เทคนิคที่ควรรู้สำหรับนักบัญชีที่จะทำงานกับองค์กรญี่ปุ่น
04
Dec
ชาวญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นคนที่มีระเบียบวินัยมากชาติหนึ่ง ทั้งในชีวิตประจำวันและการทำงาน ผู้ที่ต้องการทำงานในบริษัทญี่ปุ่น รวมทั้งนักบัญชีควรจะเรียนรู้หลักการพื้นฐานในทำงานร่วมกับชาวญี่ปุ่น ซึ่งเปรียบเสมือนเทคนิคที่จะก้าวเข้าไปสู่ระบบการทำงานจริงกับองค์กรญี่ปุ่น ดังนั้น เพื่อสำรวจตัวเองว่าพร้อมที่จะรับมือกับการทำงานในแบบของคนญี่ปุ่นหรือไม่ เราควรทราบถึงวัฒนธรรมในการทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่นเพื่อเป็นเทคนิคในการปรับตัวให้เหมาะสมดังนี้
-
รักษากฎระเบียบอย่างเคร่งครัด คนญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับกฎระเบียบค่อนข้างสูง หากมีใครที่ทำงานโดยฝืนกฎที่บริษัทที่วางไว้ อาจจะถูกมองว่าเป็นคนที่เข้ากับสังคมได้ยาก และยากที่จะทำงานร่วมกับคนอื่นได้ดี
-
รายงานความคืบหน้าของงาน เจ้านายญี่ปุ่นรู้สึกประทับใจกับลูกน้องที่ทำงานอย่างตั้งใจ และรายงานความเคลื่อนไหวในการทำงานให้เจ้านายได้รับทราบ ตั้งแต่เริ่มการทำงานจนถึงสรุปผลการทำงานให้ทั้งเจ้านายและเพื่อนร่วมงานได้รับทราบ เพื่อแก้ปัญหาได้ทันท่วงที เมื่อเกิดปัญหาใด ๆ ก็ตามที่อาจจะส่งผลถึงการทำงาน
-
จดบันทึกและถ่ายทอดอย่างเป็นระบบ การรู้จักบันทึกข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับงาน และถ่ายทอดข้อมูลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ และต้องมั่นใจว่าข้อมูลที่นำมาบอกต่อนั้น เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ใช่ข้อมูลจากการคาดเดา
-
ถามก่อนลงมือทำ การปรึกษาเพื่อขอความช่วยเหลือ ความคิดเห็น และคำแนะนำในการทำงาน เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม หากทำงานแล้วเกิดความผิดพลาด ไม่เพียงแต่จะได้รับคำตำหนิ แต่ยังทำให้คนทำงานเองรู้สึกผิด ที่ไม่รอบคอบ ตัดสินใจทำงานโดยขาดความระมัดระวัง
-
ทำงานเป็นทีม คนญี่ปุ่นจะเน้นการทำงานเป็นกลุ่ม การมีสปิริตในการทำงานเป็นทีม ทำให้คนทำงานสามารถผ่านพ้นปัญหาได้ ไม่เพียงแต่จะได้ผลงานที่ดี แต่ยังทำให้การสื่อสารในทีมมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย คนญี่ปุ่นเชื่อว่าการทำงานเป็นทีม จะทำให้ปัญหาต่าง ๆ ได้รับการคลี่คลายเร็วขึ้น การช่วยกันคิด จะทำให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ และเกิดการพัฒนามากขึ้นอีกด้วย
-
เรียนรู้จากรุ่นพี่ เราอาจจะเคยได้ยินเรื่องรุ่นพี่รุ่นน้องในสังคมญี่ปุ่นมาบ้าง ในการทำงานเองก็เช่นเดียวกัน ผู้ที่เข้ามาทำงานใหม่ ต้องให้ความเคารพรุ่นพี่ และทำงานตามแบบฉบับของบริษัท โดยอาศัยการสอบถามและเรียนรู้จากรุ่นพี่เป็นหลัก และต้องรักษาความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนร่วมงานด้วย
-
ศึกษาและทำความเข้าใจอย่างถูกต้อง ก่อนเริ่มทำงานใด ๆ ก็ตาม ต้องไม่ลืมที่จะทำความเข้าใจในเนื้อหาของงานให้ถูกต้องเสียก่อน หากไม่เข้าใจให้สอบถามจากรุ่นพี่ หรือหัวหน้างาน เพื่อจะได้ไม่เกิดความเสียหายกับตัวงาน และพยายามใช้หลักการและเหตุผล ตลอดจนความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานให้มากที่สุด
-
เสนอความคิดเห็นเมื่อมีโอกาส การนำเสนอไอเดียใหม่ ๆ ไม่เพียงเป็นโอกาสที่เราจะได้นำเสนอความคิดเห็นที่มีประโยชน์ต่อการทำงาน แต่ยังเป็นโอกาสที่จะทำให้เจ้านายได้เห็นว่าเรามีความคิดสร้างสรรค์ และมีประโยชน์แค่ไหน แต่ต้องเป็นแนวคิดที่เรามีความรู้อย่างแท้จริงและสามารถตอบคำถามได้ หากมีผู้ที่สงสัยต่อความเป็นไปได้ของความคิดเห็นของเรา
-
ฟังอย่างตั้งใจ เมื่อมีโอกาสได้เข้าร่วมประชุม หรือต้องรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนร่วมงานชาวญี่ปุ่น ให้เราฟังอย่างตั้งใจ ฟังให้จบ ก่อนที่จะตั้งคำถามใด ๆ เพราะหากเราขัดจังหวะขึ้นมาในระหว่างที่เขากำลังพูด การสนทนาอาจจะขาดตอนได้ เราควรจะถามเมื่ออยู่ในโอกาสที่เหมาะสม
--------------------
คุณพรพิมล อมรธำรงโชติ
ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ-สัญญา บริษัทไทยเอ็นเอส โซลูชั่นส์ จำกัด
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม
คุณพรพิมล อมรธำรงโชติ
ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ-สัญญา บริษัทไทยเอ็นเอส โซลูชั่นส์ จำกัด
นักศึกษาหลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม