ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เข้าใจง่ายและได้ประโยชน์ต่อบุคคลหรือนิติบุคคลในยุค New Normal

UploadImage
 
UploadImage
 
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เข้าใจง่ายและได้ประโยชน์ต่อบุคคลหรือนิติบุคคลในยุค New Normal
Withholding taxes are easy to understand and benefit individuals or juristic persons in the New Normal era.
 
ตรีนุช  บุรินรัมย์
Treenuch Burinram
Porplataklom78@gmail.com
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม
 
บทคัดย่อ
          บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเรื่อง ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ประเภทของภาษีหัก ณ ที่จ่าย และผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เงินได้ประเภทใดที่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่เจอบ่อย ๆ ต้องหักภาษีเมื่อไหร่ และบทกำหนดโทษกรณีปฏิบัติไม่ถูกต้องครบถ้วน ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด.3 คือผู้จ่ายเงินได้ให้แก่ผู้รับซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และตามแบบ ภ.ง.ด.53 คือผู้จ่ายเงินได้ให้แก่ผู้รับซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จำนวนเงินได้ขั้นต่ำที่ต้องหักภาษีไว้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่จ่ายให้แก่ผู้รับซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ตามสัญญารายหนึ่ง ๆ มีจำนวนรวมทั้งสิ้นตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป หรือถ้ามีการแบ่งจ่ายเราต้องหักภาษีทุกครั้งเมื่อรวมยอดแล้ว เกิน 1,000 บาท อัตราภาษีที่ต้องคำนวณภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่ายจะขึ้นอยู่กับประเภทของเงินได้ตามประมวลรัษฎากร 
          แบบฟอร์มเอกสารในการนำส่งถ้าเป็นบุคคลธรรมดาใช้เอกสารภาษีแบบ ภ.ง.ด. 3 ในการนำส่งส่วนนิติบุคคลใช้เอกสารภาษีแบบ ภ.ง.ด.53 ในการนำส่งต่อกรมสรรพากรทุกวันที่ 7 ของเดือน หรือวันที่ 15 ในกรณีนำส่งผ่านช่องทางออนไลน์  และผู้ที่ต้องจ่ายภาษีประเภทนี้ คือ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล  ผู้มีรายได้ตามกำหนดกรมสรรพากร เป็นต้น

คำสำคัญ: ภาษีหัก ณ ที่จ่าย, บุคคลธรรมดา, นิติบุคคล
 
Abstract
          This article aims to study withholding tax, types of withholding tax and who is liable to withhold income tax. What types of income are subject to withholding tax. Withholding tax Frequently encountered. How to withhold tax at source? and penalties in the event that the practice is not completely correct. A person who has a duty to withhold income tax under the P.N.D. 3 form is a person who pays income to a recipient who is obligated to pay personal income tax and, according to a P.N.D. 53 form, is a person who pays income to a recipient who have a duty to pay corporate income tax Minimum amount of income subject to tax For assessable income paid to the recipient who is obligated to pay income tax under one contract with a total amount of 1,000 baht or more, or if there is a breakdown, we have to withhold tax every time when the total amount exceeds 1,000 baht. Tax rate to calculate income tax withholding depends on the type of income according to the Revenue Code.
Document form for submission, if an individual is a natural person, use a tax document in the form of P.N.D. 3 for submission, a corporate entity can use a tax document in a form of P.N.D. 53 to submit to the Revenue Department on the 7th day of the month or the day 15th, in the case of via online channels and those who have to pay this type of tax is natural persons and juristic persons. Those income according to the Revenue Department, etc

Keywords: Withholding tax, personal tax, corporate tax
 
บทนำ
          ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นการจัดเก็บภาษีล่วงหน้ากำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่หักภาษีจากเงินที่จ่ายให้แก่ผู้รับทุกครั้งที่จ่าย ซึ่งการหักภาษีต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด หลังจากนั้นให้นำเงินส่งกรมสรรพากร
          การหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือที่เรียกเต็มๆ ว่า ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นมาตรการสำหรับเก็บภาษีล่วงหน้าบางส่วนตอนที่คุณรับเงิน ซึ่งโดยทั่วไปแม้จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่า คุณไม่มีหน้าที่ต้องยื่นภาษี อีกต่อไปแล้ว เพราะยังไม่ถือว่าเป็นภาษีสุดท้ายทั้งนี้ การจ่ายเงินบางกรณีกฎหมายจะกำหนดให้คนที่จ่ายเงินมีทำหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตอนที่คุณรับเงินด้วย แล้วค่อยนำเงินภาษีนั้นนำส่งกรมสรพากรอีกที ในขณะที่การจ่ายเงินบางกรณีกฎหมายก็ไม่ได้กำหนดหน้าที่ให้คนจ่ายเงินต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลและประเภทของเงินที่จ่าย หากจำนวนเงินที่ต้องจ่ายตามสัญญาทั้งหมดไม่ถึง 1,000 บาท (999.99 บาทลงมา) กฎหมายไม่บังคับให้ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่ถ้ามีจำนวนเงินที่ต้องจ่ายตามสัญญาทั้งหมดตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป กฎหมายจะบังคับให้ผู้จ่ายเงินต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย แม้ว่าสัญญานั้นแบ่งงวดการจ่ายแต่ละครั่งไม่ถึง 1,000 บาทก็ตาม 
อย่างไรก็ดี ผู้รับเงินจะได้รับ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับการเสียภาษีด้วย
 
วัตถุประสงค์
  1. เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับคนที่กำลังสับสนเรื่องภาษีหัก ณ ที่จ่าย เพราะถ้าไม่มีข้อมูลอะไรเลยก็คงจะไม่เข้าใจว่าแต่ละประเภทก็มีอัตราการหักภาษีที่แตกต่างกันไป
  2. เพื่อเป็นประโยชน์ให้ทั้งผู้ประกอบการ และคนทั่วไปต่างก็ควรต้องรู้จักภาษีหัก ณ ที่จ่ายไว้ เพราะถ้าเราไม่รู้ เราอาจจะหักภาษีผิด ทำให้เสียเงินไปจากความไม่รู้ได้
 
ประเด็นสำคัญที่ควรทราบ
ใครเป็นผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย
  1. ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด.3 หมายถึงผู้จ่ายเงินได้ให้แก่ผู้รับซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
  2. ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด.53 หมายถึงผู้จ่ายเงินได้ให้แก่ผู้รับซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายต้องปฏิบัติอย่างไร?
  1. มีและใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร(เว้นแต่บุคคลธรรมดาที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มให้ใช้เลขประจำตัวประชาชนแทน)
  2. หักภาษี ณ ที่จ่ายทุกคราวที่จ่ายเงินได้ซึ่งมีกฎหมายกำหนดให้หักภาษี ณ ที่จ่าย
  3. ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ในกรณีที่เป็นรัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น ให้เจ้าพนักงานผู้จ่ายเงินได้ออกใบรับสำหรับค่าภาษีที่ได้หักไว้ให้แก่ผู้รับเงิน
  4. นำส่งภาษีที่ได้หักไว้ภายใน 1 วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในท้องที่ที่ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายมีสำนักงานตั้งอยู่การยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจะต้องทำความตกลงกับกรมสรรพากร พร้อมทั้งลงนามในเอกสารข้อตกลงในการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และเมื่อได้รับหมายเลขผู้ใช้ (User ID) และรหัสผ่าน (Password)จากกรมสรรพากรแล้ว จึงจะสามารถเข้าสู่ระบบการยื่นแบบฯ และชำระภาษีผ่านอินเทอร์เน็ตได้
  5. จัดทำบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีโดยบัญชีพิเศษ อย่างน้อยจะต้องมีข้อความตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
เงินได้ประเภทใดที่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ?
  1. เงินได้ที่บุคคลซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นผู้รับ ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย (นำส่งตามแบบ ภง.ด.3) ที่กำหนดไว้ มีดังต่อไปนี้
          1) เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน
          2) เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือ วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรมสถาปัตยกรรม การบัญชี และประณีตศิลปกรรม
          3) เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ
          4) เงินได้จากการธุรกิจการพาณิชย์การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่งฯ เฉพาะประเภทที่กำหนดไว้ ดังนี้    
                 (1) เงินรางวัลในการประกวดแข่งขัน การชิงโชค หรือการอื่นใดอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน
                 (2) เงินได้จากการเป็นนักแสดงสาธารณะ
                 (3) เงินได้จากการรับโฆษณา
                 (4) เงินได้จากการรับจ้างทำของ
                 (5) เงินได้จากการให้บริการอื่น ๆ
                 (6) เงินรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย
                 (7) เงินได้จากค่าขนส่ง
  1. เงินได้ที่บุคคลซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นผู้รับ ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย (นำส่งตามแบบ ภง.ด.53) ที่กำหนดไว้มีดังต่อไปนี้
         1) เงินได้จากการขายสินค้าพืชผลการเกษตร (บางประเภท) ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ย ตั๋วเงิน เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไรหรือประโยชน์อื่นใด เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน เงินได้จาก
วิชาชีพอิสระ เงินได้จากค่าจ้างทำของ เงินได้จากการประกวด แข่งขัน ชิงโชค หรือการอื่น อันมี
ลักษณะทำนองเดียวกัน เงินได้จากค่าโฆษณา
         2) เงินได้ตามมาตรา 40 (8)เฉพาะที่เป็นการจ่ายเงินได้จากการให้บริการอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวตาม 1)
         3) เงินได้จากค่าเบี้ยประกันวินาศภัย เฉพาะที่จ่ายให้แก่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งประกอบกิจการรับประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยในประเทศไทย
         4) เงินได้ค่าขนส่ง แต่ไม่รวมถึงการจ่ายค่าโดยสารสำหรับการขนส่งสาธารณะ  

ใครบ้างที่ต้องจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้สรรพากร
     
‘ผู้จ่าย’ เป็นคนทำหน้าที่หักจากเงินที่จ่ายและส่งให้สรรพากร หลายคนอาจคิดว่าผู้จ่ายที่ว่านี้หมายถึงบริษัท หรือนิติบุคคลเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว บุคคลธรรมดาก็สามารถเป็นคนจ่ายภาษีชนิดนี้ได้ ขึ้นอยู่ว่าเงินที่เราจ่ายนั้นจ่ายค่าอะไรไป
 
ต้องหักเมื่อไหร่
     เราต้องจ่ายภาษีนี้เมื่อจ่ายเงินเกิน 1,000 บาทในครั้งเดียว หรือหลายครั้งรวมกัน เช่นถ้าเราแบ่งจ่ายค่าจ้างฟรีแลนซ์ 1,000 บาท 2 ครั้ง ครั้งละ 500 บาท เราก็ต้องหักภาษีทั้งสองครั้งด้วย เพราะรวมกันแล้วเกิน 1,000 บาท
ค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่ต้องจ่ายภาษี หัก ณ ที่จ่าย และอัตราการจ่าย
อย่างที่บอกไปว่าภาษีชนิดนี้จะหักก็ต่อเมื่อเราจ่ายเงินในประเภทที่รัฐกำหนด อัตราการเสียภาษีก็จะแตกต่างกันไปตามประเภท ซึ่งทางรัฐมีกำหนดไว้หลายประเภท แต่หลักๆ แล้ว จะมีดังต่อไปนี้
ภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่เจอบ่อย ๆ
 
ค่าจ้าง และเงินเดือน ต่ำสุด 0%
     ค่าจ้าง และเงินเดือน ที่บริษัทจ่ายให้กับพนักงานก็ต้องผ่านการหัก ณ ที่จ่ายมาก่อนแล้ว ซึ่งอัตราการหักก็จะขึ้นอยู่กับการคำนวณ โดยการเอาเงินได้ทั้งปี หักค่าลดหย่อนต่างๆ แล้วหักตามอัตราก้าวหน้า เหมือนกับคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครับ ซึ่งผลอาจจะเป็นไม่หักเลย (0%) ก็ได้ ถ้าเงินได้ของพนักงานไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องหัก แต่ถ้าใครที่ไม่ถึงเกณฑ์ แต่ผู้จ่ายหักไปแล้ว ก็สามารถไปขอคืนภาษีจากรัฐได้
  • กลุ่มนี้ใช้เอกสารภาษี ภ.ง.ด.1 ในการนำส่ง
  • จ่ายทุกวันที่ 7 ของเดือน หรือวันที่ 15 ถ้าเรานำส่งทางออนไลน์
  • ผู้ที่ต้องจ่ายภาษีชนิดนี้คือ บริษัท นิติบุคคล และบุคคลธรรมดา
 
จ้างทำงานหรือบริการ ต่ำสุด 0%
     ข้อนี้หมายถึงการว่าจ้างบุคคลธรรมดาให้ทำอะไรบางอย่างให้ เช่น เป็นรับทำของอะไรบางอย่าง หรือจ้างให้ทำบริการ ข้อนี้ก็ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเหมือนกัน อัตราการหักจะเหมือนกับในส่วนของเงินเดือนเลย ก็คือคำนวณจากเงินได้ทั้งปี ผลก็เลยอาจจะเป็น 0% ได้เหมือนกัน การทำฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่จะอยู่ในหมวดนี้
  • กลุ่มนี้ใช้เอกสารภาษี ภ.ง.ด.1 ในการนำส่ง
  • จ่ายทุกวันที่ 7 ของเดือน หรือวันที่ 15 ถ้าเรานำส่งทางออนไลน์
  • ผู้ที่ต้องจ่ายภาษีชนิดนี้คือ บริษัท นิติบุคคล และบุคคลธรรมดา
จ้างรับเหมา ทำของ บริการ 3%
     คนมักจะสับสนข้อนี้กับ จ้างทำงานหรือบริการ แต่ความแตกต่างก็คือใน จ้างรับเหมา ทำของ ผู้ถูกจ้างจะต้องใช้หรือไปหาอุปกรณ์ของตัวเองมาสิ่งที่ได้รับการว่าจ้าง เช่นถ้าเราได้รับการว่าจ้างให้เขียนโค้ด และผู้ว่าจ้างไม่มีอุปกรณ์เขียนโค้ดให้ ก็จะถือว่าเป็นการจ้างรับเหมาและทำของ
  • กลุ่มนี้ใช้เอกสารภาษี ภ.ง.ด.3 ในการนำส่ง
  • จ่ายทุกวันที่ 7 ของเดือน หรือวันที่ 15 ถ้าเรานำส่งทางออนไลน์
  • ผู้ที่ต้องจ่ายภาษีชนิดนี้คือบริษัท และนิติบุคคล
จ้างบริการวิชาชีพอิสระ 3%
     ข้อนี้หมายถึงการว่าจ้างจากการประกอบวิชาชีพอิสระ แต่รัฐไม่ได้หมายถึงฟรีแลนซ์ทุกอาชีพ ภาษีกลุ่มนี้จะครอบคลุมแค่ 6 วิชาชีพเท่านั้น ก็คือ โรคศิลปะ (กลุ่มเวชกรรม เภสัชกรรม ทันกรรม ฯลฯ) ทนายความ วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี และประณีตศิลป์ กลุ่มพวกนี้ก็จะหัก 3% ในขณะที่ถ้าเราทำฟรีแลนซ์อาชีพอื่น ก็จะหักตามหมวด จ้างทำงานหรือบริการ
  • กลุ่มนี้ใช้เอกสารภาษี ภ.ง.ด.3 ในการนำส่ง
  • จ่ายทุกวันที่ 7 ของเดือน หรือวันที่ 15 ถ้าเรานำส่งทางออนไลน์
  • ผู้ที่ต้องจ่ายภาษีชนิดนี้คือบริษัท และนิติบุคคล
ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ 5%
     ถ้าเราเช่าออฟฟิศ หรือสถานที่ที่เรามีสิทธิในการถือกุญแจ ก็จะนับเป็นอัตราภาษี 5% เพราะถ้าเป็นแค่สถานที่ที่เราไม่มีสิทธิในการถือกุญแจ เช่นการเช่าสถานที่เพื่อจัดงานสัมมนา หรือจัดอีเวนต์ กฎหมายจะถือว่ามันอยู่ในหมวดจ้างบริการ ซึ่งจะหัก 3% แทน
  • กลุ่มนี้ใช้เอกสารภาษี ภ.ง.ด.3 ในการนำส่ง
  • จ่ายทุกวันที่ 7 ของเดือน หรือวันที่ 15 ถ้าเรานำส่งทางออนไลน์
  • ผู้ที่ต้องจ่ายภาษีชนิดนี้คือบริษัท และนิติบุคคล
ค่าโฆษณา 2%
     ก็คือการจ้างให้บริษัท หรือเอเจนซี่โฆษณา มาโฆษณาให้เราผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งภาษีกลุ่มนี้จะหักแค่ 2% เท่านั้น
  • กลุ่มนี้ใช้เอกสารภาษี ภ.ง.ด.53 ในการนำส่ง
  • จ่ายทุกวันที่ 7 ของเดือน หรือวันที่ 15 ถ้าเรานำส่งทางออนไลน์
  • ผู้ที่ต้องจ่ายภาษีชนิดนี้คือบริษัท และนิติบุคคล
ค่าขนส่ง 1%
     จ่ายทุกครั้งที่มีการว่าจ้างบริการขนส่ง โดยที่ต้องเป็นบริษัทขนส่งเอกชน และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการขนส่ง เช่น บริการขนส่งสินค้าจากบริษัท โลจิสติกส์ เป็นต้น
  • กลุ่มนี้ใช้เอกสารภาษี ภ.ง.ด.53 ในการนำส่ง
  • จ่ายทุกวันที่ 7 ของเดือน หรือวันที่ 15 ถ้าเรานำส่งทางออนไลน์
  • ผู้ที่ต้องจ่ายภาษีชนิดนี้คือบริษัท และนิติบุคคล
แบบที่ใช้ในการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
  1. แบบ ภ.ง.ด.3 เป็นแบบที่ใช้สำหรับการยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งผู้รับเงินเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ตามมาตรา 59 กรณีหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา50 (3) (4) (5) และมาตรา 3 เตรส สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) (6) (7 ) (8) และการเสียภาษีตามมาตรา 48 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
  2. แบบ ภ.ง.ด.53 เป็นแบบที่ใช้สำหรับการยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งผู้รับเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ ตามมาตรา 3 เตรส และมาตรา 69 ทวิ และการเสียภาษีตามมาตรา 65 จัตวา แห่งประมวลรัษฎากร
บทกำหนดโทษกรณีปฏิบัติไม่ถูกต้องครบถ้วน
  1. ถ้าผู้จ่ายเงินซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายมิได้หักและนำเงินส่ง หรือได้หักและนำเงินส่งแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง ผู้จ่ายเงินต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่มิได้หักและนำส่ง หรือตามจำนวนเงินที่ขาดไปแล้วแต่กรณี ในกรณีที่ผู้จ่ายเงินได้หักภาษีไว้แล้ว ให้ผู้มีเงินได้ซึ่งต้องเสียภาษีพ้นความรับผิดที่จะชำระเงินภาษีเท่าจำนวนที่ผู้จ่ายเงินได้หักไว้ และให้ผู้จ่ายเงินรับผิดชำระภาษีจำนวนนั้นแต่ฝ่ายเดียว (มาตรา 54 แห่งประมวลรัษฎากร)
  2. ถ้าผู้จ่ายเงินซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายไม่นำเงินภาษีที่ตนมีหน้าที่หักไปนำส่งภายในกำหนดเวลา จะต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ
  3. ผู้ใดเจตนาละเลยไม่ยื่นรายการที่ต้องยื่นเพื่อหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ (มาตรา 37 ทวิแห่งประมวลรัษฎากร)
 
สรุป
     ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด.3 คือผู้จ่ายเงินได้ให้แก่ผู้รับซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ ตามแบบ ภ.ง.ด.53 คือผู้จ่ายเงินได้ให้แก่ผู้รับซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จำนวนเงินได้ขั้นต่ำที่ต้องหักภาษีไว้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่จ่ายให้แก่ผู้รับซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ตามสัญญารายหนึ่ง ๆ มีจำนวนรวมทั้งสิ้นตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป หรือถ้ามีการแบ่งจ่ายเราต้องหักภาษีทุกครั้งเมื่อรวมยอดแล้ว เกิน 1,000 บาท อัตราภาษีที่ต้องคำนวณภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่ายจะขึ้นอยู่กับประเภทของเงินได้ตามประมวลรัษฎากร 
     แบบฟอร์มเอกสารในการนำส่งถ้าเป็นบุคคลธรรมดาใช้เอกสารภาษี ภ.ง.ด. 3 ในการนำส่งส่วนนิติบุคคลใช้เอกสารภาษี ภ.ง.ด.53 ในการนำส่ง ต่อกรมสรรพากรทุกวันที่ 7 ของเดือน หรือวันที่ 15 ถ้าเรานำส่งทางออนไลน์  และผู้ที่ต้องจ่ายภาษีชนิดนี้คือบริษัท และนิติบุคคล

ข้อเสนอแนะ
     ผู้จ่ายเงินซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ควรที่หักและนำเงินส่งภาษีให้ครบตามจำนวนที่ถูกต้องและควรนำส่งภายในกำหนดเวลา เพื่อไม่ให้เสียเงินเพิ่มและค่าเบี้ยปรับ
 
บรรณานุกรม
คู่มือภาษีหัก ณ ที่จ่าย. (2559). ค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 https://www.rd.go.th/fileadmin/download/insight_pasi/wht_3_53_030260.pdf
ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์. (2564).  ภาษีหัก ณ ที่จ่าย.  ค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564  https://www.itax.in.th/pedia
ภาษี หัก ณ ที่จ่าย คืออะไร เข้าใจเรื่องภาษีแบบง่ายๆ ในปี 2021. (2564).  ค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 https://www.peerpower.co.th/blog/investor/tax-in-payment/
ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย คืออะไร ทำไมเราต้องถูกหัก. (2563). ค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564   https://flowaccount.com/blog
ภีม เพชรเกตุ. (2564). 9 ภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่พบบ่อยหักยังไง?. ค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564   https://peakaccount.com/blog