การบริหารการเงินส่วนบุคคลในช่วงวิกฤติ
29
Oct
การบริหารการเงินส่วนบุคคลในช่วงวิกฤติ
PERSONAL FINANCIAL MANAGEMENT IN TIMES OF CRISIS
อารียา ศรีธรรมนิตย์
Areeya Srithamnit
E-mail : aareeyasr@gmail.com
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม
บทคัดย่อ
การบริหารการเงินส่วนบุคคลในช่วงวิกฤติที่ส่งผลกระทบต่อสภาพการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น เศรษฐกิจถดถอยหรือโรคระบาดที่ยังไม่แน่นอนว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ การบริหารการเงินส่วนบุคคลจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากในการดำเนินชีวิตโดยเฉพาะในช่วงวิกฤติหรือภาวะฉุกเฉินที่เราไม่อาจคาดเดา บทความนี้จึงนำเสนอการบริหารการเงินส่วนบุคคลในช่วงวิกฤติ โดยการพิจารณา ศึกษา ค้นคว้า และสรุปที่ได้จากการรวบรวมข้อมูลมาจากบทความในสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ บทความทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง แสดงให้เห็นว่าหลักการพื้นฐานในการบริหารการเงินส่วนบุคคล ขั้นตอนในการบริหารการเงิน วินัยทางการบริหารการเงิน ที่เป็นแนวทางการจัดทำงบประมาณใช้จ่ายล่วงหน้า ลดรายจ่ายและภาระผ่อน รักษาสุขภาพ ลดความเสี่ยงค่าใช้จ่าย หารายได้เสริม รักษาวินัยทางการเงิน ควบคุมการใช้จ่ายให้เป็นไปตามแผน เพื่อให้การบริหารการเงินส่วนบุคคลในช่วงวิกฤติผ่านพ้นไปได้
คำสำคัญ : การบริหารการเงิน, การบริหารการเงินส่วนบุคคล, ยามวิกฤติ
Abstract
Personal financial management crisis in daily life, such as When will the uncertain recession end. Personal financial management is a very important way of life. In crisis or emergency, we can't. This paper puts forward the research of personal financial management during the crisis. The data collected from the articles were published in relevant academic articles. Basic principles of personal financial management, financial management, financial management In addition, the government should reduce budget expenditure, reduce medical expenses, reduce risks and increase income. Financial expenditure control plan to ensure that personal financial management is passed in crisis.
Keywords : Financial Management, Personal Finance Management, Crisis
บทนำ
การบริหารการเงินส่วนบุคคล (Personal financial management) หมายถึง การทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการดำเนินชีวิต (Life goals) ของบุคคลโดยผ่านการบริหารและการวางแผนทางการเงิน ซึ่งถูกออกแบบมาสำหรับแต่ละบุคคล (กฤษฎา เสกตระกูล, 2553) การบริหารการเงินที่ดีจัดได้ว่าเป็นเข็มทิศที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ และจะทำให้ทุกคนมีอิสรภาพทางการเงินได้ เพราะถ้าหากรู้ว่าชีวิตเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทุกคนก็ควรจะใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท มีสติอยู่ตลอดเวลา การวางแผนทางการเงินจึงถือว่าเป็นแบบอย่างของการใช้ชีวิตของคนที่มีสติและปัญญา มีเหตุผล รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ และพร้อมจะรับมือกับปัญหาความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น นั่นจะทำให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีเป้าหมาย และเดินตามเป้าหมายได้อย่างถูกทาง ซึ่งคนที่มีการบริหารการเงินที่ดีก็ย่อมทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตได้(กาญจนา หงษ์ทอง, 2551) การบริหารการเงินส่วนบุคคลมีความสำคัญอย่างมากในการดำเนินชีวิตของทุกคน เพื่อนำไปสู่การวางแผนและพัฒนาจัดการการเงินให้มีความมั่นคง มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอันจะส่งผลต่ออนาคตที่ดี เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน มีเงินสำรองในยามวิกฤติ เพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน เพราะเราไม่อาจทราบได้ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน คือ เงินออมก้อนแรกที่ทุกคนควรมีเพราะเป็นเงินที่สามารถนำมาใช้ได้หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นและต้องใช้เงินโดยที่ไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า เช่น ตกงาน เจ็บป่วย โดยปกติแล้วเงินออมเผื่อฉุกเฉินควรจะมีเริ่มต้นที่ 3-6 เท่าของรายจ่ายจำเป็นและภาระผ่อนหนี้ต่อเดือน ในภาวะไม่ปกติ เช่น เศรษฐกิจถดถอยหรือโรคระบาดที่ยังไม่แน่นอนว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ก็ควรเก็บให้ได้มากกว่า 6 เท่า (ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2563)
วัตถุประสงค์
- เพื่อให้ทราบ และเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารการเงินส่วนบุคคลในช่วงวิกฤติ
- เพื่อนำเสนอการบริหารการเงินส่วนบุคคลในช่วงวิกฤติ
แนวคิดพื้นฐานในการบริหารการเงิน
การบริหารการเงิน แบ่งออกเป็น 4 ประการ (สุขใจ น้ำพุด, 2548) ได้แก่
1. การบริหารการเงินเพื่อป้องกันผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
ในการดำเนินชีวิตของคนเราทุกวันนี้ มีความเสี่ยงที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงใด ขึ้นอยู่กับว่า ใครสามารถที่จะรู้จักบริหารเงินได้อย่างเหมาะสมกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นนี้หรือไม่อย่างไร ความเสี่ยงที่เรามักจะพบเห็นบ่อย ๆ ก็คือ ความเสี่ยงจากการตกงาน ความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้น การบริหารเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงนี้ โดยกันเงินไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน เพื่อความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต การบริหารการเงินที่สามารถทำได้ อย่างเช่น การทำประกันชีวิต การประกันสุขภาพ การประกันการว่างงาน และการกันเงินออมส่วนหนึ่งไว้สำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน
2. การบริหารการเงินเพื่อความมั่นคงของชีวิต
หลักการในข้อนี้ไม่ใช่ให้คุณใช้จ่ายเกินรายได้ที่มีอยู่ และไม่พยายามสร้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ อย่างเช่น การใช้จ่ายมากกว่ารายได้ โดยไม่คิดว่าในอนาคตจะมีรายได้เพิ่มพอที่จะสามารถจ่ายคืนได้ คุณควรมองหาภาระหนี้สินที่สามารถก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต อย่างเช่น ซื้ออสังหาริมทรัพย์ด้วยวิธีการผ่อนชำระแล้วนำไปให้ผู้อื่นเช่า กรณีเช่นนี้ถือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง เป็นการบริหารเงินเพื่อสร้างความมั่นคง
3. การบริหารการเงินเพื่อสร้างความมั่งคั่ง
หลังจากที่คุณสามารถบริหารเงินเพื่อป้องกันผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน และสร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิตแล้ว ดังนั้น เมื่อมีเงินออม คุณก็สามารถจะสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเองได้แล้ว โดยการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ อย่างเช่น การลงทุนในกองทุนรวม ตราสารหนี้ และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้คุณรู้และเข้าใจในการลงทุนมากขึ้น ก่อนที่คุณจะลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ อย่างจริงจัง
4. การป้องกันและบริหารความมั่งคั่ง
