6 ทักษะด้านบัญชีที่ผู้ประกอบการควรรู้
20
Jun
การธุรกิจจะสามารถประสบความสําเร็จได้ขึ้นอยู่ระบบข้อมูลที่ถูกต้องและทันเวลา ซึ่งงานบริหารงานของผู้ประกอบการคือการวางแผน ควบคุมการทำงานและการตัดสินใจ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องมีข้อมูลที่ดีเพื่อประกอบการพิจารณาในเรื่องต่างๆ และข้อมูลทางการบัญชี เช่น ผลการดําเนินงาน ฐานะการเงินของกิจการ ความสามารถในการทํากําไรของแผนกหรือของสินค้าแต่ละประเภท ต้นทุนต่อหน่วย การกำหนดราคาขาย การกำหนดจุดคุ้มทุน ฯลฯ ล้วนแล้วเป็นข้อมูลทางบัญชีและการเงินที่มีความหมายต่อการบริหารธุรกิจ ซึ่งปกติผู้ประกอบการจะต้องการทราบข้อมูลทางการบัญชีที่ถูกต้อง เพื่อใช้ในการวางแผนการดําเนินธุรกิจในอนาคต ควบคุมปัจจัยต่างๆ และตัดสินใจเลือกแนวทางที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายองค์กรได้อย่างมั่นใจ
ดังนั้น เราจึงมีทักษะด้านบัญชีที่ผู้ประกอบการควรรู้ มาฝากกัน
1. มีความเข้าใจกระบวนการทำงานทุกระบบตั้งแต่ระบบจัดซื้อ ระบบเจ้าหนี้ ระบบเงินทดรองจ่าย ระบบเงินสดย่อย ระบบขาย ระบบลูกหนี้ ระบบทะเบียนทรัพย์สินถาวร ระบบสินค้าคงคลัง เนื่องจากเอกสารที่เกิดขึ้นในทุกๆ ระบบงานสุดท้ายจะไปจบที่ฝ่ายบัญชี
2. มีความเข้าใจกระบวนการของวงจรรายการค้าซึ่งสัมพันธ์กับการบันทึกบัญชี รวมถึงวิธีการวิเคราะห์เอกสารเบื้องต้น เนื่องจากทุกรายการค้าที่เกิดขึ้นคือข้อมูลที่ถูกนำไปบันทึกบัญชีของกิจการ
3. มีความเข้าใจความหมายของรายการทางบัญชีแต่ละรายการ เช่นทรัพย์สิน หนี้สิน ทุน รายได้ ค่าใช้จ่าย เพื่อที่จะสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์และใช้ในการตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม
4. มีความเข้าใจวิธีการทำงานของนักบัญชีเบื้องต้น ตั้งแต่ ผ่านรายการค้าเข้าสมุดรายวัน เข้าบัญชีแยกประเภท จนถึงนำตัวเลขไปแสดงในในงบกำไรขาดทุน งบแสดงฐานะทางการเงิน รวมถึงการเรียกรายงานข้อมูลทางบัญชีและการกระทบยอดจากโปรแกรมทางบัญชี เพื่อผู้ประกอบการจะสามารถเรียกรายงานได้ทันทีที่ต้องใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ
5. มีความเข้าใจด้านกฎหมายเบื้องต้นที่เกี่ยวข้องกับการบัญชี และบทลงโทษกรณีไม่ได้ปฏิบัติตาม ทั้งกฎหมายเกี่ยวกับทั้งของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมสรรพการ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการจัดทำและนำส่งงบการเงินให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงวิธีการเบื้องต้นในการจัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย การจัดทำภ.ง.ด.3 และ 53 การจัดทำรายงานภาษีซื้อ การจัดทำรายงานภาษีขาย การจัดภ.พ.30 ไปจนถึงการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลกลางปีและสิ้นรอบปีบัญชี เป็นต้น
6. มีความเข้าใจเกี่ยวกับระบบควบคุมภายในที่ดี เนื่องจากในทุกกระบวนการทำงาน ของแต่ละรายการค้าที่เกิดขึ้น ต้องมีการประสานงานของแต่ละฝ่ายเพื่อให้งานเกิดความรวดเร็ว ไม่ทำงานซ้ำซ้อน และผู้ประกอบการมั่นใจว่าทุกฝ่ายได้ทำงานตามระบบที่วางไว้ ดังนั้นความเข้าใจในกระบวนการทำงานที่มีระบบการควบคุมภายในที่ดีจะทำให้การบริหารงานของผู้ประกอบการมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ดังนั้น จากทักษะข้างต้นนี้เป็นความรู้พื้นฐานสำหรับผู้ประกอบการที่จะทำให้สามารถสื่อสารกับฝ่ายบัญชีหรือสำนักงานบัญชี และช่วยให้ไม่ให้ถูกสรรพากรมาประเมินภาษีในภายหลัง และเมื่อผู้ประกอบการมีทักษะเหล่านี้ ท่านย่อมสามารถจัดวางระบบบัญชีให้กับองค์กรของท่านได้เอง ซึ่งการวางระบบที่ดีจะป้องกันการทุจริตได้ ทำให้การทำงานมีความคล่องตัวได้มากขึ้น และการทำงานของกิจการเป็นไปตามวัตถุประสงค์องค์กรที่วางไว้แน่นอน
____________________
คุณสุพจน์ ปานน้อย
นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบัญชี
กรรมการผู้จัดการ บริษัท สำนักงาน เอเอ็มที ออดิท กรุ๊ป จำกัด (CPA , CPIAT, Tax Auditor)
คุณสุพจน์ ปานน้อย
นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบัญชี
กรรมการผู้จัดการ บริษัท สำนักงาน เอเอ็มที ออดิท กรุ๊ป จำกัด (CPA , CPIAT, Tax Auditor)