การวางแผนภาษีอากรที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานของธุรกิจเอกชน
29
Oct
การวางแผนภาษีอากรที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานของธุรกิจเอกชน
TAX PLANNING THAT AFFECTS ON
OPERATIONAL EFFICIENCY OF PRIVATE COMPANY
วนิดา เจริญแก้ว
Wanida Charoenkaew
pocky1012@gmail.com
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้ เพื่อศึกษาการวางแผนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานของภาคธุรกิจเอกชน และเพื่อศึกษาผลกระทบของการวางแผนภาษีอากรที่มีต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานของภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งจากการทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่า การวางแผนภาษีอากรด้านการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุดและด้านการมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและสมเหตุผล มีผลกระทบเชิงบวกกับประสิทธิภาพการดำเนินงาน และความรอบรู้ในการวางแผนภาษีอากรส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานขององค์กร
คำสำคัญ : การวางแผนภาษี, ประสิทธิภาพการดำเนินงาน, ธุรกิจเอกชน
Abstract
The objectives of this study were to study corporate income tax planning affecting the efficiency of the private business and to study the effect of tax planning on the efficiency of the private business. From the literature review and related research, it was found that tax planning in terms of receiving the highest tax benefits and having clear and reasonable criteria. have a positive impact on operational efficiency and knowledge of tax planning affects the efficiency of the organization's operations.
Keywords : Tax Planning, Operational Efficiency, Private Company,
บทนำ
ภาษี คือ เงินหรือทรัพย์สินที่รัฐหรือสถาบันที่ปฏิบัติหน้าที่เทียบเท่ารัฐเรียกเก็บจากราษฎร ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เพื่อนำมาใช้ในการบริหารประเทศให้เจริญก้าวหน้าทั้งทางเศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข การคมนาคม การประชาสงเคราะห์ การป้องกันประเทศและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ สร้างสาธารณูปโภค รวมไปถึงเงินเดือนของข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ผู้ทำหน้าที่บริการประชาชน และใช้จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ของสถานราชการต่างๆ เรียกได้ว่าการเรียกเก็บภาษีจากราษฎร เป็นเครื่องมือทางการคลังที่สำคัญในการบริหารประเทศ เพื่อให้รัฐสามารถดำเนินการตามหน้าที่ที่มีต่อประชาชน ในการดูแลความผาสุกของประชาชน และ รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองภาษี แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ภาษีทางตรง และภาษีทางอ้อม
ภาษีทางตรง คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากรายได้และทรัพย์สินต่างๆของบุคคล หรือนิติบุคคล โดยส่วนใหญ่จะไม่สามารถผลักภาระภาษีไปยังผู้อื่นได้ โดยทั่วไปภาษีทางตรงได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีป้าย ภาษีโรงเรือน ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สินต่างๆ โดยจะเรียกเก็บจากรายได้ หรือความมั่งคั่งของบุคคล หรือนิติบุคคลที่จัดเก็บ
ภาษีทางอ้อม คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากผู้บริโภค เมื่อขายสินค้าและบริการต่างๆ โดยเป็นภาษีที่สามารภผลักภาระทางภาษีทั้งหมด หรือบางส่วนไปยังผู้ซื้อหรือผู้บริโภค เป็นผู้รับชำระภาษีอากรแทนผู้ขาย โดยทั่วไปภาษีทางอ้อม ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพามิตร ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีศุลกากร ภาษีทางการค้า ค่าธรรมเนียมอากรต่างๆ ที่จะเรียกเก็บจากรายจ่ายของบุคคล โดยมิได้พิจารณาฐานะความมั่งคั่งของบุคคล หรือนิติบุคคล นั้น
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ และหมายความรวมถึงนิติบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ด้วย ดังนี้
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล มีดังนี้
(1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ได้แก่
ก. บริษัท จำกัด
ข. บริษัทมหาชน จำกัด
ค. ห้างหุ้นส่วนจำกัด
ง. ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน
(2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ก็ต่อเมื่อเข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ก. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศนั้น เข้ามากระทำกิจการในประเทศไทย
(มาตรา 66 วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร)
ข. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศนั้น กระทำกิจการในที่อื่นๆ รวมทั้งใน
ประเทศไทย (มาตรา 66 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร)
ค. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศนั้น กระทำกิจการอื่นๆรวมทั้งในประเทศ
ไทยและกิจการที่กระทำนั้นเป็นกิจการขนส่งระหว่างประเทศ (มาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร)
ง. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศนั้น มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่
ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย (มาตรา 70)
จ. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย
ตามมาตรา 76 วรรคสอง และมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ได้จำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นที่กันไว้จากกำไร หรือถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย (มาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร)
ฉ. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศนั้น มิได้เข้ามาทำกิจการในประเทศไทย
โดยตรง หากแต่มีลูกจ้างหรือผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อ ในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย (มาตรา 76 ทวิ)
(3) กิจการซึ่งดำเนินการเป็นทางค้า หรือหากำไร โดย
ก. รัฐบาลต่างประเทศ
ข. องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ
ค. นิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ
(4) กิจการร่วมค้า (Joint Venture) ได้แก่ กิจการที่ดำเนินการร่วมกันเป็นทางค้าหรือหากำไร ระหว่างบุคคลดังต่อไปนี้คือ
ก. บริษัทกับบริษัท
ข. บริษัทกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
ค. ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
ง. บริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดา
จ. บริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
ฉ. บริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนสามัญ
ช. บริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับนิติบุคคลอื่น
(5) มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล
(6) นิติบุคคลที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร (เว็บไซด์ กรมสรรพากร: ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล)
ผู้ประกอบการพึงต้องระลึกอยู่เสมอว่า “ภาษีอากร” เป็นภาระผูกพันหรือปัญหาทางด้านรายจ่ายที่เกิดขึ้นควบคู่กันไปกับการดำเนินธุรกิจ เช่นเดียวกับรายจ่ายหรือต้นทุนทางธุรกิจกอื่น ๆ โดยทั่วไป และเป็นปัญหาหรือภาระผูกพันที่ไม่อาจเลื่อน หรือผัดผ่อนเวลาออกไปได้ เพราะภาษีอากรเป็น “หนี้ที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย” ซึ่งผู้เสียภาษีพึงต้องชำระตามกำหนดเวลาโดยไม่อาจบิดพลิ้ว การเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีอากรในทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับองค์กร เป็นหน้าที่โดยตรงของผู้บริหารที่ต้องกระทำเป็นอันดับแรก ๆ เช่นเดียวกับการวางแผนโดยทั่วไป เช่นต้องรู้องค์ประกอบของกฎหมายภาษีอากรแต่ละประเภทที่ต้องเสีย การประกอบธุรกิจแต่ละประเภทย่อมมีลักษณะการดำเนินธุรกิจและมีการวางแผนภาษีแตกต่างกันออกไป เนื่องมาจากหลายปัจจัย อาทิเช่น ข้อกำหนดกฎหมายของแต่ละอุตสาหกรรม รูปแบการดำเนินธุรกิจ นโยบายสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ทางภาครัฐได้ออกมาตรการมาสนับสนุนการประกอบกิจการ หรือประสบการณ์ความเชี่ยวชาญของผู้บริหารเป็นต้น (รัตน์ฐาภัทร วุฒิมหานนท์, 2562)
การวางแผนภาษีอากร (Tax Planning) คือ การกำหนดแนวทางการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพื่อการปฏิบัติในอนาคตเกี่ยวกับรายการทางการเงิน (Financial Transactions) อาทิ รายการรายได้ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และจำนวนกำไรหรือขาดทน ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางภาษีอากรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในอันที่จะป้องกันมิให้เกิดปัญหาภาษีอากรไม่ว่าประการใด ๆ โดยมุ่งหมายให้การเสียภาษีอากรและการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรขององค์กรเป็นไปโดยถูกต้อง และครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายภาษีอากรกำหนดไว้ และเป็นผลให้จำนวนภาษีอากรที่ต้องเสียนนั้น เป็นจำนวนน้อยที่สุด หรือประหยัดที่สุด รวมทั้งใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอการสูงสุด ทั้งนี้ โดยไม่อาศัยการทุจริตหลีกเลี่ยงภาษีอากร (สุเทพ พงษ์พิทักษ์, 2547) อย่างไรก็ตาม ในการวางแผนภาษีให้เกิดประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องอาศัยบุคลากรจากทุกฝ่ายในองค์กรร่วมมือกัน ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนส่งเสริมให้ผู้วางแผนภาษีสามารถดำเนินการวางแผนภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายบริหาร (Managerial Support) อย่างมาก โดยการจัดเตรียมทรัพยากรต่าง ๆ ที่จำเป็นแลเอื้ออำนวนให้บุคลากรสามารถทงานในองค์กรได้อย่างราบรื่น และเกิดประสิทธิภาพในการทำงานในที่สุด โดยเฉพาะในการวางแผนภาษีขององค์กรนั้น ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญของภาษีอากรและระบบบัญชี เพื่อให้การจัดทำบัญชีเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี และสอดคล้องกับกฎหมายภาษีอากร ลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น เช่น การลดเบี้ยปรับเงินเพิ่ม (วราพร เปรมพาณิชย์นุกูล, 2561)
จากที่กล่าวมาข้างต้น การวางแผนภาษีอากรจึงเป็นการกำหนดแนวทางการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพื่อการปฏิบัติในอนาคตเกี่ยวกับรายงานทางการเงิน อาทิ รายการรายได้ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และจำนวนกำไรหรือขาดทุน ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางภาษีอากรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในการที่จะป้องกันมิให้เกิดปัญหาภาษีอากรไม่ว่าประการใดๆ โดยมุ่งหมายให้การเสียภาษีอากรและการปฏิบัติการเกี่ยกับการภาษีอากรขององค์กรเป็นไปโดยถูกต้อง และครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กฎหมายภาษีอากรกำหนดไว้ และเป็นผลให้จำนวนภาษีอากรที่ต้องเสียนั้น เป็นจำนวนน้อยที่สุดหรือประหยัดที่สุด รวมทั้งใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรสูงสุด ทั้งนี้โดยไม่อาศัยการทุจริตหลีกเลี่ยงภาษีอากร
วัตถุประสงค์
- เพื่อศึกษาการวางแผนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานของธุรกิจเอกชน
- เพื่อศึกษาผลกระทบของการวางแผนภาษีอากรที่มีต่อประสิทธิภาพต่อการดำเนินงานของธุรกิจเอกชน
แนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
แนวคิดการวางแผนภาษี (Tax Planning)
การวางแผนภาษีอากร โดยอาศัยความรู้ความชำนาญในประเด็นข้อกฎหมายภาษีอากร และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอาจมีความยุ่งยาก หรือสลับซับซ้อนมากน้อยแตกต่างกันไป ตามสภาพหรือข้อเท็จจริงทางธุรกิจ และบทบัญญัติทางกฎหมายภาษีอากร ตลอดจนแนวทางปฏิบัติของทางราชการคำวินิจฉัย และคำพิพากษาของศาล ซึ่งเป็นการวางแผนภาษีอากรในระดับที่ลึกลงไปอีกระดับหนึ่ง อาทิ
1. การวางแผนภาษีอากรเพื่อเริ่มกิจการหรือเมื่อริเริ่มกิจการใหม่
2. การวางแผนเพื่อการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร
3. การวางแผนภาษีอากรด้านรายได้
4. การวางแผนภาษีอากรด้านรายจ่าย
5. การวางแผนภาษีอากรด้านทรัพย์สินและหนี้สิน
6. การวางแผนภาษีอากรเกี่ยวกับหน้าที่ทางภาษีอากร
7. การวางแผนภาษีอากรในประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
การวางแผนภาษีอากรในระดับนี้อาจจำเป็นต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย บางกรณีต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญทางภาษีอากร จึงจะสามารถวางแผนภาษีอากรที่จะทำให้ได้ประโยชน์สูงสุด
วัตถุประสงค์ในการวางแผนภาษีอากร มีดังนี้
1. เพื่อให้การเสียภาษีอากรโดยถูกต้อง ครบถ้วนและจำนวนน้อยที่สุด โดยไม่อาศัยการหลีกเลี่ยงภาษีอากร
2. เพื่อขจัดปัญหาทางภาษีอากร
3. เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการเสียภาษีอากรไม่ถูกต้อง
4. เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร
5. เพื่อลดขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ไม่จำเป็น และไม่ได้มาตรฐาน
6. เพื่อเตรียมพร้อมต่อการเรียกตรวจสอบภาษีอากรโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ
7. เพื่อเสริมสร้างระบบการควบคุมภายในให้มีประสิทธิภาพ
หากกิจการมีความประสงค์ที่จะวางแผนภาษีอากร สิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้วางแผนภาษีจะต้องคำนึงถึงก็คือ หลักเกณฑ์ที่สำคัญที่ผู้วางแผนภาษีอากรหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางแผนภาษีควรศึกษาทำความเข้าใจข้อมูล เพื่อประโยชน์ในการวางแผนภาษีอากรให้ครบถ้วน ถูกต้อง และประหยัด หลักเกณฑ์ที่สำคัญมีดังต่อไปนี้
1. ประมวลรัษฎากร เป็นหลักเกณฑ์ที่สำคัญในการวางแผนภาษีอากรจะต้องศึกษาประมวล
รัษฎากร ซึ่งถือเป็นตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากรในการดำเนินธุรกิจโดยตรงผู้วางแผนภาษีจะต้องศึกษากฎหมายภาษีที่เกี่ยวข้องกับกิจการในแต่ละมาตราพระราชบัญญัติ ประกาศ คำสั่ง ฯลฯ ที่เอื้ออำนวนประโยชน์ต่อธุรกิจ หรืออนุบัญญัติก็ตาม
2. ประเภทภาษีอากร การวางแผนภาษีอากรจะต้องศึกษาภาษีประเภทใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ
ซึ่งผู้วางแผนภาษีควรศึกษาภาษีต่าง ๆ จากประมวลรัษฎากร คำพิพากษา คำวินิจฉัย ข้อหารือของกรมสรรพากร ให้ชัดเจนแม่นยำเพื่อการวางแผนได้อย่างรัดกุม ประหยัดและถูกต้องตามกฎหมาย
3. รูปแบบหรือองค์กรของธุรกิจ สอดคล้องและได้รับประโยชน์สูงสุดในการวางแผนภาษีอากร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งศึกษาอัตราภาษี เงื่อนไขต่าง ๆ ที่จะต้องเสียภาษีอากร
4. ประเภทธุรกิจ เมื่อองค์กรประกอบธุรกิจประเภทใดประเภทหนึ่งได้แล้วควรศึกษาประเภทของ
ธุรกิจที่จะดำเนินกิจการว่า จะทำกิจการประเภทใดเพื่อสะดวกต่อการวางแผนภาษีอากร
5. มาตรฐานการบัญชีและระบบบัญชี ผู้วางแผนภาษีอากรจำเป็นต้องศึกษาเรื่องหลักการบัญชี
ทั่วไปหรือมาตรฐานการบัญชี เพราะในการเสียภาษีอากรจะเสียจากข้อมูล รายงานทางการเงินไม่ว่าจะเป็นงบกำไรขาดทุน งบแสดงฐานะทางการเงิน หรือรายงนประกอบต่าง ๆ ดังนั้นจะต้องมีการปรับปรุงให้หลักการบัญชีกับประมวลรัษฎากรสอดคล้องเป็นแนวทางเดียวกันตามหลักการบัญชีภาษีอากร
6. สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร การวางแผนภาษีเพื่อประโยชน์สูงสุดของธุรกิจ ดังนั้นการเลือกใช้
สิทธิประโยชน์ที่กฎหมายกำหนดไว้จะทำให้กิจการได้รับประโยชน์มากที่สูด เช่นสิทธิประโยชน์ของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ส่วนแบ่งกำไรของกิจกรรมร่วมค้าที่ได้รับนกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือเงินปันผลที่กฎหมายยกเว้นภาษีให้ทั้งหมดหรือบางส่วนตามเงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร อนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศที่ได้ทำข้อตกลงกันไว้
การวางแผนภาษีอากรที่ให้ผลได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อการดำเนินงานขององค์กรนั้น จำเป็นต้องกระทำทันทีที่เริ่มต้นประกอบธุรกิจ และต้องกระทำต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ โดยผู้ที่มีความรู้ความชำนาญทางด้านภาษีอากรประเภทนั้นๆ ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจในกิจการที่จะวางแผนภาษีอากรด้วย การวางแผนภาษีอากรจึงอาจต้องอาศัยบุคลากรที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย อาทิ กรรมการผู้จัดการ สมุห์บัญชี นักกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญทางภาษีอากร และฝ่ายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ร่วมปรึกษาหารือโดยรอบด้านในประเด็นภาษีอากรที่เกิด และต้องกระทำควบคู่ไปกับการวางแผนธุรกิจที่มีประเด็นภาษีอากรเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งตรงกับงานวิจัยของ อโนทัย พลภาณุมาศ, สัตยา ตันจันทร์พงศ์, รัชนียา บังเมฆ และกุลชญา แว่นแก้ว (2563) ศึกษาการวางแผนภาษีของบริษัทนอกตลาดทุนที่มีผลต่อการจัดการกำไรในประเทศไทย พบว่า การวางแผนภาษีวัดค่าโดย Tax/Asset มีผลกระทบเชิงบวกการจัดการกำไร เนื่องจากประเทศไทยความสัมพันธ์ระหว่างหลักการทางบัญชีและหลักการทางภาษีมีความสัมพันธ์กัน อาจทำให้ผู้บริหารมีแรงจูงใจในการจัดการกำไร นอกจากนั้นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีการวางแผนภาษีและการบริหารกำไรแตกต่างจากบริษัทนอกตลาดทุน สอดคล้องกับ วราพร เปรมพาณิชย์นุกูล (2561) ศึกษาผลกระทบของความรอบรู้ในการวางแผนภาษีที่มีต่อประสิทธิภาพการวางแผนภาษีของผู้บริหารฝ่ายบัญชีธุรกิจ SMEs ในประเทศไทย พบว่า ความรอบรู้ในการวางแผนภาษี ด้านการรู้ค่าใช้จ่ายที่หักภาษีได้ ด้านการรู้วิธีการคำนวณภาษี และด้านการู้ช่องทางการยื่นภาษี มีผลกระทบเชิงบวกกับประสิทธิภาพการวางแผนภาษีโดยรวม ดังนั้นธุรกิจ SMEs ในประเทศไทย ควรสนับสนุนให้บุคลากรทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายบัญชีให้มีความรู้และมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ระเบียน ข้อบังคับเกี่ยวกับภาษีอากร เพื่อให้การวางแผนภาษีของธุรกิจเป็นไปอย่างถูกต้องครบถ้วนและสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้สูงสุดอย่างมีประสิทธิภาพ
ทฤษฎีการวางแผนภาษี (Tax Planning Theory)
การวางแผนภาษี คือ การเลือกใช้วิธีการทางการเงินเพื่อให้ผู้เสียภาษี มีค่าใช้จ่ายภาษีน้อยที่สุด โดยเลือกวิธีการวางแผนภาษีที่ทำให้กำไรทางภาษีลดลง แต่ไม่กระทบกับกำไรทางบัญชี (Hoffmann, 1961) โดยการวางแผนภาษีสามารถทำได้โดยการใช้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ทางภาษี ซึ่งการศึกษาของ สัตยา ตันจันทร์พงศ์ และพัทธ์ยศ เดชศิริ (2561) ที่ศึกษาผลกระทบเชิงสาเหตุระหว่างการวางแผนภาษีกับผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผลการวิจัยพบว่า การวางแผนภาษีมีผลกระทบในเชิงบวกต่อผลการดำเนินงานของกิจการ วัดจากค่า ROE ROS และ EPS แสดงว่า บริษัทที่มีการวางแผนภาษีจะมีผลการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับทฤษฎีการวางแผนภาษี (Tax Planning Theory) เนื่องจาก การวางแผนภาษีจะมีผลทำให้ค่าใช้จ่ายภาษีลดลและมีผลกำไรสุทธิและกระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้น
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
สวรรยา จินดาวงศ์ (2562) ศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางด้านภาษีเงินได้ที่มีต่อประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีภาษีอากร ผลการศึกษาพบว่า การเปลี่ยนแปลงทางด้านภาษีเงินได้ทุกด้าน ได้แก่ ด้านค่าใช้จ่าย และด้านอัตราภาษีเงินได้ มีความสัมพันธ์และผลกระทบเชิงบวกต่อประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีภาษีอากรทุกด้าน
รัตน์ฐาภัทร วุฒิมหานนท์ (2562) ศึกษาการวางแผนภาษีเงินได้นิติบุคคลของกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยศึกษาตัวแปรที่มีผลต่อการวางแผนภาษีเงินได้นิติบุคคลของกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผลการศึกษาพบว่า ความสามารถในการทำกำไรมีผลเชิงบวกต่อการวางแผนภาษีเงินได้นิติบุคคลในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร
อุไรวรรณ บุษทิพย์, จุลสุชดา ศิรสม และนภาภรณ์ พลนิกรกิจ (2551) ศึกษาผลกระทบของประสิทธิผลการวางแผนภาษีอากรที่มีผลต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผลการศึกษาพบว่า ประสิทธิผลการวางแผนภาษีอากร ด้านการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุดและด้านการมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและสมเหตุผล มีผลกระทบเชิงบวกกับประสิทธิภาพการดำเนินงาน ดังนั้น บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงควรนำข้อสนเทศที่ได้จาการศึกษาครั้งนี้ไปใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงการวางแผนภาษีอากรของบริษัทจดทะเบียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล อีกทั้งยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานของกิจการต่าง ๆ ให้เหมาะสมในแต่ละองค์กร รวมทั้งเสริมสร้างประสิทธิภาพการดำเนินงานให้กับองค์กรและนำพาให้องค์กรประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับ
สรุป
จากการศึกษาโดยการทบทวนวรรณกรรม ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการวางแผนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานของธุรกิจเอกชน และเพื่อศึกษาผลกระทบของการวางแผนภาษีอากรที่มีต่อประสิทธิภาพต่อการดำเนินงานของธุรกิจเอกชน ผลการศึกษาพบว่า
1. การวางแผนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานของธุรกิจเอกชน มีผลเชิงบวกต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานกับภาคธุรกิจเอกชน เนื่องจากภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นภาษีประเภทหนึ่งตามประมวลรัษฎากร โดยมีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เป็นผู้เสียภาษี ซึ่งปัจจุบันอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล สูงสุดอยู่ที่ 20% ดังนั้นการวางแผนภาษีโดยให้บริษัทได้รับสิทธิประโยชน์จากภาษีต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ไปใช้ลดหย่อน เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้น้อยลงและไม่ต้องเสียภาษีมากจนเกินไป รวมถึงไม่ต้องชำระภาษีเพิ่มหรือเสียเบี้ยปรับโดยใช่เหตุ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริหารควรให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว และสนับสนุนให้บุคลากรในองค์กรเพิ่มพูนความรู้เพื่อให้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. ผลกระทบของการวางแผนภาษีอากรที่มีผลต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานของธุรกิจเอกชน มีผลเชิงบวกต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานกับภาคธุรกิจเอกชน เนื่องจากภาษีเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งของการประกอบธุรกิจ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเอาภาษีมาเป็นปัจจัยในการพิจารณาดำเนินธุรกิจ การลดลงของค่าใช้จ่ายทางภาษีมีผลกระทบต่อกระแสเงินสดของธุรกิจ
ข้อเสนอแนะ
1. ควรมีการศึกษาเพิ่มเติม ในเรื่องที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการวางแผนภาษีอากร เช่น การสื่อสารขององค์กร การได้รับความร่วมมือจากภายในองค์กร ความสามารถในการชำระภาษี เป็นต้น
2. ควรมีการศึกษาถึงปัญหาและอุปสรรคในการวางแผนภาษีอากรที่มีผลต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานขององค์กรในหลากหลายธุรกิจ เพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขได้ตรงประเด็น
3. สนับสนุนให้บุคคลากรในองค์กรได้รับการอบรมและเพิ่มพูนความรู้ด้านภาษีอากร เพื่อใช้ในการจัดการวางแผนและใช้สิทธิประโยชน์ได้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของกฎหมายกำหนด
บรรณานุกรม
กรมสรรพากร. (2564). ผู้มีหน้าทีเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์: https://www.rd.go.th/835.html
รัตน์ฐาภัทร วุฒิมหานนท์. (2562). “การวางแผนภาษีเงินได้นิติบุคคลของกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย”. สารนิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยศรีปทุม
วราพร เปรมพาณิชย์นุกูล. (2561). “ผลกระทบของความรอบรู้ในการวางแผนภาษีที่มีต่อประสิทธิภาพการวางแผนภาษีของผู้บริหารฝ่ายบัญชีธุรกิจ SMEs ในประเทศไทย”. วารสารวิทยาการจัดการสมัยใหม่, ปีที่ 11 (ฉบับที่ 1), หน้าที่ 108.
สวรรยา จินดาวงศ์. (2563). “การเปลี่ยนแปลงทางด้านภาษีเงินได้ที่มีต่อประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีภาษีอากร”. วารสารมหาจุฬานาครทรรศน์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์, ปีที่ 7 (ฉบับที่ 10), หน้าที่ 276-277.
สุเทพ พงษ์พิทักษ์ (2641) การวางแผนภาษีอากร สำนักงานวิชิตา ทนายความ บัญชีและธุรกิจ 2541 หน้า 401 กรุงเทพฯ.
สัตยา ตันจันทร์พงศ์ และพัทธ์ยศ เดชศิริ. (2561). “ผลกระทบเชิงสาเหตุระหว่างการวางแผนภาษีกับการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย”. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, ปีที่ 38 (ฉบับที่ 3 ), หน้าที่ 11.
อโนทัย พลภาณุมาศ, สัตยา ตันจันทร์พงศ์, รัชนียา บังเมฆ และกุลชญา แว่นแก้ว. (2563). “การวางแผนภาษีของบริษัทนอกตลาดทุนที่มีผลต่อการจัดการกำไรในประเทศไทย”. วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ, ปีที่ 14 (ฉบับที่ 2 ), หน้าที่ 95.
อุไรวรรณ บุษทิพย์, จุลสุชดา ศิรสม และนภาภรณ์ พลนิกรกิจ. (2551). “ผลกระทบของประสิทธิผลการวางแผนภาษีอากรที่มีต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย”. การประชุมวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ครั้งที่ 5 ประจำปี 2551. (น.715). ชลบุรี. วิทยาลัยเกษตรศาสตร์.