นักบัญชียุคใหม่ ปรับตัวกันอย่างไรไม่ให้ตกงาน
นักบัญชียุคใหม่
ปรับตัวกันอย่างไรไม่ให้ตกงาน
เมื่อยุคนี้ AI เริ่มเข้ามาแทนที่
เมื่อ AI เริ่มเข้ามาแย่งงานมนุษย์
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า โลกของเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำหน้าที่แทนมนุษย์แล้ว เราจึงต้องพัฒนาทักษะและเรียนรู้ให้เท่าทัน เพื่อให้อยู่รอดในสายอาชีพได้โดยไม่ต้องเสี่ยงกับคำว่าตกงานที่หลายคนกลัว แต่นักบัญชีควรต้องเรียนรู้ทักษะแบบไหนเพิ่มเติม? วันนี้เราจึงขอคำแนะนำเรื่องเทคโนโลยีในด้านสายงานบัญชีกับท่านอาจารย์ไกรวิทย์ ว่าควรปรับตัวให้ทันโลกยุคนี้อย่างไรกันบ้าง หากใครมีคำถามนี้ในใจ มาอ่านต่อกันเลยค่ะ
ฉลาดแค่ไหน
ก็ยังแทนมนุษย์ไม่ได้ทุกอย่าง
ทุกคนคงทราบกันดีว่าโดยส่วนใหญ่แล้วเทคโนโลยีของบัญชีคือ การเก็บข้อมูลเอกสาร หลักฐานทางบัญชี จัดทำงบการเงิน และนำส่งข้อมูลเหล่านี้ให้แก่หน่วยงานต่างๆ เพื่อควบคุมดูแลให้กิจการดำเนินงานได้อย่างราบรื่น และเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้นคือเรามีเครื่องมือที่มาช่วยป้อนข้อมูลให้เร็วขึ้น ถูกต้องมากขึ้น ตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัดคือการใช้ RFID มาเป็นตัวตรวจจับการใช้บริการ แล้วตัดเงินจากบัญชีที่ลูกค้าเติมเงินไว้เข้ามาเป็นเงินรายได้ของกิจการ ซึ่งในบางประเทศได้นำไปใช้กับการตรวจจับเพื่อบันทึกการซื้อสินค้าต่างๆ มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือที่มาช่วยจัดเก็บข้อมูลที่พัฒนาขึ้นอีก เก็บข้อมูลได้มากขึ้น เก็บได้เร็วขึ้น ค้นหาข้อมูลได้เร็วขึ้น เครื่องมือและเครือข่ายการสื่อสารก็พัฒนาขึ้น จนทำให้การสื่อสารมีความไวสูง ในเวลาเท่าเดิมสามารถส่งผ่านข้อมูลในปริมาณที่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในเรื่องการทำงานได้จากหลายๆ สถานที่ ส่วนเครื่องมือหรือวิธีการชำระเงินที่พัฒนาในระบบก็มีวิธีการที่หลากหลายขึ้น สกุลเงินมีมากขึ้น เหล่านี้คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง
ในระดับองค์กรเองก็มีเทคโนโลยีที่ช่วยเอื้ออำนวยความสะดวกต่อความร่วมมือระหว่างองค์กรมากขึ้น เช่น การส่งข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์แทนแบบกระดาษ ซึ่งในสมัยก่อนเราจะสั่งสินค้ากันด้วยการแฟกซ์ใบสั่งซื้อ ต่อมาก็มีการส่งข้อมูลการสั่งซื้อแบบอิเล็กทรอนิกส์ไปยังผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายโดยตรง แล้วพัฒนาจนก้าวหน้าไปกว่าการส่งข้อมูลภาพ ที่ต้องใช้วิธีพิมพ์ออกมาแล้วให้คนนำไปป้อน กลายเป็นการส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์แบบข้อความที่เหมือนมีป้ายข้อมูลกำกับ ทำให้ระบบของผู้รับข้อมูลปลายทางทราบว่าข้อมูลใดคือรายการสินค้าที่จะสั่ง ข้อมูลใดคือจำนวน สิ่งเหล่านี้ช่วยร่นระยะการทำงานให้ลดลง สะดวกสบายและรวดเร็วยิ่งขึ้น ตัดจำนวนจ้างคนที่มาจัดการเรื่องการรับส่งเอกสารและนำไปป้อนเข้าสู่ระบบอีกต่อหนึ่ง อีกส่วนที่พัฒนาขึ้น คือ เครื่องมือดูแลระบบความปลอดภัย โดยข้อมูลจะถูกดูแลโดยมืออาชีพที่มีระบบการป้องกันภัยและกอบกู้ข้อมูลเมื่อเกิดสถานการณ์ไม่ปกติ
จะเห็นได้ว่าแม้เรามีเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยเหลือ แต่นักบัญชียังคงต้องรับมือกับระบบที่หลากหลายมากขึ้น เช่น เมื่อลูกค้ามีการชำระหนี้ในหลายช่องทาง นักบัญชีก็ต้องดูแลให้แน่ใจว่าข้อมูลการชำระหนี้และตัดหนี้นั้นครบถ้วนและถูกต้อง ดังนั้นบทบาทของนักบัญชีจึงเปลี่ยนไปเป็นผู้ดูแลความเรียบร้อย ผู้ตรวจสอบความถูกต้อง คิดวิเคราะห์ และให้ข้อมูลแก่ผู้ใช้มากขึ้นแทน
คำถามยอดฮิต!
นักบัญชีจะตกงานหรือไม่?
ต้องเล่าก่อนว่าเทคโนโลยีส่วนใหญ่เน้นการจัดการเฉพาะจุด เช่น ช่วยในการชำระเงิน ช่วยรักษาความปลอดภัย แต่หากเป็นเทคโนโลยีแบบครอบคลุมทั้งกิจการนั้นยังไม่ใช่ระยะเวลาใกล้ๆ นี้แน่ หากคุณเข้าใจจุดนี้คุณก็สามารถวางตัวเองหรือปรับตัวให้อยู่ได้ถูกที่ถูกจุด สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ เราทำบัญชีแบบดิจิตอลมาตั้งแต่มีคอมพิวเตอร์และมีโปรแกรมบัญชีแล้ว แต่ยังคงใช้นักบัญชีทำงานอยู่ เจ้าหน้าที่บางคนถูกเทคโนโลยีแย่งงานมานานแล้ว ยกตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่รับจ่ายเงินของธนาคารที่ถูกเครื่อง ATM เข้ามาแย่งงาน เจ้าหน้าที่เก็บค่าทางด่วนที่มีการใช้ระบบ RFID จัดเก็บค่าทางด่วนพวก ชื่อ Pass ต่างๆ เข้ามาบันทึกรายรับแทน ต่อไปเราก็คงต้องเจอกับเครื่องมือที่จะคิดเงินค่าสินค้าแทนแคชเชียร์
จะเห็นได้ว่า งานที่ถูกเครื่องมือเข้ามาแทนที่มักเป็นงานที่ทำหน้าที่ซ้ำๆ มีความซับซ้อนต่ำเป็นส่วนใหญ่ นักบัญชีซึ่งเป็นมนุษย์จึงยังพอมีเวลาปรับตัวเพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้มีศักยภาพสูงกว่าเครื่องมือเพื่อจะได้ไม่ตกงานกัน
ปรับตัวกันยังไง
ให้ตำแหน่งงานไม่สั่นคลอน
ผมขอแนะนำว่าในการเตรียมตัวนั้น อย่าไปคิดว่าเครื่องมือต่างๆ เป็นของไกลตัวเลยครับ บางคนอาจจินตนาการไปว่า หากให้ปรับตัวค้นหาคำตอบจากข้อมูล ก็ต้องพึ่งเครื่องไม้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีสิ! ซึ่งสิ่งเหล่านั้นก็คงจะซับซ้อนจนยากที่จะเข้าใจ อันนี้ไม่จริงแน่ๆ ครับ
ดูง่ายๆ อย่างโปรแกรม Excel ที่นักบัญชีทุกคนในยุคนี้ต้องเคยสัมผัส ก็เป็นโปรแกรมหนึ่งซึ่งมีเครื่องมือให้ใช้งานมากมาย ล้วนแต่เป็นประโยชน์ในการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งสิ้น อยู่ที่ว่าจะพยายาม จะยอมลงทุนบ้างที่จะพัฒนาตนเองหรือเปล่า หรือเครื่องมืออย่างโปรแกรม Access ก็มีประโยชน์มากเช่นกัน ถ้าลองศึกษา ลองหาคอร์สเรียนดู และได้ลองใช้แล้วจะพบว่าเป็นประโยชน์ ช่วยงานได้มากขึ้น นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการเตรียมตัวโดยใช้เครื่องมือที่จริงๆ แล้วอยู่ใกล้ตัว แต่หลายคนอาจเคยมองข้ามไป ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ได้ทักษะไม่น้อย ทั้งการฝึกคิด ฝึกวิเคราะห์ ฝึกใช้เครื่องมือนี้ อย่าไปคิดว่าถ้าเครื่องมือเปลี่ยนไปมันจะใช้ไม่ได้ ความคิด ประสบการณ์ เป็นสิ่งที่จะอยู่ติดตัวนักบัญชีไป เมื่อเครื่องมือเปลี่ยน คุณจะสามารถปรับตัวได้โดยง่าย บางทีต้องปรับน้อยกว่าที่คิด
ยิ่งงานบัญชีในกิจการขนาดใหญ่นั้นมักมีความซับซ้อนมากกว่า ไม่ใช่แค่ทำงบการเงิน ยื่นภาษีแล้วจบ การวิเคราะห์ข้อมูล ตอบคำถาม และให้ข้อมูลแก่ผู้ใช้ ทั้งฝ่ายปฏิบัติและผู้บริหาร เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยทักษะ ประสบการณ์ตรง ดังนั้นนักบัญชียุคนี้จึงมีสามข้อให้เรียนรู้และจดจำ หนึ่งคือต้องเรียนรู้เทคโนโลยีต่างๆ ให้มาก สองต้องอย่าลืมเพิ่มทักษะการใช้เครื่องมือต่างๆ ให้เป็น สามฝึกฝนทักษะการตรวจสอบข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล หาคำตอบ คำแนะนำ ที่นักบัญชีควรทำให้กับกิจการได้ หากทำได้สามข้อนี้เราก็จะใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือของเรา แบบนี้ก็ยังไม่ต้องกลัวตกงานครับ ถ้าวันหน้ามีความเปลี่ยนแปลงอื่นที่ชัดเจน เราค่อยมาพิจารณากันตามเหตุตามผลและตามระดับของการเปลี่ยนแปลง
เอาเป็นว่าไม่ต้องตกใจแต่ก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม นอกจากจะไม่ต้องกลัวตกงานแล้ว ทักษะสามข้อนี้ยังจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มแก่องค์กรในบทบาทหน้าที่ของตน และเป็นหนทางสร้างความก้าวหน้าหรือมั่นคงในอาชีพให้กับนักบัญชีได้อย่างดีด้วยครับ ตั้งสติแล้วก้าวต่อไปครับ