ประสิทธิภาพกับประสิทธิผล ต่างกันอย่างไร

UploadImage
 
UploadImage
 
          เราจะได้ยิน 2 คำนี้บ่อยครั้งคือ  ประสิทธิภาพและประสิทธิผล  หลายคนยังไม่ค่อยเข้าใจว่าประสิทธิภาพและประสิทธิผลคืออะไร แตกต่างกันอย่างไร
          ประสิทธิภาพ คือ การทำงานอย่างประหยัดต้นทุน ให้เสร็จทันเวลา ภายในคุณภาพที่กำหนดไว้ ซึ่งหมายถึง ความสามารถในการทำงานให้เกิดผล หรือบรรลุเป้าหมายได้แบบประหยัดต้นทุน เสร็จทันเวลา ภายในคุณภาพที่ระบุไว้ โดยปัจจัยของประสิทธิภาพจะมีอยู่ 3 อย่าง ได้แก่ ค่าใช้จ่าย, เวลา และคุณภาพ ส่วน
          ประสิทธิผล คือ การทำงานให้บรรลุเป้าหมาย ในคุณภาพและปริมาณที่ต้องการ ซึ่งหมายถึง ผลสำเร็จ หรือการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย ในเชิงคุณภาพ เชิงปริมาณ หรือทำตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เป้าหมายที่ใช้วัดประสิทธิผลก็มีอยู่ 2 อย่าง ได้แก่ เป้าหมายเชิงปริมาณ และ เป้าหมายเชิงคุณภาพ
 
          ข้อแตกต่างระหว่าง  ประสิทธิภาพ คือ การทำให้ถูกวิธี  ส่วน ประสิทธิผล คือ การทำให้ผลงานออกมาดี
          จะเห็นได้ว่าวิธีพัฒนาประสิทธิภาพและประสิทธิผลหลายอย่างมีความคล้ายคลึงกัน หลายครั้งที่การพัฒนาประสิทธิภาพจะทำให้เกิดประสิทธิผลที่ดีขึ้น หลายครั้งที่ความต้องการพัฒนาประสิทธิผลก็จะทำให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีขึ้นเช่นกัน 
          อีกมุมมองหนึ่งก็คือ ประสิทธิภาพเป็นรูปแบบการพัฒนาในระยะสั้น เช่น การทำให้เร็วขึ้น ทำให้ถูกขึ้น แต่การพัฒนาระบบในระยะยาวต้องดูประสิทธิผล หมายถึงทำให้คุณภาพดีขึ้น ลูกค้าพึงพอใจมากขึ้น 
ประสิทธิภาพและประสิทธิผลบางครั้งก็ขึ้นอยู่กับ ‘มุมมอง’ ของบริษัท ยกตัวอย่างเช่นแผนกบริการลูกค้า (customer services) ที่อาจจะถูกวัดผลการทำงานด้วย ‘ความพึงพอใจของลูกค้า’ (ประสิทธิผล) จำนวนสาย ที่รับได้ต่อวัน (ประสิทธิภาพ) หรืออาจจะเป็น ‘ตัวชี้วัดผสม’ เช่นความพึงพอใจของลูกค้าต่อจำนวนสายที่ได้รับ
          เครื่องมือใช้วัดประสิทธิภาพประสิทธิผล ได้แก่ ข้อมูลผู้ใช้งานและเครื่องมือออนไลน์ต่าง ๆ, แบบสอบถาม และการสัมภาษณ์ลูกค้าและผู้ใช้งาน
 
          สุดท้ายนี้เกี่ยวกับประสิทธิภาพและประสิทธิผล ท้ายที่สุดแล้วเป้าหมายแล้ววิธีการทำงานก็จะเป็นตัวบอกว่าประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่เหมาะสมกับองค์กรคืออะไรบ้าง และองค์กรต้องทำอย่างไรเพื่อที่จะวัดผลส่วนนี้ให้ได้ 
          อย่างไรก็ตามบริษัทขนาดเล็กก็อาจจะมีทรัพยากรไม่เพียงพอสำหรับการวัดผลทุกส่วนในองค์กร เช่น พนักงานอาจจะมีงานเยอะจนไม่มีเวลาลงข้อมูล หรือบริษัทอาจจะไม่มีงบซื้อระบบภายในที่สามารถเชื่อมข้อมูลทุกแผนกเข้าด้วยกันได้ ซึ่งก็แปลว่า แต่ละองค์กรต้องหาจุดความพอดีระหว่างการวัดผลประสิทธิภาพประสิทธิผลในรูปแบบเฉพาะของตัวเองให้ได้

 
ร.ต.หญิง สุธิดา เสาวคนธ์
นายทหารสัญญาบัตรประจำแผนก
สำนักงานปลัดบัญชีกองทัพบก
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม