การสร้างมูลค่าเพิ่มของนักวิชาชีพบัญชี
29
Oct
การสร้างมูลค่าเพิ่มของนักวิชาชีพบัญชี
CREATING ADDED VALUE OF PROFESSIONAL ACCOUNTANTS
พรทิวา ศฤงคารรัตนะ และ **ดารณี เอื้อชนะจิต
Porntiwa Saringkanrattana, and **Daranee Uachanachit
E-mail: porntiwa.sar@spumail.net
Porntiwa Saringkanrattana, and **Daranee Uachanachit
E-mail: porntiwa.sar@spumail.net
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม
บทคัดย่อ
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับทฤษฎี “Sense of Ownership” นำมาบูรณาการแนวคิดเข้ากับการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาชีพบัญชี การศึกษาครั้งนี้ใช้การทบทวนวรรณกรรม การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ พร้อมทั้งยกตัวอย่างจากประสบการณ์ทำงานจริงในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีมากกว่า 30 ปี ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากบทความนี้เพื่อจุดประกายแนวความคิดและเสนอแนวทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มของนักวิชาชีพบัญชี ให้มีคุณค่ายิ่งขึ้น สามารถช่วยเจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการในประเทศไทย ให้ได้รับทราบข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงของกิจการตนเอง ตามตัวอย่างแนวคิดการบัญชีชุดเดียวของกรมสรรพากร ซึ่งใช้เป็นตัวชี้วัดสุขภาพทางการเงิน ทราบฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของธุรกิจได้ทันต่อเวลา สามารถใช้ข้อมูลบัญชีการเงินให้เป็นประโยชน์ในการช่วยสนับสนุนการตัดสินใจของเจ้าของ การปรับเปลี่ยนทิศทางขององค์การ รวมถึงการปรับปรุงกิจการ ให้สามารถดำรงกิจการให้อยู่รอดได้อย่างต่อเนื่อง จนสามารถเจริญเติบโตได้อย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน
คำสำคัญ : มูลค่าเพิ่ม นักวิชาชีพบัญชี จิตสำนึกของความเป็นเจ้าของ
Abstract
The purpose of this article is to cultivate a body of knowledge of the theory about “Sense of Ownership” and integrate its key concept with entrepreneurship especially for the accounting profession. The study was based on literature review, analysis, synthesis and more than 30-year experiences as a professional accountant. The expected benefits of the paper are to spark a few practical ideas and introduce some effective guidelines to create much more added value for professional accountants in order that they can help business owners or entrepreneurs in Thailand learn more of the latest information about their own business from the example of a single accounting set of the Revenue Department which can be used as an indicator of financial health to indicate financial position and business performance in time. Moreover, they can use this financial accounting information to help make the decision of the owner about organizational direction change. Eventually, continuous business improvement can be able to survive , and move on directly to reach stability progress, wealth and sustainability.
Keywords: Added Value, Professional Accountant, Sense of Ownership
บทนำ
สถานการณ์ในปัจจุบันอยู่ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่มีความผันผวนสูง และสภาวะที่มีความไม่แน่นอน ซึ่งคาดการณ์ได้ยาก มีปัจจัยมากมายที่ซับซ้อนต่อการตัดสินใจ ไม่สามารถคาดเดาผลที่จะเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน (VUCA-Word) (ศศิมา สุขสว่าง, 2560) ประกอบกับอยู่ในภาวะการแพร่ระบาดของโรคร้ายที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจลดลงไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบนี้เช่นกัน ซึ่งตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561 – 2580) ทุกองค์กรจึงควรให้ความสำคัญกับสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ผู้บริหารจึงควรมุ่งเน้นการบริหารบุคลากรและทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพที่สุด เพื่อให้องค์กรผ่านพ้นวิกฤติและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลของการที่องค์กรควรมีนักวิชาชีพบัญชีที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งถือเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญ ที่ช่วยสรุปผลการดำเนินงานของธุรกิจ รวมถึงทำการวิเคราะห์และแปลความหมายข้อมูลทางการเงิน ให้เป็นสารสนเทศที่มีประโยชน์ต่อการตัดสินใจของผู้บริหาร เพื่อใช้ในการปรับปรุงการดำเนินงานขององค์กรให้ดีขึ้น และบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ ส่งผลทำให้องค์กรสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสารสนเทศทางการเงินที่ดีนั้นส่วนใหญ่ถูกจัดทำขึ้นจากนักวิชาชีพบัญชีที่มีความเชี่ยวชาญ ที่สามารถบูรณาการหลักการและทฤษฎี ด้วยการใช้ดุลยพินิจเยี่ยงวิชาชีพในการสามารถวิเคราะห์ข้อมูล ข้อเท็จจริงและสถานการณ์ ภายใต้การมีหลักฐานที่เพียงพอและเหมาะสม (สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์, 2555) เพื่อใช้ในการอธิบายและนำเสนอข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหาร โดยผ่านกระบวนการผสมผสานเชื่อมโยงองค์ความรู้เข้าด้วยกันอย่างสอดคล้องและเป็นระบบ โดยที่นักบัญชีที่มีความเชี่ยวชาญ จำเป็นจะต้องอาศัยความรอบรู้ในทุกด้าน โดยเฉพาะความรู้ทางวิชาชีพบัญชี เริ่มตั้งแต่ความรู้ด้านบัญชีการเงิน ความรู้ด้านภาษีอากรตามกฎหมาย ความรู้ด้านองค์กรและธุรกิจ ด้านเศรษฐกิจ สังคม การตลาด เศรษฐศาสตร์ ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และความรู้ที่เกี่ยวข้อง
ถึงเวลาแล้วค่ะที่นักบัญชีหรือผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีอย่างเราจะต้องลุกขึ้นมา เพื่อปฏิบัติงานเชิงรุกอย่างจริงจัง ช่วยกันมองหาแนวทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มของนักวิชาชีพบัญชีเราให้มีคุณค่ายิ่งขึ้น และให้ข้อมูลทางบัญชีการเงินที่เราสู้อุตส่าห์ใช้ความเพียรพยายามตั้งอกตั้งใจ หามรุ่ง หามค่ำ ในการจัดทำรายงานทางการเงินให้ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด และทันต่อเวลา เป็นข้อมูลที่สามารถช่วยเจ้าของธุรกิจในการตัดสินใจที่จะปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เพื่อให้สามารถนำพาองค์กรและธุรกิจให้รอดพ้นวิกฤติได้
วัตถุประสงค์
- เพื่อศึกษาองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับทฤษฎี “Sense of Ownership”
- เพื่อบูรณาการแนวคิดเข้ากับการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาชีพบัญชี
- เพื่อเสนอแนะแนวทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มของนักวิชาชีพบัญชีให้ตระหนักถึงคุณค่าของนักวิชาชีพบัญชี ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติ
สำหรับแนวทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มของนักวิชาชีพบัญชีในยุค “VUCA”(ศศิมา สุขสว่าง, 2560) นักวิชาชีพบัญชีควรจะต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มีจิตสำนึกของความเป็นเจ้าขององค์กร (Sense of Ownership) มีความสามารถในการพัฒนาวิชาชีพบัญชีและปรับบทบาทตนเองต้องเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นเพียงผู้สนับสนุนข้อมูลทางการบัญชีมาเป็นผู้นำเสนอและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อช่วยวางแผนและเป็นที่ปรึกษาที่ดีให้แก่เจ้าของธุรกิจ ในการช่วยตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ช่วยให้แนวทางในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ทันต่อสถานการณ์ ช่วยกอบกู้ธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤติ ช่วยพัฒนาองค์กรให้เจริญเติบโตก้าวหน้าได้อย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน อันจะนำมาซึ่งผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติงานการปฏิบัติงานให้สำเร็จตามจุดมุ่งหมายที่ได้กำหนดไว้ และมีการพัฒนางานอย่างต่อเนื่องสามารถนำไปสู่ความก้าวหน้าในอาชีพได้ค่าตอบแทนที่สูงขึ้นเกิดความพึงพอใจและมีความสุขในการปฏิบัติงาน (ธนพล สุขมั่นธรรม, 2562) และยังต้องพัฒนาตนเองให้ทันกับ การเปลี่ยนแปลงของโลก ในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี รวมถึงจะต้องมีคุณภาพการบริหารงานที่ดี มีความเป็นผู้นำ เป็นผู้จัดการด้านข้อมูลข่าวสาร มีความรอบรู้และเข้าใจในงานด้านอื่น ๆ ขององค์กร แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมี จริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ และให้ความสำคัญกับระบบธรรมาภิบาลเพื่อให้การบริหารงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สอดคล้องและตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปและมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ธุรกิจ รวมถึงเป็นคู่คิดกับเจ้าของธุรกิจให้ได้ และนักวิชาชีพบัญชีจะต้องตระหนักถึงความสำคัญต่อการพัฒนาวิชาชีพบัญชี โดยการเพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านมาตรฐานการบัญชีและกฎหมายภาษีอากร รวมถึงติดตามข่าวสารข้อมูลทางการเงินเพื่อให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของวิชาชีพและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น เทคโนโลยีดิจิทัลไม่สามารถเข้ามาแทนที่การทำงานของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีได้อย่างเต็มที่ เพราะความรับผิดชอบและความสามารถในการตัดสินใจ ที่ ต้องอาศัยประสบการณ์ที่เป็นหัวใจหลักของการทำงานด้านบัญชี(ชาญชัย ชัยประสิทธิ์, 2562)
แต่การที่จะเป็นนักวิชาชีพบัญชีผู้ที่สามารถช่วยเจ้าของธุรกิจ หรือผู้ประกอบธุรกิจให้ได้มีโอกาสเห็นข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงของกิจการตนเอง ตามแนวคิดการบัญชีชุดเดียวของกรมสรรพากร และหลักการบัญชีที่ถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป ซึ่งใช้เป็นตัวชี้วัดสุขภาพทางการเงิน ฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานของธุรกิจได้ทันต่อเวลา และสามารถใช้ข้อมูลทางบัญชีการเงินเป็นประโยชน์ในการช่วยสนับสนุนการตัดสินใจของเจ้าของ ในการปรับเปลี่ยนทิศทางขององค์การ และปรับปรุงกิจการ ให้กิจการสามารถดำรงอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง จนถึงสามารถพลิกฟื้นธุรกิจของกิจการให้กลับมาเจริญเติบโตก้าวหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561 – 2580) ได้ (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2561) ได้นั้นต้องเริ่มต้นจากแนวคิดของตัวนักบัญชีหรือผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีก่อน ที่จะต้องตระหนักถึงคุณค่าของตัวเองในฐานะนักวิชาชีพบัญชี ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจ สังคม เศรษฐกิจ และประเทศชาติ ซึ่งนักบัญชีหรือผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีจะต้องเปิดมุมมองทางความคิดในการพัฒนาตนเองเพื่อให้ได้ทราบถึงความต้องการของเจ้าของธุรกิจอย่างแท้จริง โดยจะต้องเริ่มต้นจากการทำงานในวิชาชีพที่เรารักและถนัดหรือชำนาญที่สุด มีความสุขกับการทำงานทุกวัน ทำงานด้วยความตั้งใจจริง ตระหนักถึงจรรยาบรรณในวิชาชีพ และธุรกิจกิจ ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ และจริงใจ มีเจตคติที่ดีต่อตนเอง ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา คู่ค้า และบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรา องค์กรของเรา สังคม ชุมชน สภาพแวดล้อม และประเทศชาติของเรา มีทัศนคติที่ดีต่อการ เสียภาษีที่ถูกต้อง รู้จักว่าสิ่งใดเป็นภาระหน้าที่ที่ต้องพึงปฏิบัติ รู้จักว่าสิ่งใดเป็นสิทธิเรียกร้องหรือสิทธิประโยชน์ที่เรา หรือกิจการของเราพึงมีพึงได้รับ พึงต้องใช้สิทธิในฐานะพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ ไม่ทำตัวเป็นภาระต่อสังคม หรือองค์กรที่เราอยู่ คิดคำนึงถึงสิ่งอื่นก่อนในการเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนั้น ล้วนเกิดมาจากจิตสำนึกการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าขององค์กร (Sense of Ownership) ว่าอาชีพของเรา กิจการของเรา องค์กรของเรา ชุมชนหรือสังคมของเรา และประเทศของเรา ซึ่งจิตสำนึกนี้ไม่ว่าจะเป็นนักบัญชีหรือผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีหรือไม่ ตลอดจนถึงทุกคนที่อยู่ในองค์กร บางคนก็มีอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว บางคนก็ต้องถูกสภาพแวดล้อมหล่อหลอมหรือฝึกอบรมสั่งสมมา ถึงจะมีหรือเกิดขึ้นได้ เราลองคิดดูว่าถ้าทุกคนในบ้านเราที่เราใช้ชีวิตอยู่ ในองค์กรของเราที่เป็นแหล่งทำมาหากินหรือประกอบอาชีพอยู่ ถ้าทุกคนมีจิตสำนึกการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าขององค์กร (Sense of Ownership) บ้านนั้น องค์กรนั้น จะเจริญเติบก้าวหน้า มั่นคง มั่งคั่ง เพียงใด และสิ่งดี ๆ เหล่านี้ที่เราทำ เราสร้าง และเราร่วมกันพัฒนาขึ้น ก็จะส่งผลให้ตัวเราได้มีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ ก้าวสู่ตำแหน่งงานที่สูงยิ่งขึ้น จนสามารถเติบโตเป็นเจ้าของธุรกิจเองได้ในอนาคตอย่างแน่นอน (ศึกษาเพิ่มเติมได้ในหัวข้อทฤษฎี)
ดังนั้นเมื่อเรามีมุมมองแนวความคิดและจิตสำนึกการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าขององค์กร (Sense of Ownership) สิ่งเหล่านี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้แบบไม่จบไม่สิ้น ไม่หยุดคิด ไม่หยุดพัฒนา และมักจะมีมุมมองใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา องค์กรของเรา กิจการของเรา ตัวเราสามารถทำสิ่งใดให้ดีขึ้นอีกได้บ้าง และเริ่มหันกลับมาพิจารณาข้อมูลที่เรามีอยู่ ทีมงานหรือบุคลากรที่เรามีอยู่ และทรัพยากรที่เรามีอยู่ทั้งหมด ทำอย่างไรเราจะใช้ประโยชน์หรือทรัพยากรต่าง ๆ เหล่านี้ที่เรามีอยู่ให้ดีและมีประสิทธิภาพที่สุดเพื่อเป็นการประหยัดต้นทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายขององค์กร และมุ่งเน้นมองหากลยุทธ์ใหม่ ๆ ตลอดเวลา เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับกิจการหรือองค์กรของเรา และเนื่องจากเราเป็นผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี เราก็ไม่ลืมที่จะเริ่มใช้ข้อมูลทางบัญชีการเงินชองกิจการที่มีอยู่ หรือรายงานทางบัญชีการเงินที่เราพากเพียรจัดทำขึ้นด้วยความตั้งอกตั้งใจ พร้อมด้วยองค์ความรู้ทางด้านบัญชีการเงิน มาตรฐานการบัญชี กฎหมายภาษีอากรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ประกอบด้วยความรู้ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรและธุรกิจ และวิชาอื่น ๆ ที่ร่ำเรียนมา เรียกได้ว่าหยิบจับ ค้นคว้า วิชาการ ดั่งคำว่า “อันความรู้วิชาคืออาวุธ ใช้ประยุทธประหารงานทั้งหลาย เร่งศึกษาอาวุธนี้ไว้คู่กาย มีมากมายพึงลองครอบครองกัน อย่าหยุดอ่านหยุดเขียนหยุดเรียนรู้ อย่าหยุดดูหยุดฟังหยุดสร้างสรรค์ อย่าหยุดอยู่ในกรอบคงไม่ทัน คล้ายกบนั่นรู้อะไรในกะลา” (อาทิตย์สีดำ, 2011) และอาวุธที่ร่ำเรียนมาได้แก่ การบริหารการเงิน การวิเคราะห์รายงานทางการเงิน การประเมินค่าธุรกิจ การจัดการต้นทุนเชิงกลยุทธ์ การควบคุมภายใน และการวางแผนภาษีอากร เป็นต้น
