นักบัญชี กับ การวางแผนภาษี เรื่องสำคัญที่นักธุรกิจทุกคนจะต้องรู้!
“นักบัญชี”
กับการวางแผนภาษี
เรื่องที่นักธุรกิจทุกคนจะต้องรู้!
การวางแผนภาษี และเรื่องราวของภาษี ไม่ว่าจะยุคไหน ในธุรกิจประเภทใดก็ยังถือว่าเป็นส่วนสำคัญของระบบธุรกิจอยู่ดี เพราะแบบนี้เรื่องการวางแผนภาษีจึงสำคัญมาก วันนี้เราจะมาพูดคุยกับคุณสุรเดช ที่ปรึกษาทางด้านภาษีอากร ว่าจริงๆ แล้วการทำภาษีนั้น ควรจัดระบบกันอย่างไร ความสำคัญและการบริหารที่ดีต้องเป็นอย่างไร มาอ่านบทความดีๆ กันได้เลยค่ะ
หลายคำถาม
สู่คำตอบสำหรับการจัดการด้านภาษี
คุณสุรเดช : หลายคนถามว่า ทำไมต้องมีการวางแผนภาษี การวางแผนภาษีสำคัญต่อนักธุรกิจจริงหรือเปล่า? ทำไมจึงมีหลักสูตร การจัดอบรม สัมมนาราคาแพงๆ ด้านภาษี กันเยอะมาก? ภาษี เกี่ยวข้องกับคนทุกคนหรือเปล่า? ภาษี เกี่ยวข้องกับธุรกิจในทุกรูปแบบเลยหรือไม่? ถ้าให้ผมตอบการวางแผนด้านภาษีนั้นสำคัญมากครับ สำคัญทุกยุคทุกสมัย และสำคัญถึงขนาดที่ว่า การบริหาร จัดการภาษีให้อยู่หมัด ได้นั้นเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง!
จริงๆ เรื่องภาษี นั้นเกี่ยวข้องกับเราตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต เพราะหลังเสียชีวิตภาษีก็ยังอยู่ในรูปมรดกครับ ดังนั้นในฐานะที่คุณเป็นนักบัญชี คุณต้องรู้ว่า สิ่งหนึ่งที่หลายธุรกิจต้องการ คือ การเสียภาษีอย่างถูกต้อง ประหยัดและครบถ้วน เพราะผู้ที่สามารถบริหารภาษีได้อย่างถูกต้องตามกฏหมายในอัตราที่ต่ำสุด ถือได้ว่าเป็นผู้ประสบความสำเร็จในการประยุกต์ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการบริหารภาษี ยิ่งในโลกของธุรกิจปัจจุบันการแข่งขันก็ยิ่งเพิ่มสูง เพื่อให้ได้มาซึ่งผลกำไรอย่างมหาศาล สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยมุมมองของผู้บริหาร ผนวกกับ นักบริหารบัญชีภาษีแนวใหม่ ที่จะต้องมีสิ่งเหล่านี้ หนึ่งวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล สองการคาดการณ์อนาคตได้ใกล้เคียงมากที่สุด เพื่อทำให้การทำงานด้านบริหารกิจการนั้นอยู่รอดและแข็งแกร่ง สามเรื่องความรู้ ความสามารถ เองก็ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอด แต่สิ่งสุดท้ายคุณต้องต้องอย่าลืมจริยธรรมในการทำงานด้วยครับ
นักบัญชีแบบไหน?
ที่เจ้าของธุรกิจต้องการ
คุณสุรเดช : คุณผู้อ่านคิดว่า การวางแผนภาษีจำเป็นต่อการทำธุรกิจของผู้ประกอบการหรือไม่? นักบัญชีในสำนักงานบัญชี ถ้าหากวางแผนภาษีไม่เป็นหรือไม่เคยวางแผนภาษีให้ธุรกิจลูกค้าเลย คิดว่าจะได้รับการจ้างงานนานแค่ไหน? ที่ปรึกษาด้านภาษี หากเข้าไปเป็นที่ปรึกษาแต่ไม่เคยช่วยด้านวางแผนภาษีให้ลูกค้าหรือไม่รู้เรื่องการวางแผนภาษีเลย คุณคิดว่าธุรกิจที่ปรึกษาของคุณจะยั่งยืนหรือเปล่า? สำหรับคำถามนี้หากผู้อ่านมีคำตอบว่าใช่ ก็ลองมาขยายความกันสักอีกนิดครับ
สมมุติว่า คุณอยากเปิดธุรกิจสักประเภท คุณก็อาจมีคำถามแล้วว่าควรเปิดในรูปแบบใด เป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลดี ถ้าเป็นนิติบุคคลคุณควรเปิดเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือเป็นบริษัทจำกัด แล้วสองอย่างนี้มันมีข้อดีอย่างไร ข้อเสียอย่างไร อันไหนเสียภาษีต่ำที่สุด ต้องเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่มทันทีเลยหรือเปล่า หรือว่ายังไม่ควรเข้าดี? แล้วธุรกิจที่คุณทำนั้นได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือเปล่า แล้วรายได้ รายจ่ายดังกล่าวต้องมีการหัก ณ ที่จ่ายไหม? นำส่งใคร อย่างไร เมื่อไรบ้าง เอ๊ะกฎหมายล่าสุดเห็นมีเกี่ยวกับบัญชีเงินฝากธนาคาร 400 รายการ และยังมีเรื่องดอกเบี้ยที่ไม่เกินสองหมื่นบาทอีกมันคืออะไร เราควรต้องวางแผนภาษีไปแนวทางไหนดี ทำไมต้องวางแบบนี้ อืมแบบนี้มันประหยัดแน่นะ? แต่มันถูกต้องตามกฎหมายหรือเปล่าล่ะ? แล้วท่านเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรจะมาตรวจสอบมาประเมินหรือเปล่า? เห็นบางคนเสียเบี้ยปรับเงินเพิ่มเป็นล้านเฉย บางคนก็เข้าข่ายติดถูกเรื่องการใช้ใบกำกับภาษีปลอมอีก สิ่งเหล่านี้แหละครับคือคำถามที่นักธุรกิจเองก็ต้องการทราบและต้องการ ส่วนเราผู้ทำหน้าที่เป็นนักบัญชี ที่ต้องบริหารภาษีนั้นต้องทำงานให้เป็น วางแผนให้ถูกต้องครบถ้วนเพื่อให้คำถามทั้งหมดนั้นถูกตอบได้อย่างถูกต้อง จนสามารถดำเนินการกิจการไปได้อย่างราบรื่น
สุดท้ายแล้ว
ไม่ว่ายุคไหน
เรื่องภาษียังสำคัญเสมอ
คุณสุรเดช : ในมุมความเห็นของผม ไม่ว่าจะยุคไหนไหนเรื่อง ภาษีนั้นสำคัญเสมอ อย่างเช่นตอนนี้ ที่พวกเรากำลังอยู่ในปี 2562 ซึ่งเป็นยุคที่หลายอย่างกำลังจะเปลี่ยนแปลงเป็นรูปแบบ Change to Platform of Transformation เช่น รูปแบบการทำงาน รูปแบบทำธุรกิจ วิธีการยื่นภาษี และวิธีการต่างๆ ซึ่งกำลังเปลี่ยนถ่ายเข้าไปสู่ยุคดิจิทัล สังเกตจากการที่มีการส่งเสริมของภาครัฐ มีทั้งออกกฎหมายมาขอความร่วมมือให้ทดสอบ ออกกฎหมายมาเพื่อบังคับใช้ อย่างเช่น Nation e-Payment (e-Tax Invoice, e-Receipt, e-Withholding Tax, e-Filing, QRPay, Cashless Society, …. ) Fintech Blockchain ผมก็ยังเห็นว่ามีนักบัญชีหลายท่านยอมควักเงินไปอบรมหลักสูตรด้านภาษีต่างๆ เพียงเพราะทุกธุรกิจยังคง ต้องวางแผนภาษี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร และ เพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ กันอยู่ดี ดังนั้นเราในฐานะนักบัญชีจึงต้องกระตือรือร้น หมั่นหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อให้ก้าวทันเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการวางแผนด้านบริหารจัดการภาษีนะครับ