หลังจากที่คุณได้ลงทุนไปแล้ว หากคุณต้องการประสบความสำเร็จ คุณจะต้องรักษาระดับความมั่นคงในการบริหารจัดการเงินจำนวนนี้ ให้สร้างผลกำไรเพิ่มมากขึ้น คุณไม่ควรหยุดศึกษาและหาความรู้เกี่ยวกับเทคนิคและวิธีการบริหารจัดการเงินลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า เป็นการสร้างรายได้ให้เพิ่มมากขึ้น และเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ดังนั้น การเรียนรู้และพัฒนาก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารเงินลงทุนของคุณได้ดี
หลักการพื้นฐานในการบริหารการเงินส่วนบุคคล
ประกอบด้วย 4 หลักการ ได้แก่
1. การสร้างความมั่งคั่ง (Wealth Creation) เป็นขั้นตอนแรกของการวางแผนด้วยการบริหารรายได้รายจ่ายในเรื่องการอุปโภค บริโภค การมีวินัยในการออม และการควบคุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ว่าอะไรจำเป็นหรือไม่จำเป็นเพื่อเป็นฐานในการต่อยอดความมั่งคั่งในอนาคต
2. การปกป้องความมั่งคั่ง (Wealth Protection) เป็นการคุ้มครองความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น กับทรัพย์สินไม่มีชีวิต ได้แก่ บ้าน รถยนต์ และสิ่งที่มีชีวิต คือ ตัวเราและผู้อุปการะ เครื่องมือที่ใช้ในการปกป้องส่วนใหญ่ คือ การซื้อประกันภัย ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดความสูญเสียทางการเงิน อันอาจส่งผลกระทบและเป็นอุปสรรคในการบรรลุเป้าหมายทางการเงิน
3. การต่อยอดความมั่งคั่ง (Wealth Accumulation) เป็นการต่อยอดเพื่อเพิ่มและสะสมความมั่งคั่งผ่านการวางแผนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนการลงทุน การวางแผนภาษี การจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสม การวางแผนดังกล่าวจะช่วยลดภาระภาษีเงินได้ และเพิ่มรายได้จากการลงทุนให้มากขึ้น
4. การกระจายความมั่งคั่ง (Wealth Distribution) เป็นการส่งต่อความมั่งคั่งกับบุคคลที่ต้องการไม่ว่าจะเป็นลูกหลาน ญาติ พี่น้อง หรือหน่วยงานการกุศลต่าง ๆโดยการวางแผนจะกระทำผ่านการวางแผนมรดกการปฏิบัติตามหลักการ 4 ประการข้างต้น เป็นการทำให้แน่ใจว่า การวางแผนการเงินได้ครอบคลุมทุกขั้นตอนตั้งแต่เราเกิดจนตาย มีหลักประกันฉุกเฉินในยามเกิดความต้องการใช้เงินอย่างเร่งด่วน และมีเงินทุนหมุนเวียนอย่างเพียงพอและเหมาะสม
ขั้นตอนในการบริหารการเงิน
- กำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ทางการเงิน
- รวบรวมข้อมูลทางการเงิน
- วิเคราะห์และประเมินสถานะทางการเงิน
- จัดทำแผนทางการเงิน
- ลงมือปฏิบัติตามแผนที่วางไว้
- ติดตามและกำกับให้เป็นไปตามแผนทางการเงินที่วางไว้
วินัยทางการบริหารการเงินสร้างได้
ปัญหาหนักใจของคนต้องการบรรลุเป้าหมายการบริหารการเงินที่ตั้งใจปรับปรุงตัวหรือพัฒนาศักยภาพบางอย่างให้กับตัวเอง คือ การสร้างวินัยในตัวเอง (Self-Discipline)
ปัจจัยสำคัญที่ช่วยในการส่งเสริมวินัย ประกอบด้วย 2 ปัจจัยดังนี้
1. กำลังใจ (Willpower) หรือสิ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการกระทำ โดยกำลังใจมาจากทั้ง แรงดึง และแรงดัน
1.1 แรงดึงที่มาจากความต้องการภายใน เช่น การกระทำใดๆ ที่สร้างให้ชีวิตเราเกิดความั่นคง ปลอดภัย และเกิดการยอมรับในสังคม
1.2 แรงดึงที่มาจากความศรัทธา เช่น ความเชื่อมั่นในศาสนา (ความดี ความถูกต้อง) ความเชื่อมั่นในตัวบุคคล หรือ ความเชื่อมั่นในหลักการ ทฤษฎี หรือปรัชญาใดๆ
1.3 แรงดันอันมาจากเงื่อนไขที่จำเป็น เช่น การถูกผูกมัดด้วยสัญญา ข้อกฎหมาย เช่น การต้องรายงานตัวต่อศาล เพื่อแสดงหลักฐานการประพฤติปฏิบัติที่ดีขึ้น หรือการต้องเก็บเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทุกเดือนแบบอัตโนมัติ เพราะเป็นข้อบังคับให้ทำและไม่สามารถยกเว้นได้
1.4 แรงดันอันมาจากเงื่อนไขที่ทำให้กลัว เช่น ความกลัวความสูญเสียจากอุบัติเหตุ จึงทำให้ต้องทำประกัน และจ่ายเบี้ยประกันอย่างสม่ำเสมอ ความกังวนห่วงบุตรหลานมีอนาคตไม่สดใส จึงตั้งใจเก็บหอมรอมริบ ส่งเขาเหล่านั้นให้ได้เรียนสูงๆ
2. ค่านิยม ( Value) หรือเราอาจเรียกว่าเป็นมาตรฐานของสังคม หรือคนส่วนใหญ่ ที่ช่วยให้เราคงพฤติกรรมใดๆ ให้เป็นไปตามที่สังคมยอมรับหรือที่สังคมยึดถือปฏิบัติกัน เช่น ในบางสังคมจะมีค่านิยมทางวัตถุ ต้องมีของใหม่ ทันสมัย ใช้สอย อวดประชันกัน ด้วยค่านิยมเช่นนี้ ก็จะทำให้เราตั้งใจซื้อหาและยอมเสียความสบายบางส่วนเพื่อแลกกับวัตถุที่เป็นที่นิยมของสังคม และยอมมีวินัยกับการผ่อนซื้อสินค้าเหล่านั้น หรือในบางสังคมที่มีค่านิยมในการเก็บหอมรอมริบ กับทุกครั้งที่มีรายได้เข้ามา ก็จะทำให้คนในสังคมนั้น มีวินัยในการเก็บเงิน โดยอัตโนมัติ
ปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนวินัยการบริหารการเงิน ประกอบด้วย 3 ปัจจัยดังนี้
1. การเสียขวัญ และกำลังใจ เช่น การรู้สึกถึงความไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ได้รับการยอมรับ หรือ การไม่ได้รับผลตอบแทนที่ควรจะได้ (เช่นในภาวะเศรษฐกิจตก หุ้นตก กองทุนผลตอบแทนลด) เหล่านี้จะทำให้เราหยุดการกระทำที่ควรทำ อันจะนำไปสู่การไม่สามารถรักษาวินัยที่ดีไว้ได้
2. ความจำเป็น อันเกิดมาจากการถูกบังคับข่มขู่ ความขัดสน การต้องตอบแทนพระคุณ หรือการถูกล่อลวง
3. กิเลส อันมาจากความอยาก ความประมาท ความเห่อ ความคับข้องใจ ฯลฯ
การบริหารการเงินในภาวะวิกฤติ COVID-19
1. สำรวจสินทรัพย์ เงินสำรองฉุกเฉิน
สำรวจสินทรัพย์ที่มีทั้งหมด เพื่อดูว่าเรามีสินทรัพย์อะไรบ้าง และอยู่ที่ใด เช่น เงินฝากธนาคาร สลากออมสิน ประกันชีวิต บ้าน ที่ดิน รถยนต์ ของใช้ส่วนตัว เงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ เช่น กองทุนรวม หุ้นสามัญ ตราสารหนี้ ฯลฯ แบ่งกลุ่มออกเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องและไม่มีสภาพคล่อง เพื่อประเมินว่าสินทรัพย์ใดที่พอจะแปลงเป็นสภาพคล่องหรือเปลี่ยนเป็นเงินได้เร็ว โดยใช้มูลค่าสินทรัพย์ในปัจจุบันหากเราต้องการแปลงสภาพเป็นเงินในทันที เพื่อดูว่าเราจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างน้อยกี่เดือนจากเงินที่มี ในกรณีที่ไม่มีรายได้เข้ามา
2. จัดการเรื่องหนี้สินไม่ให้เป็นภาระ
บริหารจัดการหนี้ให้เหมาะสม สรุปหนี้สินทั้งหมดที่เรามี ไม่ว่าจะหนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต มีมูลค่าคงเหลืออยู่เท่าไหร่ อัตราดอกเบี้ยเป็นเท่าใด และมีภาระที่ต้องผ่อนชำระในแต่ละเดือนเป็นอย่างไร
3. ทำงบประมาณควบคุมการใช้จ่าย
วางแผนการเงินด้วยการทำงบประมาณรายได้และค่าใช้จ่ายในอีก 6 - 12 เดือนข้างหน้า กำหนดสมมติฐานว่าหากสถานการณ์ยังอยู่แบบนี้ไปอีก 3 - 6 เดือน หากต้องออกจากงานแล้วขาดรายได้ หรือมีรายได้ลดลง ลองประเมินรายได้ และนำไปเทียบกับค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนคอนโด ผ่อนรถ ผ่อนบัตรเครดิต ค่าอาหาร ค่าน้ำค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าสมาชิกฟิตเนต ฯลฯ หักลบแล้วมีกระแสเงินสดสุทธิเท่าไร เพียงพอหรือไม่
4. ใช้จ่ายอย่างมีสติ หยุดฟุ่มเฟือย ไม่ก่อหนี้เพิ่ม
ถ้าสิ่งที่กำลังจะซื้อไม่จำเป็นจริงๆ ณ เวลานี้ แนะนำอย่าเพิ่งรีบซื้อ ลดรายจ่ายฟุ่มเฟือยต่างๆ งดกิจกรรมการท่องเที่ยว สังสรรค์หรือช็อปปิ้ง ให้แต่ละเดือนเหลือเพียงรายจ่ายที่จำเป็น จะได้เหลือเงินเพิ่มมากขึ้น ในช่วงนี้อย่าพยายามทำอะไรที่จะต้องมีภาระหนี้สินตามมา ค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่อะไรที่ชะลอได้หรือเลื่อนได้ แนะนำให้เลื่อนออกไปก่อน เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ เพราะจะสร้างภาระในอนาคตในสภาวะที่รายได้ไม่แน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตราย
5. ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม
ใช้โอกาสนี้ในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ที่จะช่วยเพิ่มพูนทักษะและความสามารถให้กับตัวเอง รวมไปถึงหาช่องทางในการสร้างรายได้เสริม
สรุป
การบริหารการเงินส่วนบุคคลในช่วงวิกฤติ สามารถทำให้เราสามารถบริหารจัดการเงินให้เป็นระเบียบจะทำให้เห็นช่องทาง เห็นแนวทางในการปรับปรุง เพราะในช่วงวิกฤตินี้ทุกคนล้วนแต่มีความเครียด การบริหารทางการเงินอาจมีการผิดพลาดได้สูง หลักการพื้นฐานในการบริหารการเงินส่วนบุคคล ขั้นตอนในการบริหารการเงิน วินัยทางการบริหารการเงิน จึงเป็นสิ่งที่ควรศึกษาให้บริหารจัดการเงินเป็นระบบ มีการวางแผน เพื่อให้มีสภาพคล่อง มีเงินกินอยู่ใช้จ่ายเพียงพอที่จะผ่านช่วงชีวิตที่ยากลำบากไปได้ ซึ่งเราไม่อาจทราบว่าช่วงวิกฤตโรคระบาดที่ยังไม่แน่นอนว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ จึงต้องมีการจัดทำงบประมาณใช้จ่ายล่วงหน้า ลดรายจ่ายและภาระผ่อน รักษาสุขภาพ ลดความเสี่ยงค่าใช้จ่าย หารายได้เสริม รักษาวินัยทางการเงิน ควบคุมการใช้จ่ายให้เป็นไปตามแผน การวางแผนการใช้จ่ายให้เหมาะสมจะทำให้มีเงินใช้จ่ายเพียงพอ และการป้องกันความเสี่ยงทางการเงินก็เป็นแนวทางการมีชีวิตรอดของคนและเพื่อป้องกันผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันและความมั่นคงของชีวิต หากบุคคลให้ความสำคัญกับการบริหารการเงินส่วนบุคคลที่เหมาะสมจะทำให้รอดผ่านวิกฤตไปได้ด้วยดี อย่างไรก็ตามภาวะวิกฤตอาจไม่ได้เลวร้ายไปเสมอ อาจเป็นช่วงเวลาที่ดีที่บุคคลได้เรียนรู้ทักษะการบริหารการเงินส่วนบุคคลที่เพิ่มมากขึ้น
ข้อเสนอแนะ
เนื่องจากบทความฉบับนี้จัดทำขึ้นจากการพิจารณา ศึกษา ค้นคว้า และสรุปที่ได้จากการรวบรวมข้อมูลมาจากบทความในสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ บทความทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารการเงินส่วนบุคคลในช่วงวิกฤติเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้มีประสิทธิภาพมีความมั่นคงในการเงินส่วนบุคคล ทั้งนี้การบริหารการเงินของแต่ละบุคคลอาจมีวิธีการที่แตกต่างกันตามความเหมาะสม ซึ่งสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ทราบการบริหารการเงินแบบใดเหมาะสม และเป็นแนวทางได้มากยิ่งขึ้น
บรรณานุกรม
กฤษฎา เสกตระกูล. (2553). การวางแผนการเงินส่วนบุคคล: เมื่อประชาชนมั่งคั่ง ประเทศชาติก็มั่นคง. วารสารสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ.
กาญจนา หงส์ทอง. (2551). เข็มทิศการเงิน. กรุงเทพธุรกิจ Bizbook.
ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2563, มีนาคม). มาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อสำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19. ข่าว ธปท. ฉบับที่17/2563.
ธีรพัฒน์ มีอำพล. (2564). จัดการเงินในช่วงวิกฤติ ให้ชีวิตรอด. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์ : https://www.set.or.th/set/education/knowledgedetail.do?contentId=6882&type=article
วีระพล บดีรัฐ. (2553). วินัยทางการเงินสร้างได้. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์ : https://www.set.or.th/set/education/knowledgedetail.do?contentId=530&type=article
ศรัญรัตน์ เปลี่ยนเป้า. (2561.) ปัจจัยที่มีผลต่อการบริหารการเงินส่วนบุคคลของพนักงานธนาคารกรุงเทพฯ สำหนักงานใหญ่. บทความ คณะบริหารธุรกิจ, มหาวิทยาลัยรามคำแหง
สถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. (2552). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการวางแผนทางการเงิน. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2564, จากเว็บไซต์ :
https://www.set.or.th/yfs/main/download/YFS2017_YFSCamp_FinPL_Reading05.pdf