สรุป ต้องการสื่อสารว่าจากข้อมูลและรายงานทางการเงินที่เรามีและจัดทำขึ้น เราจะไม่หยุดอยู่แค่ที่การยื่นแบบนำส่งภาษี หรือการปิดงบการเงินเพื่อนำส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแค่นั้น แต่เราจะพยามใช้ประโยชน์จากรายงานทางการเงินเพื่อเป็นสะท้อนภาพฐานะทางการเงินที่แท้จริง และผลการดำเนินงานเปรียบเทียบทั้งตามช่วงเวลาของกิจการเอง และเปรียบเทียบกับกิจการอื่นที่ทำธุรกิจประเภทเดียวกับเรา เพื่อมองให้เห็นถึงผลการดำเนินงานในอดีตว่ามีสิ่งใดที่เราต้องนำมาเร่งปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นบ้าง รวมถึงวิเคราะห์สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น สภาพคล่องทางการเงินของธุรกิจ กระแสเงินสดที่มีหมุนเวียนในกิจการอยู่ และข้อมูลเรามีสามารถช่วยพยากรณ์อนาคตของธุรกิจได้ไหมว่าจะดำเนินไปในทิศทางใด และจะเป็นอย่างไรในอนาคต เราจะให้ความสนใจในทุกข้อมูลของกิจการเยี่ยงเจ้าของธุรกิจ เราจะสนใจในข้อได้เปรียบและเสียเปรียบในฐานะการเงินของกิจการ การสร้างรายได้ของกิจการ ความสามารถในการเจริญเติบโตของกิจการ ดังนั้นเราจึงนำเอาทุกอาวุธ ทุกเครื่อง ทุกวิชาที่ร่ำเรียนมา ทำการวิเคราะห์ธุรกิจเชิงลึกทั้งทางบัญชี ทางการเงิน และคิดนอกกรอบไปถึงมุมมองทางการตลาด ตลอดจนถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ดำรงอยู่ เราจะคำนึงถึงลูกค้า คู่ค้า ลูกน้อง ทีมงานและครอบครัวของทุกคนให้อยู่ดีมีสุข มีสุขภาพดี และมีความสุข
ในยุคของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินกิจการ และมีอิทธิพลต่อความต้องการ ของลูกค้า ทำให้การจัดทำรายงานทางการเงินเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ มีการนำเสนอแนวคิดและหลักการใหม่ ๆ ทางธุรกิจที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ด้วยมุมมองที่มีความเที่ยงธรรมมากขึ้น จึงทำให้มีพัฒนาการ ทางการบัญชีที่เปลี่ยนแปลงไป ยิ่งไปกว่านั้น ยิ่งส่งผลทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องเร่งพัฒนาความรู้ ความสามารถของตนเองให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้นด้วยซึ่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องนี้ก็ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของนักบัญชี และการที่จะสะท้อนภาพผลการดำเนินงานที่แท้จริงของธุรกิจ ที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นนี้ ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องเร่งหาความรู้ในการทำความเข้าใจ และติดตามมาตรฐานทางการบัญชี ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลด้วย ซึ่งแนวทางการพัฒนาวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีในปัจจุบัน (ณฐา ธรเจริญ, 2561) อาจจะมีพัฒนาวิชาชีพในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น การฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้น การศึกษาดูงานนอกสถานที่ เป็นต้น
ทฤษฎี
ทฤษฎีเกี่ยวการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ ( Sense of Ownership Theory )
“Sense of Ownership” หรือ “ความรู้สึกเป็นเจ้าของ” ของพนักงานในองค์กร Employee’s sense of ownership has positive and significant influence on employee’s work performance. - Hassan Jafri ( RJOAS, 5(89), May 2019 ) จากที่กล่าวในบทนำข้างต้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวการณ์ VUCA World และภาวะการแพร่กระจายของโรคร้ายถือเป็นภาวะที่ท้าทายต่อนักวิชาชีพบัญชีและเจ้าของธุรกิจยิ่งนัก ในช่วงวิกฤตนี้มีเหตุผลใดที่บางองค์กรต้องแยกย้ายและปิดตัวลง และมีเหตุผลใดบ้างที่บางองค์กรถึงได้ฟันฝ่าก้าวข้ามอุปสรรคต่าง ๆ และทำให้องค์กรรอดพ้นวิกฤติได้ ถึงแม้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจที่ทำอยู่ โดยการพยายามหาทุกหนทางให้ทุกคนในองค์กร สามารถอยู่รอดไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างทาง ทำให้ได้แนวคิดว่าในช่วงเวลานี้ “Sense of Ownership” น่าจะมีบทบาทสำคัญในการปรับเปลี่ยนและพลิกฟื้นสถานการณ์ทางธุรกิจในช่วงนี้เป็นอย่างมากที่สุด
“Sense of Ownership” บทบาทของนักบัญชี จึงเป็นมากกว่าความรับผิดชอบในหน้าที่ แต่เป็นความคิดหรือความรู้สึกของพนักงาน ที่ต้องการเห็นองค์กรของพวกเขาทำงานรอดพ้นจากภาวะวิกฤติและประสบผลสำเร็จในเป้าหมายทางธุรกิจ ลองคิดดูว่าถ้าพนักงานทุกคนในองค์กรมีความคิดประหนึ่งว่าตัวเองเป็น “เจ้าของกิจการ” จะส่งผลถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของพนักงาน และเป็นพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อผลลัพธ์ขององค์กรได้อย่างแน่นอน ในช่วง ปี 2563 ที่ผ่านมาอาจจะเป็นบททดสอบให้เห็นถึงระดับของ “Sense of ownership” ของพนักงานในองค์กรได้ดีเลยทีเดียว ซึ่งเราอาจจะพบว่าพนักงานบางคนเป็นห่วงองค์กรธุรกิจที่ทำงานอย่างมาก แต่บางคนกลับทำเหมือนทองไม่รู้ร้อน ให้เงินแค่ไหน ก็ทำงานแค่นั้น ห่วงแต่สิทธิประโยชน์ของตนเอง โดยไม่ได้คำนึงถึงเลยว่าหากองค์กรอยู่ไม่ได้นั้นหมายความว่าทุกคนในองค์กรก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน และเมื่อตกงานก็ไม่ใช่เพียงแค่ตัวเราเท่านั้นที่เดือดร้อน แต่ความเดือดร้อนนี้จะไปสู่ทุกคนในองค์กรและครอบครัวด้วย
การสร้างจิตสำนึกความเป็นเจ้าของ (Sense of Ownership) ในตัวพนักงานไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อพนักงานแสดงถึงความจงรักภักดีความผูกพัน และการอุทิศตนต่อบทบาทของงานอย่างสุดความสามารถ สอดคล้องกับงานวิจัยของ องค์กรจะได้รับประโยชน์จากรายได้ที่เพิ่มขึ้น ในยุคที่ธุรกิจมีการแข่งขันสูงมาก พนักงานจะโฟกัสแค่ Give and Take เท่านั้น แต่ถ้านายจ้างสามารถทำให้พนักงานมีความรู้สึกความเป็นเจ้าของในตัวสูงขึ้นด้วย จะเป็นแรงผลักดันที่ดีที่ทำให้ธุรกิจก้าวหน้าไปได้ไกลกว่าอย่างแน่นอนซึ่งสอดคล้องกับภณิตา ตันทักษิณานุกิจ.(2559)
Sense of Ownership สามารถสังเกตง่าย ๆ จากพฤติกรรมของพนักงาน ดังต่อไปนี้
(1) สนใจเกี่ยวกับประวัติความเป็นมานโยบายและแนวคิดขององค์กร
(2) สนใจในงานด้านอื่น ๆ ขององค์กร นอกเหนือจากงานในหน้าที่ที่ตนเองรับผิดชอบ
(3) สนใจเกี่ยวกับเป้าหมายขององค์กรและตัวชี้วัดผลสำเร็จในงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมาย
(4) สามารถการจัดการตนเองเพื่อให้ทำงานให้สำเร็จและได้ผลลัพธ์ในหน้าที่รับผิดชอบ
(5) มีความต้องการที่จะศึกษาเรียนรู้เทคนิคเพื่อทำงานให้ง่ายขึ้นและดีขึ้น
(6) เปิดรับคำติชม หรือความคิดใหม่ ๆ และใช้ในการแก้ไขปรับปรุงและพัฒนาการทำงาน
(7) ปรับปรุงกระบวนการและวิธีการทำงาน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ให้ดีขึ้น
(8) นำเสนอความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงและพัฒนาองค์กรโดยส่วนรวม
(9) ไม่ลังเลที่จะช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหานอกเหนือความรับผิดชอบ
(10) ไม่ย่อท้อเมื่อเกิดความผิดพลาดหรืออุปสรรค
(11) กระตือรือร้นเพื่อสิ่งที่ดีกว่า
“Sense of ownership” อาจไม่เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นกันมาได้ง่าย แต่สิ่งที่เราควรปลูกฝังจิตใต้สำนึกที่ดีให้กับพนักงาน คือ ความรู้สึกว่าเป็นของตนเอง “Sense of ownership” และหล่อหลอมให้จนเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมองค์กรที่ดีของเราและไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตามแต่ ถ้าเราใส่ความรู้สึกว่าเป็นของตนเองเข้าไป เมื่อเรามีความรู้สึกนึกคิดหรือจิตสำนึกของความเป็นเจ้าของแล้ว เราจะพยายามทุกอย่างที่หาทางแก้ไขและพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราจะทำทุกงานให้ได้ดีกว่าเดิม และเราจะทุ่มเทความตั้งใจทำให้ดีที่สุด Sense of Ownership ไม่ได้มาจากทัศนคติที่แตกต่างกันของพนักงานเท่านั้น แต่องค์กรก็สามารถส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่สามารถช่วยสร้างความคิดการเป็นเจ้าของ (Sense of ownership) และทำให้เกิดพฤติกรรมที่แสดงถึง Sense of Ownership ได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้
1) Allow employees to speak up ผู้บริหารควรส่งเสริมให้พนักงานได้แบ่งปันความคิดเห็น ความคิด และแนวทางแก้ปัญหา ต่อปัญหาที่เกิดขึ้นรายวันภายในองค์กร เปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการอภิปรายจะทำให้พนักงานมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของต่อองค์กรของตน และการฝึกฝนให้พนักงานแก้ปัญหาด้วยตนเองยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่พนักงานเพิ่มขึ้นอีกด้วย
2) Allow for mistake ไม่มีใคร ไม่เคยทำผิดพลาด แต่เราควรเรียนรู้จากบทเรียนของความผิดพลาดนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผิดพลาดในเรื่องเดิมซ้ำอีก เมื่อพนักงานทำผิดพลาด ผู้บริหารควรเข้าไปชี้แนะ และให้โอกาสพนักงานฝึกคิดหาเหตุผลของความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และฝึกหาแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขที่ต้นเหตุหรือสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา และนำมาพัฒนาปรับปรุงโดยเริ่มที่ตนเอง โดยมอบหมายภาระหน้าที่ให้กับพนักงานรับผิดชอบและให้เรียนรู้ที่จะทำผิดได้ แต่ต้องเป็นงานที่ไม่ส่งผลกระทบกับธุรกิจ เปิดโอกาสให้เขาได้ฝึกคิดหาแนวทางแก้ไข และได้ทดลองตามแนวคิดของเขาด้วย
3) Illustrate benefits beyond money แสดงผลประโยชน์ที่นอกเหนือจากเงิน การให้ผลประโยชน์ให้รูปของเงินเป็นผลประโยชน์ระยะสั้น เช่น เงินเดือน โอที และอื่น ๆ อย่างไรก็ตามผู้บริหารควรอนุญาตให้พนักงานหาผลประโยชน์ระยะยาวร่วมด้วย เช่น โอกาสในการพัฒนาตนเองได้รับความรู้และประสบการณ์ในกิจกรรมที่สำคัญ ตลอดจนฝึกฝนทักษะความชำนาญในด้านอื่นเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง
4) Clarify where things are headed ชัดเจนในสิ่งที่เรากำลังจะทำ ความซื่อสัตย์สุจริตความโปร่งใสและตรวจสอบได้เป็นสิ่งที่สำคัญที่ต้องรักษา และให้ความสำคัญอย่างมากกับพนักงาน เพื่อให้เขาเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของต่อบทบาทหน้าที่ที่เขารับผิดชอบอยู่ ตลอดจนมีความรู้สึกว่าตัวพนักงานก็เป็นเจ้าขององค์กรด้วย ผู้บริหารควรพูดคุยกับพนักงานอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับสถานะการณ์ของธุรกิจทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ให้กับทุกคนได้ทราบข้อเท็จจริง และสถานการณ์จริง เพื่อให้พวกเขามีความตระหนักอยู่เสมอว่าเรากำลังจะเผชิญอะไรในอนาคต เมื่อทุกคนมีความตระหนักร่วมกันแล้ว ทุกคนจะเริ่มรู้สึกว่าเราจะไม่มีวันปล่อยให้สิ่งที่เราเป็นเจ้าของล่มสลายหายไปอย่างแน่นอน
5) Show respect แสดงความเคารพ ผู้บริหารควรต้องสร้างความยุติธรรมและความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นภายในองค์กรให้ได้ ไม่ว่าพนักงานคนนั้นจะตำแหน่งอะไรก็ตาม ทุกคนควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ก็จะทำให้พนักงานยิ่งรู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของบทบาทหน้าที่นั้น ๆ อย่างเต็มที่
บทวิเคราะห์
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นวิเคราะห์เห็นได้ว่าแนวทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มของนักวิชาชีพบัญชี ต้องเริ่มต้นจากตระหนักถึงคุณค่าของตนเองในฐานะนักวิชาชีพบัญชี ที่มีความสำคัญต่อองค์กรและการพัฒนาธุรกิจ สังคม เศรษฐกิจ และประเทศชาติ ดังนั้นนักวิชาชีพบัญชีควรเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนัก เกี่ยวกับแนวคิดการสร้างจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าขององค์กร เป็นการจุดประกายความคิดในการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ในการสร้างจิตสำนึกการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าขององค์กร (Sense of Ownership) เพราะจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้นักวิชาชีพบัญชีได้ทราบถึงความต้องการของเจ้าของธุรกิจ รวมทั้งบูรณาการเชื่อมโยงหลักการและทฤษฎีที่ศึกษามาทั้งหมด นำมาคิดวิเคราะห์เชิงลึกโดยการใช้ดุลยพินิจเยี่ยงวิชาชีพในการอธิบายและนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง และเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของผู้บริหารได้ ซึ่งการเปิดมุมมองทางความคิดในการพัฒนาตนเองถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของนักวิชาชีพบัญชีเพื่อให้ก้าวสู่ตำแหน่งงานที่สูงยิ่งขึ้น จนสามารถเติบโตเป็นเจ้าของและสามารถบริหารธุรกิจตนเองให้ประสบความสำเร็จได้ซึ่งสอดคล้องกับภณิตา ตันทักษิณานุกิจ.(2559)
ประเด็นสำคัญ
งานของนักวิชาชีพบัญชีจึงเปลี่ยนแปลงไปในแนวของการนำเสนอข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ถูกต้อง รวดเร็ว ทันเหตุการณ์และเพียงพอในการตัดสินใจดำเนินการและวางกลยุทธ์ใด ๆ เพื่อการแข่งขันในตลาด ในองค์กรที่ประสบความสำเร็จมักมีผู้บริหารระดับสูงก้าวขึ้นมาจากบริหารทางบัญชีสาเหตุมาจากผู้บริหารระดับสูงในปัจจุบันมองหานักบัญชีที่รอบรู้มาเป็นคู่คิดทางการค้า (Business Partner) เพื่อบริหารองค์กรให้เจริญก้าวหน้า เพราะว่านักบัญชีนอกจากจะเป็นแหล่งข้อมูลแล้ว ยังมีคุณสมบัติการมองภาพเชิงวิเคราะห์ (Analytical Mind) อีกด้วย (สุเวทย์ ธีรวชิรกุล, 2555)
ข้อดีหรือประโยชน์
- ประโยชน์เชิงวิชาการ
- เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการศึกษาแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มของนักวิชาชีพบัญชี
- ประโยชน์ของการนำไปใช้
- เพื่อจุดประกายแนวคิดและเสนอแนวทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มของนักวิชาชีพบัญชี ให้มีคุณค่ายิ่งขึ้น สามารถช่วยเจ้าของธุรกิจให้ได้รับทราบข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงของกิจการ
- ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่เป็นผู้เริ่มต้นสามารถนำไปเป็นแนวทางในการศึกษาพัฒนาตนเองให้สามารถก้าวหน้าในวิชาชีพยิ่งขึ้น และ
- สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในระดับบริหารแล้วสามารถนำแนวคิด Sense of Ownership ไปใช้ในการบริหารองค์กรได้
ข้อเสนอแนะ
สำหรับนักวิชาชีพบัญชีที่มุ่งหวังจะเติบโตเป็น CFO หรือผู้บริหารธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในอนาคตจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มีความสามารถในการพัฒนาและปรับบทบาทให้ทันกับ การเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี มีคุณภาพการบริหารงานที่ดี และมีจิตสำนึกความเป็นเจ้าของ (Sense of Ownership) มีความเป็นผู้นำ เป็นผู้จัดการด้านข้อมูลข่าวสาร มีความรอบรู้และเข้าใจในงานด้านอื่น ๆ ขององค์กร แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมี จริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ และให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance) เพื่อให้การบริหารงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องและตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงได้
บรรณานุกรม
ภณิตา ตันทักษิณานุกิจ.(2559). ความรู้สึกเป็นเจ้าของของพนักงานในธุรกิจค้าปลีก กรณีศึกษา
ห้างสรรพสินค้าเสริมไทยคอมเพล็กซ์. หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต คณะพาณิชยศาสตร์และ
การบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศศิมา สุขสว่าง. (2560). VUCA World ความท้าทายสำหรับผู้นำยุคใหม่ โดย ศศิมา สุขสว่าง สืบค้นเมื่อ
วันที่ 5 ส.ค. 2564 จากเว็บไซต์ https://www.sasimasuk.com/16768188/vuca-world/
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2561). เอกสารประกอบการบรรยายเรื่อง
“แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561 – 2580)” สืบค้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564 จากเว็บไชต์
http://nscr.nesdc.go.th/
Hassan Jafri, nuchainukool.(2017) Content of Employee’s sense of ownership has positive and significant influence on employee’s work performance. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564