บทความพิเศษ : Data Driven with AI and Big Data

UploadImage
 
ที่ผ่านมาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม จัดบรรยายพิเศษโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ด้าน IT (NON DEGREE), RE SKILL- UP SKILL รุ่นที่ 2 ปีการศึกษา 2563 ณ อาคาร 40 ปี มหาวิทยาลัยศรีปทุม ชั้น 9 ห้อง 11-903 สำหรับหลักสูตรการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลและเข้าใจผู้บริโภคในเชิงลึก (Industries Transformation with Data Analytics and Consumer Insights) โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรพิเศษ คือ ดร.ชูชาติ หฤไชยะศักดิ์ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยปัญญาประดิษฐ์ (NECTEC) และCEO & Co-founder of A19, Ltd. บรรยายในหัวข้อ “Data Driven with AI and Big Data” ซึ่งมี 3 Parts ด้วยกัน ขอสรุปประมวลความได้ดังต่อไปนี้

UploadImage
 
ดร.ชูชาติ บรรยายว่า อันดับแรกมาทำความรู้จักกับ Digital Economy ก่อนว่าคืออะไร Digital Economy คือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตมวลรวมของประเทศให้ทันกับโลกในยุคปัจจุบัน ตั้งแต่ Knowledge Economy หรือเศรษฐกิจบนพื้นฐานของความรู้ และ Creative Economy ที่วางเป้าหมายในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับสินค้าและการบริการผ่านทางนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ Digital Economy มีความสันพันธ์กับประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0) ซึ่งมีลำดับของวิวัฒนาการดังต่อไปนี้ Thailand 1.0 คือ ยุคเกษตรกรรม (Agriculture) เน้นไปที่การผลิตและการขายพืชพันธุ์การเกษตรเป็นหลัก อาทิ การขายพืชไร่ ขายข้าว ข้าวโพด ถั่ว มันสำปะหลัง ขายพืชผัก ไก่ เป็ด และสุกร เป็นต้น ยุค Thailand 2.0 คือ ยุคอุตสาหกรรมเบา (Light Industry Low wages) เน้นไปที่เรื่องการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีน้ำหนักเบา ซึ่งเป็นการผลิตสินค้าที่มีต้นทุนการผลิตไม่สูงมากจนเกินไป ได้แก่ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เครื่องดื่ม อาหารกระป๋อง กระเป๋า รองเท้า เครื่องเวชภัณฑ์และยา การผลิตเครื่องเล่นวิทยุ โทรทัศน์ ของเด็กเล่น รวมทั้งแป้งอีกหลากพลายชนิด เป็นต้น ต่อมาเป็น ยุค Thailand 3.0 ยุคอุตสาหกรรมหนัก เครื่องจักรขั้นสูง (Heavy Industry Advanced Machine) โดยเน้นมาในเรื่อง การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหนักและการส่งออก ได้แก่ การผลิตขั้นสูง ได้แก่ การผลิตเหล็กกล้า ปูนซีเมนต์ การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ แผงวงจรไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ก๊าซธรรมชาติ การกลั่นน้ำมัน เป็นต้น นอกจากนั้น ยังเน้นการเชิญชวนนักลงทุนต่างประเทศให้มาลงทุนภายในประเทศ และขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศอีกด้วย สุดท้าย ยุค Thailand 4.0 คือ เป็นยุควิสัยทัศน์เชิงนโยบายของรัฐบาล เน้นความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม สมาร์ทไทยแลนด์ (Creativity+Innovation Smart Thailand) และเน้นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยตามหลักแนวคิดที่ว่า “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ทั้งนี้ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องทำให้ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อยกระดับรายได้ของประชากรในประเทศจากประทศที่มีรายได้ปานกลาง ไปสู่ประทศที่มีรายได้สูง โดยทางรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2580) ในหัวข้อที่ 4 ประเด็นยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และในหัวข้อ 4.2 อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ในหัวข้อย่อย 4.2.1 ความว่า อุตสาหกรรมและการบริการดิจิทัล ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ในการเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมและบริการ ครอบคลุมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง เพื่อยกระดับประสิทธิภาพของภาคเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ สร้างแพลตฟอร์ม สำหรับเศรษฐกิจในอนาคต และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน โดยการสร้างอุตสาหกรรมและการบริการดิจิทัล ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศไทย และส่งเสริมการลงทุนระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน

ธุรกิจดิจิทัล (Digital Business) Jorge Lopez แห่ง Gartner, Inc ให้นิยามเอาไว้ว่า ธุรกิจดิจิทัล คือการสร้างการออกแบบธุรกิจใหม่โดยการเบลอโลกดิจิทัลและโลกทางกายภาพ และมีสัญญาว่าจะนำผู้คน, ธุรกิจ และสิ่งต่างๆ มาให้บรรจบกันอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน หรือแม้แต่ธุรกิจของผู้คนที่เกิดมาจากอินเทอร์เน็ต และในยุคของธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ด้วย องค์ประกอบของเทคโนโลยีแพลตฟอร์มของธุรกิจดิจิทัล คือ ต้องมีความเป็นอัจฉริยะ (Intelligence) อยู่ตรงกลาง และประกอบไปด้วย (1).แพลตฟอร์มประสบการณ์ลูกค้า (Customer Experience Platform) (2). แพลตฟอร์มระบบนิเวศ (Ecosystem Platform) (3).แพลตฟอร์มข้อมูลและการวิเคราะห์ (Data & Analytics Platform) (4).แพลตฟอร์ม IoT (IoT Platform) (5).แพลตฟอร์มระบบสารสนเทศ (Information Systems Platform) ตัวอย่างของธุรกิจดิจิทัลในประเทศไทย ได้แก่ พาณิชอิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) เช่น Alibaba, Facebook, การท่องเที่ยวและการจองห้องพักโรงแรม (Tourism and Hotel Reservation) เช่น Take me tour, airbnb, การส่งอาหาร (Food Delivery) เช่น Food Panda, การขนส่ง (Transportation) เช่น Uber, Grab, ความบันเทิง (Entertainment)

ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มนุษย์เราเกิดมาในตอนเป็นทารก หรือเป็นเด็กยังพูดไม่ได้ แต่พอเติบโตขึ้นมาสามารถพูดได้ สิ่งเหล่านี้เกิดจากการเรียนรู้จากพ่อ-แม่ เช่นการสอนให้เรียกพ่อ แม่ หรือ ปาป้า มาม้า การย้ำ Feed ให้ข้อมูลมากกว่า 1 ครั้ง จึงมีการจดจำและจึงสามารถพูดได้ AI ก็คล้ายกันเกิดการจดจำ Feed ตัวอย่างเช่น ให้จดจำรูปหมา แมว หรือเลขทะเบียนรถยนต์ ก็ต้อง Feed ข้อมูลเข้าไปมากๆ AI ก็จะสามารถจดได้ ความจริง AI เกิดมาร่วม 60ปีแล้ว แต่การใช้งานจริงๆ เพิ่งเกิดขึ้นในยุคนี้

ข้อมูลดิจิทัลและสินทรัพย์ (Digital Data and Assets) ปัจจุบันนับได้ว่า ข้อมูลดิจิทัลเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญขององค์กร บางครั้งก็ใช้คำว่า สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ในวิกิพีเดีย พจนานุกรมเสรี ได้ให้ความหมายไว้ว่า สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) โดยเนื้อหาสาระแล้ว ได้แก่ สิ่งใด ๆ ที่อยู่ในรูปแบบฐานสอง (Binary Format) และมาพร้อมกับสิทธิที่จะใช้งานสิ่งนั้นได้ ข้อมูลที่ปราศจากสิทธิดังกล่าวไม่นับเป็นสินทรัพย์ สินทรัพย์ดิจิทัลนั้นรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงสิ่งดังต่อไปนี้ คือ เอกสารดิจิทัล, เนื้อหาที่ได้ยินได้ (Audible Content), ภาพยนตร์, และข้อมูลดิจิทัลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกำลังอยู่ในการหมุนเวียน หรือซึ่งได้เก็บหรือจะได้รับการเก็บไว้ในอุปกรณ์ดิจิทัล เช่น คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล, แล็ปท็อป, เครื่องเล่นสื่อแบบพกพา, แท็บเล็ต, อุปกรณ์เก็บข้อมูล, อุปกรณ์โทรคมนาคม, หรืออุปกรณ์อื่นใดที่มีหรือจะมีขึ้นเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าไปถึงขั้นที่รองรับการผลิตสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งสามารถบรรจุสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ไม่ว่าใครจะเป็นเจ้าของอุปกรณ์ที่บรรจุสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นก็ตาม กรณีของ Google ความจริง Google ไม่ได้เป็นเจ้าของข้อมูล เจ้าของข้อมูลจริงๆ เป็นเว็บไซต์ต่างๆ เวลาทำการ Transform ข้อมูลและรูปภาพไม่ควรให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน เพราะมันหมายถึงต้นทุน บริษัทประกันภัยที่เอาข้อมูลมา เช่น เบอร์โทรศัพท์ เช่น เอาข้อมูลมาจากบริษัท A, B, D ผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคล แต่ถ้าเอามาจากเว็บไซต์ไม่ผิดกฎหมาย หรืออีกกรณีหนึ่ง ถ้าบริษัทประกันภัยเหล่านั้น ไปเอาข้อมูลมาจาก Transection ผิดกฎหมาย เนื่องจากมีบริษัทต่างๆ ขายข้อมูลในลักษณะอย่างนี้ปีละ 100 ล้านบาท เพื่อเอาไปดูว่า Trends ของการซื้อสินค้าเป็นอย่างไร ข้อมูลเป็นประโยชน์มีความต้องการนำไปใช้ในธุรกิจอย่างมาก เช่น การผลิตสินค้าแช่แข็ง ก่อนเข้าช่วงฤดูหนาวจะขายดีมาก และรู้ว่าจะต้องผลิตเท่าไหร่ ถ้าผลิตมากสินค้ามีวันหมดอายุ ตำแหน่งงาน Chief Data Officer บางบริษัทมีตำแหน่งงานนี้ และเป็นตำแหน่งงานใหม่ที่คอยดูแลบริหารจัดการข้อมูล ดังนั้น บริษัทควรมีตำแหน่งงานนี้ เพราะ 50% ในบริษัทใช้ข้อมูล คุณคอลลิน ดินน์ ผู้บริหารระดับสูงฝ่ายเทคโนโลยี และฝ่ายปฏิบัติการของ SCB ได้กล่าวว่า กระบวนการผ่านศึก Digital Transformation ของธนาคาร SCB #ibmthinkasean ควรมีสิ่งดังต่อไปนี้ คือ (1). ความพร้อมเรื่องของดาต้า (2).ความเข้าใจลูกค้า (3).วัฒนธรรมการทำงานแบบใหม่ (4). ความเข้าใจเรื่องดาต้า (5). ความมุ่งมั่น และ (6). วิสัยทัศน์ที่ต้องการจะไป

ในลำดับต่อมา คือข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เป็นการอ้างอิงถึงเทคโนโลยีและความคิดริเริ่มที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่มีความหลากหลาย, เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหรือมีขนาดใหญ่เกินไปสำหรับเทคโนโลยี, ทักษะ และโครงสร้างพื้นฐานแบบเดิมที่จะจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับคำสำคัญ (Keyword) เกี่ยวกับ Big Data คือ การจัดการ, การวิเคราะห์ เป็นต้น เมื่อก่อนข้อมูลที่เป็นฐานข้อมูล (Database) นั้น ยังไม่ถือว่าเป็น Big Data ซึ่ง Big Data นั้น มาจากข้อมูลหลายแหล่ง หรือมากกว่าหนึ่งแหล่ง ข้อมูลเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น ในระบบประมวลผลรายการ (Transaction) หรือ Real Time Streaming หรือแม้กระทั่งข้อมูลใน Social Media การใช้ BI ทำไม่ได้ ต้องเอา Analytics ของ AI มาช่วยเสริม Big Data จึงเป็นเสมือนน้ำมันชนิดใหม่ ข้อมูลสำคัญมาก ใครมีข้อมูลมากกว่าคือผู้ชนะ เช่น ข้อมูลการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา มีการใช้ Facebook เข้ามาช่วย เช่น ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เปิดประเด็นเรื่องการทำแท้ง ยิงแคมเปญเข้าไปว่า มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นว่ามีความคิดเห็นอย่างไรในการทำแท้ง หลังจากนั้น นำข้อมูลมาทำการวิเคราะห์ และยิงข้อมูลเข้าไปได้ตรงใจ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าที่ใดมี Data ที่นั้น สามารถวิเคราะห์ได้ เช่นใน Health Care หรือ Retail สามารถวิเคราะห์ได้หลายรูปแบบ เช่น การ Tracking, การทำ Packaging การออกแบบต้องช่วยดึงดูด หรือการวางสินค้าที่ชั้นวางของ (Shelf) ต้องวางให้อยู่ในระดับสายตา และมีจุดเด่น เช่น การวางกล่องชาเขียว ตัวอย่างของ Retail นั้น Amazon เป็นเจ้าตลาดใหญ่ ทำให้ Kmart และ Wal-Mart ขาดทุนยอดขายลดลง หรือแม้กระทั่งอย่าง Tesco ตู้แช่แข็ง อุณหภูมิต้องไม่เย็นจนเกินไป เพราะถ้าเปิดไฟมาก หรือเย็นเกินไป ทำให้เสียงบประมาณไปมาก ต้องมีการนำเอา IoT เข้าไปช่วย จึงจะทำให้ประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่าย และมีกำไรได้ในที่สุด.

บทความโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุพล พรหมมาพันธุ์
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
Cr. https://kmbytlcspu.blogspot.com/2021/07/data-driven-with-ai-and-big-data.html
#มหาวิทยาลัยศรีปทุม #ม.ศรีปทุม #SPU #SripatumUniversity #DEK65 #คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ #TLC #บทความพิเศษ
บทความโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุพล พรหมมาพันธุ์
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม