เทคนิคนักบัญชี สร้างทรัพย์สิน 15 ล้าน ใน 3 ปี ด้วยใบประกอบวิชาชีพ CPA
เทคนิค นักบัญชีเงินล้าน
สร้างทรัพย์สิน 15 ล้าน
ภายใน 3 ปี ทำได้อย่างไร!
วันนี้เรามีบทความที่คงถูกใจใครหลายๆ คน กันแน่ๆ นั่นคือเทคนิคการหาเงินล้านที่คุณสุพจน์ ที่ได้แชร์ให้นักบัญชีทุกคนได้รู้ ด้วยการเล่าเรื่องที่เริ่มได้ถูกจุดตรงใจ ถามเพื่อค้นหาคำตอบ เรียกได้ว่าอ่านเพลินกันประโยคต่อประโยคแถมได้สาระครบถ้วนไม่ตกหล่น แต่แอดมินบอกไว้ก่อนเลยนะ! ว่าบทความนี้ไม่ใช่การให้ทุกคนมีเงินล้านโดย “การเก็บเงิน” แน่ๆ แต่คือ “การหาเงินล้าน” ที่หลายๆ คน โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ต้องสงสัยแน่ว่าเราสามารถทำได้จริงหรอ? สร้างทรัพย์สิน 15 ล้าน ได้ภายใน 3 ปี จะเป็นไปได้อย่างไร คำตอบทั้งหมดได้อยู่ในบทความนี้แล้ว ดังนั้นใครอยากรู้อยากมีเงินล้านก็รีบตามมากันล่ะ!
เงินล้านแรกนั้นหายาก
แต่ล้านต่อไปนั้นง่ายขึ้น
เพราะอะไร รู้ไหมครับ?
มีหลายคนเคยบอกผมว่า การมีเงิน 1 ล้านบาทแรกนั้นยากนะ
แต่ถ้าล้านต่อไปจะเริ่มไม่ยากแล้ว
เพราะอะไรรู้ไหมครับ
ถ้าเรารู้ วิธีการ ในการหาเงินล้านได้
วิธีการนั้นจะทำให้เราหาเงินล้านอีกเมื่อไหร่ก็ได้
ที่ผมพยายามจะบอกคือ “วิธีการหาเงินล้านนะครับ”
คุณสุพจน์ : ที่ผมบอกไม่ใช่วิธีการเก็บเงิน นั่นเพราะคุณคิดว่าต้องใช้เวลาทำงานกันกี่ปีถึงจะเริ่มมีเงินได้สักล้าน ดังนั้นผมจึงขอเริ่มต้นสิ่งต่างๆ ทั้งหมดด้วยการตั้งคำถามครับ ผมชอบใช้การตั้งคำถามนะ เพราะการตั้งคำถามจะทำให้คนเราพยายามหาคำตอบ ดังนั้นคำถามข้อแรกของผมคือ ถ้าเราอยากมีเงินได้ประมาณแสนกว่าบาทต่อเดือนโดยที่ ไม่ต้องทำงานทุกวันเราจะทำอย่างไร? เอาล่ะครับติ๊กต๊อกๆๆ หมดเวลา!
คำตอบข้อนี้คือ ผมคงต้องมีทรัพย์สินก่อนครับ เพื่อจะให้ทรัพย์สินไปสร้างเงินให้ผมอีกที ถ้าคิดที่ผลตอบแทนประมาณ 10% ต่อปี แปลว่าผมต้องมีทรัพย์สินประมาณ 15 ล้าน เช่นผมนำเงินไปลงทุนสร้างอพาร์ทเม้นท์ให้เช่า แล้วได้ผลตอบแทนประมาณ 10% ต่อปี ผมจะได้เงินจากตรงจุดนี้เดือนละ 125,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของผม
คำถามต่อมาคือ แล้วเราต้องใช้เวลากี่ปี กว่าจะเก็บเงินได้ 15 ล้านกันละครับ? งั้นลองมาคำนวณกันเล่นๆ ถ้าเก็บเดือนละ 30,000 บาท จะใช้เวลาประมาณ 41 ปีโดยประมาณ! โอ้โหไหวกันไหมครับเนี่ย? แต่ถ้าคุณเริ่มต้นตามวิธีแบบผม รับรองว่าคุณมีโอกาสเกิน 50% แน่นอนที่จะสร้างทรัพย์สินอย่างน้อย 15 ล้าน ภายใน 3 ปี ขอแค่ให้คุณ “Focus” แบบกัดไม่ปล่อยตามคำนี้ “ไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม” ต้องพิชิตมันให้ได้ภายใน 3 ปี และทรัพย์สินที่ผมกำลังจะบอกก็คือ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ – ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต หรือ CPA”
นักบัญชีอย่ามองข้าม
CPA ใบนี้ที่ได้มาซึ่งเงินล้าน
คุณสุพจน์ : ทำไมผมถึงตีค่า CPA เป็นมูลค่าทรัพย์สินอย่างน้อย 15 ล้าน เพราะถ้าคุณเป็น CPA คุณสามารถมีรายได้จากการเซ็นตรวจรับรองงบการเงินโดยเฉลี่ยประมาณ 1.5 ล้านต่อปี คิดเป็นต่อเดือนคือ 125,000 บาท ซึ่งเป็นเงินต่อเดือน โดยคุณอาจไม่ต้องทำงานเต็มปีด้วย ซึ่งดูเหมือนสิ่งนี้จะไม่ต่างอะไรกับการที่คุณมี อพาร์ทเม้นท์ 15 ล้านให้เช่าเลยใช่ไหมครับ? แต่จริงๆ แล้ว CPA นั้นมูลค่าจะยิ่งสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ตามประสบการณ์และความสามารถของคุณ ซึ่งคุณต้องพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง และสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับ CPA ในการประกอบวิชาชีพนี้อย่างยั่งยืนคือ “จรรยาบรรณ” ดังนั้น CPA จึงเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างแท้จริงที่คุ้มค่ากับความพยายาม 3 ปีของคุณ ที่คุณต้องต่อสู้แบบกัดไม่ปล่อย และจะทำให้คุณประหยัดเวลาแห่งความสำเร็จจากนี้ได้เป็นสิบๆ ปีเลยทีเดียว
4 ข้อสำคัญ
เพื่อคว้าใบ CPA ที่เส้นชัย!
พอรู้เคล็ดลับข้อแรกของการคว้าเงินล้านแล้ว คุณสุพจน์ ยังให้ประสบการณ์ตรง 4 ข้อ จากการคว้าใบ CPA มาให้พวกเราทราบ โดยคุณสุพจน์ใช้เวลาในการสอบทั้งสิ้นเพียง 2 ปีเท่านั้น! ใครกำลังมองหาเคล็ดลับดีๆ รับเตรียมสมุดมาจดกันเลยจ้า
วางแผนให้ดี เป้าหมายต้องชัดเจน
อย่าลืมวางแผนการอ่านหนังสือไว้ล่วงหน้า โดยทำความเข้าใจกับขอบเขตเนื้อหาของวิชาที่จะสอบทั้งหมดก่อน และเทียบดูตารางเวลาทำงานเพื่อหาเวลาที่เหมาะสมในการลงสอบ เช่นช่วงไหนถ้าเราสามารถจัดเวลาได้ดี เราควรเลือกสอบวิชาที่ยากที่สุดหรือวิชาที่ไม่ถนัดที่สุดก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าวิชาเหล่านี้จะไม่สร้างปัญหาให้เราทีหลัง
ฝึกทำข้อสอบเก่าๆ ให้คุ้นมือ
ฝึกมือเรื่อยๆ ให้คุ้นชิน เพราะการหัดทำแนวข้อสอบเก่าๆ จะทำให้เรารู้แนวทางการออกข้อสอบคร่าวๆ ทำให้จับประเด็นสำคัญที่มักจะออกสอบได้ รวมทั้งยังทำให้เรารู้จุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเองด้วย ที่สำคัญคือเราต้องฝึกตีโจทย์ให้เข้าใจ และฝึกเขียนได้คำตอบให้เข้าใจง่ายและตรงประเด็นที่สุด ซึ่งทักษะนี้มีผลทำให้คุณเพิ่มโอกาสสอบผ่านขึ้นสูงมาก
อัพเดทความรู้อยู่เสมอ
อย่าลืมว่าเรื่อง มาตรฐานการบัญชี มาตรฐานการสอบบัญชี รวมถึงกฎหมายภาษีอากร นั้นมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง ห้ามลืมที่จะติดตามข่าวสารที่เกี่ยวกับวิชาชีพการบัญชีเพื่อจะได้มีความรู้ใหม่ๆ ติดตัว เพราะสิ่งที่เรารู้บางครั้งก็เป็นข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วหรือมีการเพิ่มขึ้นใหม่ได้เสมอ
ลงสนามคือการเพิ่มประสบการณ์
ทุกสิ่งคือประสบการณ์ ทั้งการทำงานและการสอบ อย่าท้อใจหากคุณต้องลงสนามนับครั้งไม่ถ้วน เพราะทุกครั้งคือการเพิ่มประสบการณ์ให้ตัวเอง ในการสอบ CPA ก็เช่นกันยิ่งคุณมีประสบการณ์มากเท่าไร คุณจะยิ่งทำข้อสอบได้ง่ายขึ้น ซึ่งควรมีเทียบเคียงแนวปฏิบัติงานของตนเองว่าสอดคล้องกับมาตรฐานด้วยหรือไม่ เพราะเราสามารถนำประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน หรือที่เรามีมาปรับใช้ในการตอบคำถามได้ด้วย
สุดท้ายขอฝากอะไรไว้ให้คิด
คุณสุพจน์ : สุดท้ายนี้ ผมอยากจะฝากไว้ว่าการสอบเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีอนุญาตนั้นแม้จะไม่ง่าย แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่สอบผ่าน ทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับความแน่วแน่และตั้งใจของแต่ละคน แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทุกคนควรจะมีนั้น คือกำลังใจและความพยายาม เพราะความฝันของเรานั้นจะเป็นจริงได้ก็ด้วยมือของเรานั่นเอง