ภาษีขายของออนไลน์ ที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ควรรู้

UploadImage
 
UploadImage
 
          เมื่อเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาอาชีพของหลายต่อหลายคนก็เปลี่ยนไป และหนึ่งในอาชีพที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากก็คือการขายของออนไลน์ เม็ดเงินไหลเวียนในระบบมหาศาล ทำให้ทางภาครัฐต้องเข้ามาควบคุมดูแล และทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าภาษีขายของออนไลน์เกิดขึ้น
          รู้จักกับภาษีออนไลน์  การจ่ายภาษี คือ หน้าที่ของประชาชนทุกคนทุกประเทศ ทว่าในปัจจุบันหลายคนยังเข้าใจว่าหากเราทำการขายของผ่านช่องทางออนไลน์เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องเสียภาษี ซึ่งคงต้องอธิบายชัดเจนตรงนี้เลยว่า  อย่างไรก็ต้องเสียในรูปแบบของภาษีเงินได้  โดยการคิดอัตราภาษีนั้นก็ไม่ได้แตกต่างกับการจ่ายภาษีตามปกติ คือคิดตามอัตราขั้นบันไดตามกฎหมายกำหนด  และมีค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาหักภาษีได้ดังนี้
  • หักค่าใช้จ่ายตามอัตรา 60% ของเงินได้สำหรับร้านที่ดำเนินการแบบซื้อมาขายไปไม่มีการผลิตภายในร้าน
  • หักตามค่าใช้จ่ายจริง สำหรับบ้านที่มีการผลิตภายในร้าน
  • หักแบบเหมา กรณีที่มีรายได้จากช่องทางออนไลน์เกิน 1,000,000 บาท โดยคิดภาษีเป็น 0.5% ของเงินได้
          ข้อควรรู้ของภาษีออนไลน์  ทางสรรพากรจะรู้ได้อย่างไรว่ามีการขายของออนไลน์เกิดขึ้น ในปัจจุบันมีกฎหมายออกมารองรับทำให้ทางสถาบันการเงินต้องมีการส่งข้อมูลการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกกันว่า (e-Payment) ให้กับทางสรรพากรตรวจสอบ แต่ไม่ได้ตรวจสอบทุกบัญชี มาดูเงื่อนไขกันว่าสรรพากรจะตรวจสอบอย่างไร เมื่อมีการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชี 3,000 ครั้งต่อปีขึ้นไป ไม่ว่ายอดรวมทั้งหมดจะกี่บาทก็ตาม  ทุกบัญชีรวมกัน 400 ครั้งขึ้นไป และมียอดเงินรวมกันเกิน 2 ล้านบาท  ข้อมูลที่กรมสรรพากรจะได้ เลขประจำตัวประชาชน, ชื่อ สกุล, เลขบัญชีเงินฝาก, จำนวนครั้งของการฝากหรือโอน,ยอดรวมจากการฝากหรือโอน ซึ่งสรรพากรจะไม่เพียงตรวจสอบผู้ที่เป็นร้านค้าเท่านั้น แต่รวมไปถึงผู้ที่มีการโอนเงินมากผิดปกติจนน่าสงสัยอีกด้วย
          พ่อค้าแม่ค้าต้องทำอย่างไรบ้าง  สำหรับการเตรียมตัวจริงๆ ไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด โดยปกติแล้วการค้าขายออนไลน์จะต้องมีการบันทึกข้อมูลลูกค้า การใช้จ่าย ลงทุน รวมถึงการรับเงินอยู่แล้ว สิ่งที่พ่อค้าแม่ค้าทุกคนต้องทำเพิ่มขึ้นมาก็คือ
     - บันทึกทุกอย่าง ทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อตรวจสอบได้ว่าเรามีรายรับรายจ่ายประเภทใด อย่างไรบ้าง
     - ไม่ทิ้งหลักฐานที่เกี่ยวกับการค้าให้หายไป เมื่อทางสรรพากรมีคำถามเกี่ยวกับรายรับรายจ่าย นอกจากจะได้เห็นบันทึกรายรับรายจ่าย ยังมีหลักฐานทางธุรกรรมเพื่อยืนยันว่าเราได้ดำเนินการโอนรับ จ่าย หรือลงทุนตามจริงด้วย
     - ติดตามข่าวการเงิน โดยเฉพาะด้านภาษีที่มีการอัปเดตในแต่ละปี
     - หาความรู้เกี่ยวกับภาษีเงินได้ เพื่อที่จะสามารถจัดการรายรับรายจ่ายในแต่ละปี รู้ว่าต้องเสียภาษีเท่าไหร่ ลดหย่อนอย่างไร
          สะดวกกว่า ด้วยการยื่นภาษีออนไลน์  สรรพากรอำนวยความสะดวกให้เหล่าผู้เสียภาษีเงินได้ด้วย โดยสามารถเข้าไปยื่นแบบภาษีตามกำหนดการรายปีได้ที่ www.rd.go.th ยื่นแบบ-ชำระภาษีออนไลน์ ซึ่งภายในจะมีรายละเอียดต่างๆ ระบุไว้อย่างครบถ้วน พร้อมให้ประชาชนยื่นแบบภาษีได้ในเวลาไม่กี่นาที ผ่านทางอุปกรณ์ของแต่ละคน
 


นางสาวกมลชนก ยุพิน
นักตรวจสอบภาษีปฏิบัติการ 
สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 2
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม