ผู้ตรวจสอบภายในยุคใหม่

UploadImage
 
UploadImage

          เมื่อกล่าวถึง “ผู้ตรวจสอบภายใน” สิ่งแรกที่ผู้รับการตรวจสอบหลายๆ คนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นผู้ที่มาทำงานในลักษณะ “จับผิด” มากกว่า “จับถูก” เปรียบเสมือนกับตำรวจมาจับผู้ร้าย เมื่อตรวจพบการทุจริตแล้วก็นำคนผิดไปลงโทษ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะจุดที่พบเท่านั้น ไม่ได้เป็นการสร้างกระบวนการทำงานขององค์กรให้มีประสิทธิภาพได้อย่างยั่งยืน 
          หากกล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของผู้ตรวจสอบภายในนั้น จะแตกต่างกันไปตามบริบทและตามสถานการณ์ เมื่อเทียบสมการระหว่าง ผู้ตรวจสอบภายใน ผู้รับการตรวจสอบและองค์กร สามารถเปรียบเทียบตามยุคตามสมัย โดยคุณสุรพงศ์ ชูรังศฤษฎิ์ บรรยายเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจน ในงานอบรม “การตรวจสอบภายในยุคใหม่” ซึ่งผู้เขียนชื่นชอบและมีความสนใจที่จะนำความรู้นั้นมาเสนอเพื่อเป็นองค์ความรู้สู่เพื่อนร่วมวิชาชีพ สรุปสั้นๆ  ดังนี้
          ยุคเริ่มแรก Competition เปรียบเสมือนกับ 1+1 = 0  (0 หมายถึง ผลที่องค์กรได้รับ)  เป็นการแสดงความพยายามที่จะต่อสู้กันระหว่างผู้ตรวจสอบภายในกับผู้รับการตรวจสอบ โดยไม่ได้คำนึงถึงความต้องการขององค์กร ยุคต่อมา Cooperation  เปรียบเสมือนกับ 1+1 = 2 (2 หมายถึง ผลที่องค์กรได้รับ)  เป็นยุคที่ผู้ตรวจสอบภายในและผู้รับตรวจสอบตระหนักถึงภาระหน้าที่ซึ่งกันและกัน เกิดความร่วมมือ มีการ “ยอม” กันมากขึ้น ผลประโยชน์ต่างฝ่ายต่างได้รับเท่ากัน
          ส่วนยุคใหม่ที่ฝ่ายบริหารขององค์กรคาดหวัง Collaboration  มีลักษณะ 1+1 = 3 คือ องค์กรจะได้ประโยชน์จาการตรวจสอบมากที่สุดเมื่อเทียบจากยุคที่ผ่านมา มีเป็นลักษณะการกำหนดเป้าหมายและการทำงานที่เข้าใจตรงกัน การให้คำปรึกษา ถึงแม้แนวทางนี้อาจเป็นอุปสรรคต่อความเป็นอิสระของผู้ตรวจสอบซึ่งมองว่าเป็นทีมเดียวกัน แต่ผลการตรวจสอบจะเป็นที่ยอมรับมากกว่ายุคที่ผ่านมา ปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ  คือ การสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน โดยมีการทำงานแบบเปิดเผย ตรงไปตรงมา พร้อมทั้งอธิบายวัตถุประสงค์ ประโยชน์ของการตรวจสอบให้ชัดเจนและสร้างความเข้าใจ วางแผนการปฏิบัติงานร่วมกัน ประเมินความเสี่ยง การควบคุม  แจ้งผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผู้ตรวจสอบภายในจะต้องมีทักษะการเป็นผู้ฟังที่ดี ซึ่งเป็นพื้นฐานการทำงานในลักษณะที่เป็นทีมเดียวกัน
 
           ดังนั้น บทบาทหน้าที่สำคัญของผู้ตรวจสอบภายในยุคใหม่ คือ เน้นการเป็นที่ปรึกษา (Consultant) โดยระบุปัญหา ประเมินความเสี่ยง การควบคุมภายใน กำหนดเป้าหมายและข้อจำกัด รวมถึงวิเคราะห์ปัญหา เพื่อหาแนวทางแก้ไข ข้อเสนอแนะ และมีการรายงานการตรวจสอบอย่างมีคุณภาพ เป็นไปในเชิงรุกเพื่อให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล คุ้มค่า เพิ่มมูลค่าให้องค์กรให้เกิดการพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน
 


สมจินตนา สุวรรณสิงห์
ผู้ตรวจสอบภายในอาวุโส
สำนักตรวจสอบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม