถึงทั้งนักเทคโนโลยีสารสนเทศ และนักบัญชี)
ในอดีตการบริหารธุรกิจจะประสบความสำเร็จหรือไม่จะขึ้นอยู่กับตัวบุคคลเป็นสำคัญ กล่าวคือถ้าคนใดสามารถวางแผนได้ดี ควบคุมงานได้ดี ก็จะทำให้การบริหารกิจการนั้นสัมฤทธิ์ผลได้ แต่ในปัจจุบันเมื่อธุรกิจมีการแข่งขันมากขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ได้มีการพัฒนามากขึ้น คุณภาพของการบริหารและความอยู่รอดขององค์นั้นจึงขึ้นกับระบบมากกว่าตัวบุคคล ดังนั้นการบริหารสมัยใหม่ จะให้ความสำคัญกับระบบข้อมูล และระบบสารสนเทศมากขึ้น เพราะหากกิจการใดมีระบบสารสนเทศที่ดีกว่าก็จะทำให้สามารถให้ข้อมูลในการตัดสินใจที่รวดเร็ว ถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งจะส่งผลให้กิจการนั้นสามารถอยู่รอดได้มากกว่า
ข้อเสนอแนะ
ผู้บริหารควรส่งเสริม ปรับปรุง และพัฒนาความรู้ด้านระบบสารสนเทศทางการบัญชี เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงตามสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ในส่วนของพนักงานควรมีการศึกษาเกี่ยวกับระบบสารสนเทศทางการบัญชีที่มีรูปแบบใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อพัฒนาศักยภาพการปฏิบัติงาน และควรให้ความสำคัญกับการตรวจสอบผลการรายงานงบการเงินที่จัดทำโดยระบบสารสนเทศทางการบัญชีอย่างครบถ้วน
บรรณานุกรม
นฤมล พรหมจักร. (2557). ปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิภาพการใช้ระบบสารสนเทศทางการบัญชีเพื่อการ
วางแผนรัพยากรของบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน.
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย.
วัชธนพงศ์ ยอดราช. (2557). ประสิทธิผลของระบบสารสนเทศทางการบัญชีที่มีต่อผลการดำเนินงานของ
บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม.
https://www.myaccount-cloud.com/Article/Detail/89147. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564.
https://ais-2562.blogspot.com/p/1-accounting-information-systems-and.html. สืบค้นเมื่อวันที่
2 สิงหาคม 2564.
สวิตา อ่อนละออ. (2555). ความสัมพันธ์ระหว่างการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตรวจสอบกับ
คุณภาพข้อมูลทางการบัญชีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย.
วิทยานิพนธ์บัญชีมหาบัณฑิต: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.