บทความ SPU : Disruptive Innovation เมื่อโลกใบใหม่ไม่ใช่ใบเดิมกับนวัตกรรมพลิกโลก โดย ผศ.สุพล พรหมมาพันธุ์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ม.ศรีปทุม

UploadImage
 
Disruptive Innovation เมื่อโลกใบใหม่ไม่ใช่ใบเดิมกับนวัตกรรมพลิกโลก
โดย ผศ.สุพล  พรหมมาพันธุ์
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ  มหาวิทยาลัยศรีปทุม

        
                เมื่อวันพุธที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้ร่วมกันจัดเสวนาพิเศษ Teck Talk #11 IT SPU ในรายวิชา BUS200, CSC200 และ CSE200 บัณฑิตในอุดมคติ ให้ความรู้กับนักศึกษา หัวข้อ “Disruptive Innovation เมื่อโลกใบใหม่ไม่ใช่ใบเดิมกับนวัตกรรมพลิกโลก” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากร คือ ผศ.ดร.ปราลี มณีรัตน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายนวัตกรรม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการศึกษา คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ณ ห้อง Auditorium 1 ชั้น 14 อาคาร 40ปี มหาวิทยาลัยศรีปทุม พอสรุปประมวลความได้ดังต่อไปนี้ 

UploadImage

คำว่า Disruptive Innovation คือ นวัตกรรมที่ก่อให้เกิดความยุ่งยาก เป็นคำที่ใช้ในสายงานของการบริหารธุรกิจ ซึ่งหมายถึงนวัตกรรมที่สร้างตลาดใหม่ และมีมูลค่าของเครือข่ายเพิ่มขึ้น และทำลายบริษัทชั้นนำในตลาด, ผลิตภัณฑ์, และพันธมิตรเดิมที่เคยมีอยู่ ที่เคยมีการจัดตั้งขึ้นก่อนหน้านี้ คำนี้เป็นคำที่นิยามและวิเคราะห์ โดยนักวิชาการชาวอเมริกัน ชื่อ ศาสตราจารย์เคลย์ตัน คริสเตนเสน (Clayton Christensen) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา และผู้ร่วมงานของเขาเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.1995 และได้รับการขนานนามว่าเป็นนักธุรกิจที่มีอิทธิพลมากที่สุดในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 (https://en.wikipedia.org) หรืออีกความหมายหนึ่งว่า นวัตกรรมที่ทำให้โลกมีการเปลี่ยนแปลง พวกเราทุกคนต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง เปลี่ยนทั้งแนวคิด พฤติกรรม และการบริโภค รวมถึงต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ (New Strategies), เปลี่ยนแนวความคิดใหม่ (New Idea), และเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ใหม่ (New Products) มีคำกล่าวเกี่ยวกับเรื่องนวัตกรรมเปลี่ยนโลกนี้ว่า “เราอยู่ในจุดสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และกำลังบังคับให้เราต้องเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่เพียงแต่ในรูปแบบใหม่ของการแก้ปัญหาเท่านั้น แต่ยังต้องคอยแก้ปัญหาใหม่ ๆ อีกด้วย” ก่อนอื่นนั้น ต้องมีไอเดียก่อน ดังนั้น คำว่า Innovation ก็คือ นวัตกรรม มีไอเดียใหม่ๆ มีนวัตกรรมใหม่ มีผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยนวัตกรรมนั้น ต้องดีกว่าเดิม  นวัตกรรมนั้นต้องขายได้ ถ้าหากขายไม่ได้ก็เป็นเพียงสิ่งประดิษฐ์ ปัจจุบันโลกกำลังเปลี่ยนแปลงเข้ามาอย่างรวดเร็วองค์กรและคนต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เป้าหมายของนวัตกรรมใหม่ คือ (1).เพื่อปรับปรุงเรื่องของคุณภาพ (2). เพื่อสร้างตลาดใหม่ (3).เพื่อขยายช่วงของผลิตภัณฑ์ (4) เพื่อลดงบประมาณเกี่ยวกับการจ้างงาน (5) เพื่อปรับปรุงกระบวนการของผลิตภัณฑ์ (6) เพื่อลดการใช้วัตถุดิบ (7) เพื่อลดการสูญเสียต่อสิ่งแวดล้อม (8) เพื่อนำมาแทนที่ผลิตภัณฑ์และการบริการ (9) เพื่อลดการใช้พลังงาน (10).เพื่อปฏิบัตตามกฎระเบียบอันดี การพัฒนานวัตกรรมนั้น สามารถสร้างได้หลายรูปแบบ คือ (1) นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (Product Innovation) เช่น เครื่องดูดฝุ่น (2) นวัตกรรมการบริการ (Service Innovation) เช่น การต่อทะเบียนรถยนต์ และการจ่ายเงินค่าใบสั่ง (3) นวัตกรรมกระบวนการ (Process Innovation) เช่น ระบบการเรียนผ่านออนไลน์ หรือ e-Learning

UploadImage
    https://www.kantola.com                            www.manager.co.th                          www.fakingnews.firstpos


ต่อมาเป็นเรื่องของการสร้างโอกาส ซึ่งต้องมีนวัตกรรม จนกระทั่งกลายเป็นผู้ประกอบการ นวัตกรรมเป็นตัว Drive ตัวอย่างเช่น กระดาษแปะ (Post IT) เกิดจากการไม่มีกระดาษตัดแปะ และมีผลิตภัณฑ์อีกหลายอย่างที่ล้วนแล้วเคยเป็นนวัตกรรมใหม่ เช่น iPod, เครื่องดูดฝุ่น, เครื่องโทรสาร หรือแฟกซ์ สำหรับเครื่องแฟกซ์นี้อยู่ได้อีกไม่เกิน 5 ปี คงไม่ค่อยมีคนใช้แล้ว ส่วนบุคคลผู้ที่นับว่าเป็นไอดอล (IDOL) ด้านการคิดค้นนวัตกรรมได้แก่ บิล เกต เจ้าของบริษัทไมโครซอฟท์, สติฟ  จอบส์ ซีอีโอ บริษัทเอปเปิล, และมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก เจ้าของเฟซบุ๊ค เป็นต้น e-Commerce ที่เราใช้งานกันอยู่ก็จัดว่า เป็นนวัตกรรม เมื่อก่อนคนมักไปเดินซื้อสินค้ากันตามห้างสรรพสินค้า เดี๋ยวนี้คนนิยมซื้อสินค้ากันผ่านระบบออนไลน์ เช่น amazon.com และตอนนี้ แม้แต่ Central Midnight Sale ก็ไม่ค่อยมีคนไปเดินซื้อกันเท่าไรแล้ว ดังนั้น ต้องรีบปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ไม่ว่าจะเป็นระดับองค์กร ระดับภูมิภาค และระดับโลกด้วย เราต้องฝึกคิด ถ้าไม่คิดเราจะไม่ได้สิ่งใหม่ๆ ในส่วนประเภทของนวัตกรรมนั้นมี 2 อย่างคือ (1) Incremental Innovation ได้แก่ นวัตกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย เช่น CD เปลี่ยนมาเป็น DVD หรือหวีที่ใช้สำหรับหวีผม จะเห็นได้ว่าหวีในปัจจุบันมีหลายรูปแบบมาก เพราะความต้องการของลูกค้ามีความแตกต่างกัน และก็สามารถขายได้เป็นจจำนวนมากด้วย (2) Radical Innovation ได้แก่ นวัตกรรมที่มีการเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด เรียกว่าเปลี่ยนทั้งโครงสร้าง เช่น จากไม้กวาดทำความสะอาดบ้าน พัฒนามาเป็นเครื่องดูดฝุ่น หรือซาวน์อเบาท์เปลี่ยนมาเป็น iPod เป็นต้น ต่อมาเป็นเรื่องของ Technology S-Curve ได้แก่ การพัฒนานวัตกรรมที่มีการเริ่มต้นมาจากการรู้จักสังเกตปัญหา และทำให้เกิดแนวความคิดขึ้นมาใหม่ พร้อมทั้งได้รับโอกาสและความเห็นชอบจากองค์กรในการพัฒนานวัตกรรม ทั้งนวัตกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย และนวัตกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ทั้งหมด โดยสามารถอธิบายสถานการณ์ได้จาก เส้นโค้งรูปตัวเลข S-Curve เช่น เครื่องพิมพ์ดีด พัฒนามาเป็นเครื่องพิมพ์ดีดรุ่นใหม่ และพัฒนาต่อมาเป็นโน้ตบุ๊คคอมพิวเตอร์ หรือตัวอย่างของโทรศัพท์ iPhone ต่อมามีการพัฒนาต่อเป็น iPhone 10 เป็นต้น
สรุป Disruptive Innovation คือ นวัตกรรมที่เกิดขึ้นมาแล้วทำลายผลิตภัณฑ์เดิมให้ตายไป ไม่มีสิทธิ์ได้เกิด เช่น ฟิล์มโกดัก (Kodak) ถูกแทนที่ด้วยโทรศัพท์มือถือ ทำให้บริษัทโกดักขาดทุน จำเป็นต้องปิดกิจการลง เพราะการไม่ปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายตัวอย่าง เช่น เท็ปคาสเซ็ท หรือแม้กระทั่งการจองห้องพักโรงแรม เดี๋ยวนี้คนส่วนใหญ่ก็มาจองผ่านระบบออนไลน์อย่าง agoda.com เป็นต้น แอพพลิเคชั่น Uber ก็เป็นแอพพลิเคชั่นด้านการให้บริการเรียกรถแท็กซี่ รวมถึง Google Map ที่ใช้เป็นตัวนำทางในการเดินทาง  ผู้หญิงที่ชอบทานแฮมเบอร์เกอร์ เดี๋ยวนี้มีผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์มาสำหรับการรับประทานแฮมเบอร์เกอร์โดยที่ปากไม่ต้องเปื้อนเลอะเทอะมาก เพราะเขาไปคิดถึงเรื่องความต้องการของลูกค้า เพราะเวลาทานแฮมเบอร์เกอร์แล้วทำให้เปื้อนปาก ดังนั้น Disruptive Innovation คือนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ และทำลายผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมให้ตายไปหมด และ Startup ก็เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา.