การตรวจสอบบัญชีในยุคที่ดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์เริ่มมีบทบาทมากขึ้น

UploadImage
 
UploadImage

การตรวจสอบบัญชีในยุคที่ดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์เริ่มมีบทบาทมากขึ้น
AUDITING IN AN AGE WHERE DIGITAL AND ARTIFICIAL
INTELLIGENCE ARE BECOMING MORE AND MORE IMPORTANT.
ดาวเรือง โสภะ
Daowraung Sopa
E-mail : Sopa.daowraung@gmail.com
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม
 
บทคัดย่อ
            การปรับตัวของวิชาชีพตรวจสอบบัญชีในยุค New Normal ที่ผู้รับบริการตรวจสอบบัญชีเริ่มมีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาปรับใช้กับงานบัญชี ที่เห็นได้ชัดเจนคือการประชุมร่วมกันของผู้บริหารและทีมตรวจสอบเดิมจะเป็นการนัดประชุมแบบพบเจอกัน แต่ปัจจุบันนั้นจะเป็นการประชุมหารือกันผ่าน Microsoft Team หรืออีกเหตุการณ์ที่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน คือการสังเกตการณ์การตรวจนับสินค้าของกิจการ ซึ่งผู้สอบบัญชีจะต้องสังเกตการณ์ผ่านการวิดีโอคอล เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 เห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้ตรวจสอบจะต้องหาวิธีการอื่นเข้ามาทดแทนการตรวจสอบบัญชีแบบเดิม ดังนั้นผู้ตรวจสอบจะต้องพัฒนาทักษะเดิมที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเป็นการควบคุมประสิทธิภาพของงานตรวจสอบนั้นให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น และยังต้องพัฒนาทักษะเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้การตรวจสอบนั้นมีวิธีการตรวจสอบที่ครอบคลุมกับยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการปรับตัวให้ทันกับยุคดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในปัจจุบันมากขึ้นนั้น นอกจากจะส่งผลให้งานสอบบัญชีมีประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือแล้ว ยังเป็นการสร้างค่านิยมหรือมูลค่าให้กับวิชาชีพตรวจสอบบัญชีอีกด้วย ดังนั้นไม่จำเป็นจะต้องงานด้านตรวจสอบบัญชีเพียงอาชีพเดียวที่ควรปรับตัว วิชาชีพบัญชีด้านอื่น ๆ ก็ควรปรับตัวอย่างยิ่งเพื่อเป็นการสร้างมูลค่าให้กับวิชาชีพ
คำสำคัญ : การตรวจสอบบัญชี, ยุคดิจิทัล, ปัญญาประดิษฐ์
 
Abstract
          Adaptation of the auditing profession in the New Normal era where the auditors have begun to adopt various technologies to adapt to the accounting work. It is evident that the meeting of the management and the audit team was originally a face-to-face meeting. But at present, it will be a meeting through Microsoft Team or another event that sees a clear change. is to observe the counting of the company's goods which the auditor must observe through video call due to the spread of covid-19 virus. Obviously, auditors need an alternative to the traditional audit method. Therefore, inspectors must improve their existing skills. In order to control the efficiency of inspection, improve reliability and improve skills all the time. In order to check, there is a comprehensive inspection method and current changes. With the development of digital and artificial intelligence, there are more and more roles. In addition to effective and reliable accounting. It also creates value or audit expertise. Therefore, it does not need a single audit work and should adapt to other accounting professions. They should adjust their professional values.
Keywords : Auditing, Digital, Artificial Intelligence
 
บทนำ
          ในปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันและมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นมีอิทธิผลต่อการดำรงชีวิตและทักษะวิชาชีพของหลาย ๆ อาชีพเช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าวิชาชีพที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างวิชาชีพบัญชีนั้นก็ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน ซึ่งเมื่อปีค.ศ.1950 มีการคิดค้นงานวิจัยเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ซึ่งกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับ AI และเริ่มต้นฝึกฝนด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อเป็นการเลียนแบบกระบวนการความคิดเป็นเหตุเป็นผลของมนุษย์ ต่อมาได้ทดลองนำไปใช้กับเครื่องจักรซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากเพราะการทำงานของ AI นั้นสามารถทำงานได้อย่างอัตโนมัติ มีประสิทธิภาพ และมีชิ้นงานปริมาณมากในระยะเวลาที่เหมาะสม แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจเนื่องจากยังจำเป็นต้องใช้มนุษย์ในการติดตั้งระบบและป้อนคำสั่งให้อยู่ ต่อมา AI ถูกเพิ่มความชาญฉลาดเข้าไปเรื่อย ๆ จนสามารถเรียนรู้จากอัลกอรึธึมการเรียนรู้แบบก้าวหน้า (Progressive) ในการนำข้อมูลมาเขียนคำสั่งโปรแกรม AI เพื่อค้นหาโครงสร้างและความสม่ำเสมอของข้อมูล และทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกได้มากกว่าและลึกกว่าโดยใช้เครือข่ายประสาทเทียม (Neural Network) ที่มีหลายชั้นซึ่ง AI สามารถสร้างความแม่นยำได้อย่างเหลือเชื่อโดยการประมวลผลจากข้อมูลที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด
          จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าทั้งเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกพัฒนาให้มีความชาญฉลาดขึ้นเรื่อย ๆ นั้นอาจถูกนำเข้ามาแทนที่วิชาชีพตรวจสอบบัญชีก็เป็นได้ ซึ่งอนาคตวิชาชีพสอบบัญชีอาจมีความจำเป็นแค่เพียงผู้สอบบัญชีคนเดียวเท่านั้นที่ทำหน้าที่แสดงความเห็นหน้ารายงานที่มีต่องบการเงิน ซึ่งการตรวจสอบอาจถูกนำ AI เข้ามาเป็นตัวช่วยสำคัญในการตรวจสอบบัญชีของกิจการ ซึ่งอาจมีความแม่นยำและมีความรอบคอบมากกว่า แต่สิ่งที่ AI ยังไม่สามารถทำได้สำหรับวิชาชีพสอบบัญชีคือการใช้วิจารณญาณเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีในการตัดสินใจ และใช้ประสบการณ์จากที่เคยตรวจสอบมาเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในแต่ละประเด็นที่พบเจอจากการตรวจสอบ ดังนั้น การปรับตัวและเพิ่มทักษะใหม่ ๆ ด้วยการเรียนรู้เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตนั้นถือเป็นสิ่งที่ควรทำและไม่จำเป็นเฉพาะแค่อาชีพตรวจสอบบัญชีเท่านั้น แต่ผู้ทำบัญชี นักบัญชีบริหาร นักบัญชีต้นทุน หรือนักบัญชีภาษีอากรก็ควรปรับตัวเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้ตนเองเช่นกัน เพราะการที่เทคโนโลยีนั้นถูกเปลี่ยนแปลงเหมือนกันทั่วโลกทำให้การนำเทคโนโลยีและ AI เข้ามาบูรณาการเข้ากับงานตรวจสอบบัญชีนั้นจะต้องเชื่อมโยงกันทุกฝ่ายเพื่อให้รายงานทางการเงินนั้นออกมาอย่างมีประสิทธิภาพและคงความน่าเชื่อถือ ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานตรวจสอบบัญชีจะต้องพัฒนาไปพร้อม ๆ กันและไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องนั้นจะประกอบไปด้วย 3 ฝ่าย คือ ลูกค้าที่ใช้บริการงานสอบบัญชี สำนักงานตรวจสอบบัญชี และสุดท้ายคือหน่วยงานสนับสนุนอย่างสภาวิชาชีพบัญชี
             สำหรับบทความนี้ ผู้ศึกษาเน้นศึกษาการตรวจสอบบัญชีในยุคที่ดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นกับงานตรวจสอบบัญชี เพื่อเป็นการศึกษาแนวทางการนำเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมาบูรณาการเข้ากับงานตรวจสอบบัญชี และเพื่อทำความเข้าใจและพัฒนาทักษะในด้านเทคโนโลยีและนำไปต่อยอดในงานตรวจสอบบัญชี ตลอดจนเสนอแนะแนวทางในการปรับตัวและการนำข้อมูลมาบูรณาการให้เป็นเรื่องเดียวกันกับเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเป็นประโยชน์แก่สำนักงานตรวจสอบบัญชี ผู้สอบบัญชี ผู้รับบริการตรวจสอบบัญชี ตลอดจนหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
 
วัตถุประสงค์
  1. เพื่อศึกษาแนวทางการนำเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมาบูรณาการเข้ากับงานตรวจสอบบัญชี
  2. เพื่อทำความเข้าใจและพัฒนาทักษะในด้านเทคโนโลยีและนำไปต่อยอดในงานตรวจสอบบัญชี
 
เนื้อหาของบทความ
          การตรวจสอบบัญชี
          การสอบบัญชี (Audit) คือ การตรวจสอบสมุดบัญชีของธุรกิจนั้น ๆ ตลอดจนเอกสารประกอบการบันทึกบัญชี รวมทั้งหลักฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบันทึกบัญชีว่าได้ปฏิบัติตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปอย่างถูกต้องหรือไม่ ซึ่งการรับรองว่าธุรกิจนั้นได้ปฏิบัติไปตามมาตรฐานรายงานทางการเงินหรือไม่นั้นต้องเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (Certified Public Accountant) หรือที่เราคุ้นเคยกันดีกับคำว่า Auditor เท่านั้นที่จะสามารถแสดงความเห็นต่องบการเงินของธุรกิจนั้น ๆ ได้ แต่ก่อนที่ผู้สอบจะแสดงความเห็นได้นั้นต้องทำการตรวจสอบตามกระบวนการสอบบัญชีเสียก่อน จึงจะสามารถสรุปผลการตรวจสอบและแสดงความเห็นได้ ซึ่งกระบวนการสอบบัญชีนั้นมีด้วยกัน 3 ขั้นตอน ดังนี้
          ขั้นตอนที่ 1 การวางแผนตรวจสอบ โดยจะเริ่มตั้งแต่ประเมินความเสี่ยงก่อนตอบรับงาน รวบรวมข้อมูลและทำความเข้าใจในธุรกิจที่ทำการตรวจสอบ ตลอดจนกำหนดขอบเขตการปฏิบัติงาน วิธีการตรวจสอบ และระยะเวลาในการตรวจสอบ
          ขั้นตอนที่ 2 การปฏิบัติงานตรวจสอบ จะประกอบไปด้วย การทดสอบระบบควบคุมภายในของกิจการ ได้แก่ วงจรรายได้ วงจรรายจ่าย วงจรการผลิตและวงจรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและการตรวจสอบเนื้อหาสาระของยอดคงเหลือ ณ สิ้นปีจะประกอบไปด้วยหมวดสินทรัพย์ หนี้สิน ทุน รายได้ และค่าใช้จ่าย
          ขั้นตอนที่ 3 เมื่อเสร็จสิ้นการสอบบัญชีแล้วก็เข้าสู่กระบวนการประเมินผลจากหลักฐานการสอบบัญชี นำเสนอรายการที่ผิดพลาดหรือไม่ถูกต้องตามหลักบัญชีให้แก่กิจการได้แก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าว และทำการออกรายงานการสอบบัญชี
 
แนวคิดเกี่ยวกับ Big Data
Dumbill (2012) ได้ให้คำนิยามศัพท์เกี่ยวกับ Big Data เอาไว้ว่าเป็นข้อมูลต่าง ๆ ในการตัดสินใจรวมถึงองค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องอาศัยการวิเคราะห์ การรวบรวมข้อมูลทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร เพื่อช่วยในการดำเนินงาน การประมวลผล การวางแผนและการตัดสินใจเชิงธุรกิจ ตลอดจนเพื่อใช้สร้างมูลค่าทางธุรกิจ เพื่อให้มีข้อได้เปรียบในการแข่งขัน ตลอดจนช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ และช่วยในการกำหนดและวางแผนเชิงรุกของการทำงานในอนาคต แต่เนื่องด้วยในยุคปัจจุบันโลกเริ่มเข้าสู่ยุคระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลมากขึ้น และเทคโนโลยีได้รับการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งนำมาซึ่งปรากฏการณ์ที่สำคัญประการหนึ่งคือการเกิดขึ้นของชุดข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data นอกจากนี้ยังให้นิยามของ Big Data ว่ามีคุณลักษณะ 4 ประการ ดังนี้
1. ด้านปริมาตรหรือการบรรจุ (Volume) หมายถึง ข้อมูลที่มีปริมาณมากมายมหาศาลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจหรือการพยากรณ์อนาคต ซึ่งโครงสร้างของระบบฐานข้อมูลไม่สามารถที่จะจัดเก็บข้อมูลมหาศาลเหล่านั้นได้ จึงต้องมีการจัดทำโปรแกรมสำหรับการจัดเก็บข้อมูลเหล่านั้นให้เหมาะสมกับการนำเข้าสู่กระบวนการประเมินผลต่อไป
2. ด้านความเร็ว (Velocity) หมายถึง อัตราการเพิ่มขึ้นของข้อมูลที่เข้าสู่ระบบฐานข้อมูล (Data Based) ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือที่ผู้ใช้นำมาเก็บเป็นข้อมูลทั้งภาพถ่าย ข้อความสนทนา ภาพเคลื่อนไหว การอัดเสียง เป็นต้น ซึ่งจะต้องถูกนำเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลอย่างรวดเร็ว
3. ด้านความหลากหลายในรูปแบบ (Variety) คือ ข้อมูลที่มีรูปแบบที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่นธุรกิจการค้าขายที่มีการสั่งซื้อสินค้า ข้อมูลสินค้าคงคลัง ซึ่งข้อมูลที่หลากหลายเหล่านี้จะเป็นทั้งในตัวของข้อมูลเอง หรืออาจเป็นความหลากหลายในชนิดของข้อมูลนั้น ๆ ดังนั้นการใช้ข้อมูลจะต้องผ่านการวิเคราะห์ และสร้างความสัมพันธ์กับตัวแปรและแหล่งที่มาเพื่อนำไปสู่การปะมวลผลที่รวดเร็วและทันเวลา
4. ด้านความถูกต้องแม่นยำ (Veracity) เนื่องจากข้อมูลในฐาน Big Data ที่มีความหลากหลาย และอาจมีขนาดใหญ่ และต้องการความเร็วในการใช้งาน ซึ่งการนำมาใช้อาจเกิดข้อผิดพลาด (Error) ในระหว่างการสร้างข้อมูล จึงจำเป็นต้องมีการทดสอบและดำเนินการที่ซ้ำซ้อน เพื่อให้ได้มาซึ่งความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลจาก Big Data
โสภณ เพิ่มศิริวัลลภ (2559) ได้กล่าวถึง Big Data กับวิชาชีพสอบบัญชีเอาไว้ว่า นวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ได้เข้ามาช่วยในการตรวจสอบบัญชีเพิ่มขึ้นในขั้นตอนต่าง ๆ ของกระบวนการตรวจสอบบัญชี ซึ่งในอนาคตเราอาจจะได้เห็นการทดสอบการควบคุมภายใน (Test of Control) ที่กระทำโดยคอมพิวเตอร์ (โปรแกรม Robotics) เช่น การทดสอบระบบควบคุมการจ่ายเงิน (Cash Disbursement System) โดยเพียงแต่ขอให้ลูกค้านำแฟ้มข้อมูลรายการจ่ายเงิน (Disbursement Data File) และแฟ้มข้อมูลการบันทึกบัญชีแยกประเภท (General Ledger Data File) ของรายการจ่ายเงินทุกรายการ (ร้อยละ 100) ที่เกิดขึ้นในเดือนต่าง ๆ ที่ต้องการตรวจสอบ โดยผู้ช่วยผู้ตรวจสอบบัญชีมีหน้าที่เพียงแต่ดำเนินการนำข้อมูล (Data Capture) มาให้อยู่ในรูปแบบที่โปรแกรม Robotics สามารถประมวลผลได้ ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวจะดำเนินการทดสอบการควบคุมภายในหรือตรวจสอบจุดควบคุมต่าง ๆ ของระบบการจ่ายเงินที่กิจการได้ออกแบบไว้ เพื่อประเมินว่าการจ่ายเงินที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมดได้เกิดขึ้นและดำเนินการเป็นไปตามระบบการควบคุมภายในที่กิจการได้ออกแบบไว้ การทดสอบการควบคุมที่เคยดำเนินการตรวจสอบด้วยมนุษย์และเลือกรายการเพียงบางส่วน เช่น เลือก 25 รายการขึ้นมาทดสอบนั้นจะถูกแทนที่ด้วยคอมพิวเตอร์ และเป็นการตรวจสอบทั้งร้อยละ 100 ของรายการธุรกิจที่เกิดขึ้น งานการตรวจสอบบัญชีสำหรับรายการธุรกิจที่มีลักษณะต้องทำซ้ำ ๆ กันเป็นประจำ (Routine Data Process) หรือที่เป็นการตรวจสอบการเปรียบเทียบเอกสารหนึ่งกับอีกเอกสารหนึ่ง หรือการตรวจสอบว่าเอกสารเหล่านี้ว่าเคยผ่านขั้นตอนหรือผ่านการจัดทำ การตรวจทานหรือผ่านการอนุมัติโดยผู้มีอำนาจ การตรวจสอบว่าการแบ่งแยกหน้าที่เป็นไปอย่างเหมาะสม โดยโปรแกรม Robotics จะทำการทดสอบได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว ไม่รู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนล้ากับปริมาณรายการที่จะต้องตรวจสอบ หรือกล่าวได้ว่าในอนาคตงานตรวจสอบบัญชีทั้งหลายที่มีลักษณะต้องทำซ้ำ ๆ มีขั้นตอนการตรวจสอบที่กำหนดไว้ชัดเจนและไม่ต้องใช้ดุลยพินิจใด ๆ มีปริมาณมาก ๆ จะถูกทดแทนด้วยคอมพิวเตอร์
AICPA (2015) และ International Auditing and Assurance Standard Board ’s Data Analytics Working Group ได้กล่าวว่าในปัจจุบัน Data Analytic สามารถนำมาบูรณาการเพื่อใช้ใน 4 กระบวนการหลักของการสอบบัญชี คือ การประเมินความเสี่ยง การทดสอบระบบควบคุมภายใน การวิเคราะห์เปรียบเทียบเพื่อการตรวจสอบเนื้อหาสาระ และการตรวจสอบเนื้อหาสาระของรายการและยอดคงเหลือ เป็นต้น
สรุปผลเกี่ยวกับ Big Data นั้นเป็นการนำข้อมูลที่มีขนาดใหญ่มหาศาล หรือมีปริมาณมาก ๆ ขององค์กรที่เกินขีดความสามารถในการประมวลผลบนระบบฐานข้อมูลแบบเดิมมาผ่านกระบวนการประมวลผล วิเคราะห์ผล และเลือกแสดงผลด้วยวิธีการที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านการเงิน ข้อมูลด้านผลการดำเนินงาน ซึ่งการประมวลผลนั้นมีส่วนช่วยให้การตัดสินใจเชิงธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ และทันต่อการใช้งาน
แนวคิดเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์
          อภิชาต หัตถนิรันต์ (2555) ได้ให้คำนิยามของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) เอาไว้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่ต้องรับคำสั่งเพื่อให้สามารถทำงานให้ได้อย่างรวดเร็วภายใต้หน่วยความจำที่มีขนาดใหญ่ หรือหมายถึงการทำให้คอมพิวเตอร์สามารถคิดหาเหตุผลได้ เรียนรู้ได้ และทำงานได้เหมือนสมองของมนุษย์ ซึ่งการทำงานมีลักษณะเช่นเดียวกันกับการประมวลผลของสมองมนุษย์ ดังนั้นความสามารถของคอมพิวเตอร์ทางด้านสติปัญญาและด้านพฤติกรรมจึงมีลักษณะคล้ายกับมนุษย์ นอกจากนี้ปัญญาประดิษฐ์ยังถูกจัดกลุ่มออกเป็น 4 กลุ่ม (วริศรา กิจมหาตระกูล, 2561) ดังนี้
          1. ระบบที่คิดเหมือนมนุษย์ (Thinking Humans) คือ ปัญญาประดิษฐ์ที่มีกระบวนการทางความคิดเหมือนมนุษย์ ทั้งเรื่องความสามารถในการเรียนรู้ และการแก้ปัญหา หรือการตัดสินใจในเรื่อง ๆ นั้นได้เช่นเดียวกันกับมนุษย์
          2. ระบบที่กระทำเหมือนมนุษย์ (Acting Humans) คือ ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถกระทำการต่าง ๆ ได้เหมือนมนุษย์ เช่น การสื่อสารด้วยภาษาที่มนุษย์ใช้ การเคลื่อนย้ายวัตถุ หรือการเคลื่อนไหวซึ่งจะมีประสาทสัมผัสและนำไปประมวลผล เพื่อเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม เป็นต้น
          3. ระบบที่คิดอย่างมีเหตุผล (Thinking Rationally) คือ ปัญญาประดิษฐ์ที่มีตรรกะทางความคิดอย่างมีเหตุผล หรือคิดได้อย่างถูกต้อง เช่น ใช้หลักตรรกศาสตร์ในการคิดหาคำตอบอย่างมีเหตุผล เช่น ระบบผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น
          4. ระบบที่กระทำอย่างมีเหตุผล (Acting Rationally) คือ ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถแสดงพฤติกรรมที่แสดงปัญญาในสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น โปรแกรมที่มีความสามารถในการกระทำ หรือเป็นตัวแทนในระบบอัตโนมัติต่าง ๆ สามารถกระทำอย่างมีเหตุผลเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ เช่น รถยนต์อัตโนมัติที่ต้องขับเคลื่อนไปยังสถานที่หมายอย่างปลอดภัยในเวลาที่รวดเร็วที่สุด โดยเลือกเส้นทางที่ระยะสั้นหรือใช้เวลาน้อยที่สุด เป็นต้น
          ซึ่ง กิตติ เตชะเกษมบัณฑิตย์ (2563) ได้กล่าวเอาไว้ว่านวัตกรรมคืออนาคตของการตรวจสอบบัญชี ซึ่งมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการในการบรรลุวัตถุประสงค์การตรวจสอบโดยใช้เวลาที่น้อยลงหรือต้องการบรรลุวัตถุประสงค์ในการตรวจสอบตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการสอบบัญชี รายการที่ตรวจสอบมีความซับซ้อน เกี่ยวข้องกับข้อมูลปริมาณมากที่ไม่สามารถใช้การดำเนินการด้วยวิธีการตรวจสอบแบบเดิมได้หรือทำได้แต่ก็ไม่มีประสิทธิผล ดังนั้นสำนักงานสอบบัญชีจึงควรนำเทคโนโลยีมาบูรณาการเข้ากับงานตรวจสอบ ดังนี้
          1. การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) เข้ามาช่วยในงานตรวจสอบบัญชี เนื่องจาก ปริมาณของข้อมูลและคุณภาพของข้อมูลที่จะตรวจสอบมีเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากความซับซ้อนทางธุรกิจ ดังนั้น เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดทางธุรกิจ จึงเปิดโอกาสให้เกิดการค้นคว้าอย่างต่อเนื่องที่จะใช้ข้อมูลที่มีอยู่ในการตรวจสอบอย่างไรจึงจะให้เกิดประโยชน์และลดเวลาในการตรวจสอบให้มากที่สุด ซึ่งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่นำมาใช้ประโยชน์ในการจัดการลักษณะนี้ ซึ่งเทคนิคปัญญาประดิษฐ์ที่เด่นชัดที่สุดในการนำมาใช้ในการตรวจสอบเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่กล่าวไว้ โดยลักษณะการทำงานจะใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่นำเข้าผ่านการจดจำรูปแบบขั้นสูง (Advanced Pattern Recognition) โดยผู้สอบบัญชีสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ดังนี้
                     1.1 วิเคราะห์ข้อมูลจากกลุ่มข้อมูลขนาดใหญ่ที่ไม่มีโครงสร้าง เช่น ข้อมูลจากสัญญาทางการค้า ใบแจ้งหนี้และรูปภาพ เพื่อสรุปเป็นข้อมูลที่ให้ประโยชน์สำหรับการสนับสนุนการตรวจสอบเพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจสอบเพิ่มเติมต่อไป
                     1.2 วิเคราะห์ชุดข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อช่วยผู้สอบบัญชีระบุและประเมินความเสี่ยง และวางแผนการตรวจสอบเพื่อตอบสนองต่อความเสี่ยงของการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญเนื่องจากการทุจริตที่ผู้สอบบัญชีได้ระบุไว้ในช่วงของการประเมินความเสี่ยง
          2. การนำเทคโนโลยีบล็อคเชน (Blockchain) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในงานตรวจสอบ โดยเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ใช้สำหรับการตรวจสอบนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้ปฏิบัติงานตรวจสอบที่ดำเนินการตรวจสอบกิจการที่มีส่วนร่วมในการทำธุรกรรมบล็อกเชน โดยสามารถดึงข้อมูลจากบัญชีแยกประเภทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงข้อมูลบิตคอยน์หรือคริปโทเคอร์เรนซีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การพัฒนาเครื่องมือดังกล่าวนี้ ส่วนหนึ่งได้อาศัยการอ้างอิงจากประสบการณ์ของผู้สอบบัญชีที่มีกับลูกค้าต่าง ๆ ทั่วโลก ผสมผสานเข้าเป็นฟังก์ชั่นในการทำงานซึ่งรวมเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือหรือนวัตกรรมนั้น
          3. การนำเทคโนโลยีโดรน หรือ เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ที่มีลักษณะการทำงานเหมือนเครื่องบินแต่ไร้คนขับที่สามารถบังคับได้จากระยะไกล ซึ่งการนำเทคโนโลยีนี้เข้ามายกระดับในการตรวจสอบที่เห็นได้ชัดเจน คือการนำมาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าสังเกตการณ์การตรวจนับสินค้าคงเหลือของลูกค้า การริเริ่มใช้เทคโนโลยีนี้ชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการดำเนินงานตรวจสอบที่เพิ่มขึ้นอย่างมากและเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น เช่น การใช้โดรนในการวัดปริมาณของสำรองถ่านหิน ซึ่งหากเปรียบเทียบการใช้โดรนกับการสังเกตการณ์แบบดั้งเดิม จะเห็นได้ว่าการใช้โดรนสามารถเพิ่มระดับความแม่นยำในการวัดปริมาณได้มากขึ้นและลดเวลาในการดำเนินการลง
 
ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
          ชุตินุช อินทรประสิทธิ์ (2561) ศึกษาการสอบบัญชีในยุค Big Data พบว่า จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลให้เกิดคลังข้อมูลมากมายมหาศาลที่เป็นแหล่งทรัพยากรความรู้ให้กับทุกสาขาอาชีพหรือที่เราเรียกกันว่า Big Data การสอบบัญชีเป็นหนึ่งในสาขาวิชาชีพที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคของ Big Data เพื่อสร้างโอกาสในการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน และในขณะเดียวกันเพื่อลดภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นด้วยดังนั้นบทความฉบับนี้จึงได้จัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอภาพรวมของการสอบบัญชีในยุค Big Data โดยครอบคลุมหัวข้อที่สำคัญคือ ความรู้ ความเข้าใจขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับ Big Data ความหมายของ Big Data ในบริบทของงานสอบบัญชี ศาสตร์ของการวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับงานสอบบัญชีในยุค Big Data และข้อเสนอแนะในการบูรณาการ Big Data กับงานสอบบัญชีให้เกิดประสิทธิภาพที่ต้องพิจารณาอย่างรอบด้านทั้งในส่วนของผู้รับบริการสอบบัญชี สำนักงานสอบบัญชี และหน่วยงานสนับสนุน โดยแต่ละภาคส่วนควรทำความเข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่ของตนเอง รวมถึงผลกระทบของบทบาทและหน้าที่ของตนต่อการบูรณาการและสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้การบูรณาการเกิดประสิทธิภาพ คือการวางแนวทางในการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในลักษณะของการประสานความร่วมมือ (Collaborative) อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องซึ่งจะสร้างประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย ตัวอย่างเช่น ระหว่างผู้รับบริการสอบบัญชีและสำนักงานสอบบัญชีการประสานความร่วมมือกันอาจอยู่ในรูปแบบของการตรวจสอบแบบต่อเนื่อง (Continuous Audit) โดยสำนักงานสอบบัญชีจะได้รับความรู้ความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับผลกระทบของ Big Data ต่อรูปแบบธุรกิจที่ตรวจสอบ และนำมาใช้ในการปรับตัวของสำนักงานสอบบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของลูกค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงไป และเมื่อมีการทำงานประสานงานกันอย่างใกล้ชิดการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้รับบริการสอบบัญชีและสำนักงานสอบบัญชีจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสร้างความเข้าใจที่ตรงกันต่อวัตถุประสงค์และกระบวนการสอบบัญชีได้มากยิ่งขึ้น และสำหรับหน่วยงานสนับสนุนควรทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในเชิงรุก เช่นการพัฒนาหลักสูตรของสถาบันการศึกษาควรเน้นในลักษณะการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องเพื่อให้บุคคลากรมีความรู้และทักษะที่ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพขององค์กรวิชาชีพควรเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานในกลุ่มวิชาชีพ (Practitioner) ที่เกี่ยวข้อง เช่นผู้สอบบัญชี ผู้ตรวจสอบภายในผู้ออกแบบระบบงาน ผู้ตรวจสอบระบบสารสนเทศให้มีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนามาตรฐาน เพื่อให้มาตรฐานมีความทันสมัยและนำไปใช้ได้กับสถานการณ์จริง
 
          โสภณ เพิ่มศิริวัลลภ (2559) ศึกษากระแสแห่งนวัตกรรมทางเทคโนโลยีกับวิชาชีพบัญชี พบว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมในเชิงปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ต่าง ๆ เหล่านี้ อาจเป็นโอกาส(Opportunity) ต่อผู้สอบบัญชีที่มีการเตรียมพร้อมทั้งทัศนคติ การพัฒนาความรู้ ความชำนาญ และการนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ ในขณะเดียวกันก็อาจจะเป็นการคุกคาม (Threat) ต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้สอบบัญชีที่ไม่พร้อมที่จะรับรู้หรือไม่ยอมรับกระแสแห่งนวัตกรรมที่ได้เกิดขึ้นแล้ว และกำลังพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง
 
          นันทวรรณ บุญช่วย (2563) ศึกษายุคพลิกผันทางเทคโนโลยีกับการพัฒนานักบัญชีนวัตกร พบว่า นักบัญชีหากยังยึดติดอยู่กับกรอบการทำงานในรูปแบบมาตรฐานเดิม อาจต้องถูกท้าทายด้วยอิทธิพลของกระแสเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งได้แก่ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) และในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เข้ามาปรับใช้กับงานบัญชี ซึ่งจะช่วยลดข้อผิดพลาด ลดต้นทุน ลดเวลา ลดการทุจริต และเพิ่มความปลอดภัยขั้นสูงสุด ทำให้เกิดคำถามที่ว่า บุคลากรทางการบัญชีในองค์กรจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี AI หรือไม่และมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ AI จะเข้ามาแทนที่ได้เฉพาะงานบัญชีที่มีรูปแบบการทำงานเป็นมาตรฐานชัดเจน เช่น งานด้านเอกสารเท่านั้นขณะที่ระดับการวิเคราะห์ข้อมูลยังจำเป็นต้องมีนักบัญชีที่มีทักษะสูงในการดึงข้อมูลขององค์กรทั้งหมดมาวิเคราะห์เพื่อให้ได้ชุดข้อมูลที่สนับสนุนต่อการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร ดังนั้น นักบัญชีในยุคเทคโนโลยีพลิกผันต้องมีการพัฒนาทักษะใหม่ในอนาคตหรือที่เรียกว่า Reskill และต้องพัฒนาทักษะเดิมที่มีอยู่ให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นหรือที่เรียกว่า Upskill นอกจากนี้ นักบัญชียุคใหม่ยังต้องมีทักษะความเป็นหุ้นส่วนและความเป็นคู่คิดให้กับเจ้าของธุรกิจด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในธุรกิจและตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป และนักบัญชียุคใหม่ต้องประยุกต์ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล (Analytic Tool) และเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น ระบบอัตโนมัติ (Robotic Process Automation) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้งานบัญชีในระดับที่ส่งเสริมคุณค่า ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพขั้นสูงสุดในกระบวนการทำงาน จนสามารถสร้างนวัตกรรมได้ ทั้งหมดนี้ คือ นิยามบทบาทของ “นักบัญชีนวัตกร”
 
          ประโยชน์จากการนำเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์มาบูรณาการเข้ากับงานตรวจสอบให้มากขึ้น นั้นจะส่งผลดีในหลาย ๆ ด้าน เช่น
          1. สามารถลดระยะเวลาในการตรวจสอบข้อมูลที่มีปริมาณมาก ๆ ลงได้ อีกทั้งการนำเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้นั้น ทำให้การประมวลผลต่าง ๆ นั้นมีความแม่นยำมากขึ้นและตรวจสอบได้ในปริมาณที่เยอะขึ้น หรือสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ทั้งหมดถ้าหากต้องการ
          2. สามารถพบข้อผิดพลาดได้ในเวลาอันรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น การทดสอบระบบควบคุมภายในของวงจรรายได้แล้วต้องการทดสอบความสม่ำเสมอของการรันเลขที่ใบแจ้งหนี้ ก็สามารถที่จะทราบผลการทดสอบได้โดยการใช้เวลาเพียงนิดเดียว
          3. สามารถวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) เช่น ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลการใช้จ่ายเงินหรือวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญโดย AI จะประมวลผลจากคำสั่งต่าง ๆ และแสดงผลของค่าที่ผิดปกติออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำ และรวดเร็ว
 
สรุป
          จากลักษณะของเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกนำมาบูรณาการเข้ากับงานสอบบัญชีเป็นอย่างมากนั้นจะแสดงให้เห็นว่าการทำงานของ Big Data นั้นอาจมองได้ 2 ด้าน คือด้านที่เป็นโอกาส (Opportunity) สำหรับสำนักงานสอบบัญชีที่สนับสนุนให้องค์กรนั้นได้เรียนรู้และสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยการนำมาผสมผสานและช่วยในงานสอบบัญชีให้เกิดประโยชน์สูงสุดในงานสอบบัญชีและสำหรับอีกด้าน คือ ด้านการคุกคาม (Threat) ที่จะส่งผลในทางลบกับสำนักงานสอบบัญชีค่อนข้างมากถ้าหากสำนักงานสอบบัญชียังไม่นำเอาเทคโนโลยีและ Big Data เข้ามาบูรณาการกับงานสอบบัญชี ซึ่งอาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันขององค์กรนั้นลดลง หรือเป็นที่ต้องการของผู้รับบริการงานสอบบัญชีน้อยลงในอนาคต อันเนื่องมาจากการนำ Big Data เข้ามาช่วยในการประมวลผลนั้นจะส่งผลให้การตรวจสอบมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น และยังเป็นการลดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงานได้อีกด้วย ซึ่งในส่วนนี้จะส่งผลดีทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งในส่วนของผู้ให้บริการและผู้รับบริการงานสอบบัญชี
 
ข้อเสนอแนะ
เนื่องจากการศึกษาเกี่ยวกับ Big Data และ AI ในปัจจุบันยังมีผู้วิจัยไม่มาก ซึ่งที่พบส่วนใหญ่เป็นการศึกษาการปรับตัวและการรับมือของวิชาชีพบัญชี แต่ยังไม่พบงานวิจัยที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพของงบการเงินหลังจากที่ได้นำเอาเทคโนโลยีและ AI เข้ามามีส่วนร่วมในงานตรวจสอบเนื่องจากยังเป็นเรื่องที่ใหม่ ดังนั้น ผู้ที่จะนำบทความนี้ไปศึกษาเพิ่มเติมหรือต่อยอดความรู้จากการศึกษาครั้งนี้ ควรศึกษาถึงผลกระทบหรืออุปสรรคจากการนำ Big Data และ AI เข้ามาบูรณาการเข้ากับงานสอบบัญชี
 
บรรณานุกรม
กิตติ เตชะเกษมบัณฑิตย์. (2563). ยกระดับการตรวจสอบบัญชีด้วยนวัตกรรมการตรวจสอบ. วารสารวิชาชีพบัญชี.
ชุตินุช อินทรประสิทธิ์. (2561). การสอบบัญชีในยุค Big Data. วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.
นันทวรรณ บุญช่วย. (2563). ยุคพลิกผันทางเทคโนโลยีกับการพัฒนานักบัญชีนวัตกร. วารสารบริหารธุรกิจและสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคาแหง.
วริศรา กิจมหาตระกูล. (2561). แนวทางกำหนดมาตรการเพื่อควบคุมการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ในการสอบบัญชี. เอกัตศึกษา ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชากฎหมายเศรษฐกิจ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
โสภณ เพิ่มศิริวัลลภ. (2559). กระแสแห่งนวัตกรรมทางเทคโนโลยีกับวิชาชีพสอบบัญชี. วารสารวิชาชีพบัญชี, หน้า 59-62.
อภิชาติ หัตถนิรันต์. (2555). [ออนไลน์]. ระบบปัญญาประดิษฐ์. [สืบค้น 28 กรกฎาคม 2564]. สืบค้นจาก https://www.gotoknow.org/posts/354245
American Institute of Certified Public Accountant. (2015). [ออนไลน์]. Audit Analytics and Continuous Audit Looking Toward the Future. [สืบค้น 28 กรกฎาคม 2564]. สืบค้นจาก
https://www.aicpa.org/interestareas/frc/assuranceadvisoryservices/downloadabledo cuments/auditanalytics_lookingtowardfuture.pdf    
Dumbill, E. (2012). [ออนไลน์]. What is Big Data? An introduction to the Big data landscape. [สืบค้น 28 กรกฎาคม 2564]. สืบค้นจาก http://radar.oreilly.com/2012/01/What-is-big-data.html