บทความ : สิทธิการให้นมแม่ ในสถานประกอบการ : ประเด็นใหม่ในด้านกฎหมาย โดย ผศ.ทัชชภร มหาแถลง ผู้ช่วยคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ศรีปทุม

UploadImage
 
สิทธิการให้นมแม่ ในสถานประกอบการ : ประเด็นใหม่ในด้านกฎหมาย
 
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า  นมแม่นั้น มีประโยชน์กับทารกมากมาย ซึ่งในประเทศไทยและต่างประเทศต่างรณรงค์เรื่องนี้มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว  ทั้งแม่และเด็กได้รับผลประโยชน์จากนมแม่ทั้งคู่ เพราะนมแม่ประกอบด้วยสิ่งที่ช่วยต่อต้านเชื้อโรค และแบคทีเรียต่างๆ  การให้นมลูกด้วยตัวเองช่วยลดอัตราความเสี่ยงของการเกิดโรคทางเดินหายใจ, กระเพาะปัสสาวะ และท้องเสียได้ เด็กที่ได้รับนมแม่โดยตรงจากอกแม่ทำให้เด็กแข็งแรงและไม่ค่อยป่วยง่าย หรือแม้จะป่วยก็จะไม่ป่วยถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาล ถ้าเทียบกับเด็กที่ไม่ได้รับนมแม่  การให้นมลูกจากแม่ป้องกันการเกิดโรคต่างๆของคุณแม่  เช่น โรคมะเร็งเต้านมและโรคกระดูกพรุน และรวมถึงเรื่องน้ำหนักในระยะยาวด้วย   ซึ่งองค์การอนามัยโลก(WHO) แนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเป็นเวลา อย่างน้อย 6 เดือน และหลัง 6 เดือนให้ลูกกินนมแม่ควบคู่กับอาหารเสริมตามวัยจนอายุครบ 2 ปี หรือมากกว่านั้น   จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ควรสนับสนุนที่จะช่วยให้แม่ได้มีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูลูก สอดคล้องกับแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขในการส่งเสริมให้เด็กไทยเติบโตด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่เจ็บป่วยบ่อย และมีพัฒนาการที่ดีตามวัย 

UploadImage
ด้วยสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน  คุณแม่ส่วนหนึ่งเมื่อคลอดบุตรแล้ว จำเป็นต้องกลับไปทำงาน  สำหรับในไทยนั้น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541   มีหลักว่าลูกจ้าง ซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาคลอดก่อนและหลังคลอดครรภ์หนึ่งไม่เกิน 90 วันโดยให้นับรวมวันหยุดที่มีระหว่างวันลาด้วย และให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้าง ซึ่งลาคลอดเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 45 วัน     ดังนั้น คุณแม่ผู้เป็นลูกจ้างที่ได้กลับไปทำงานแล้ว การให้นมลูกในขณะที่ทำงานไปด้วย จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากในทางปฏิบัติ  คุณแม่บางท่านเมื่อถึงเวลาพักจากการทำงาน   หากที่พักใกล้กับที่ทำงาน บางคนจะกลับไปบ้านเพื่อให้นมลูก  แต่ในความเป็นจริงแล้ว คุณแม่ส่วนใหญ่ จะมีเครื่องมือช่วย ในการทำให้น้ำนมออกมา หรือที่รู้จักกันดีว่าใช้เครื่องปั๊มนม  ซึ่งการปั๊มนมเป็นเครื่องมือช่วยให้คุณแม่นั้นสามารถที่จะให้นมลูกได้ มีประโยชน์กับคุณแม่ที่ต้องออกมาทำงานข้างนอกบ้าน หรือกรณีที่ลูกไม่เอาเต้านมแม่ เมื่อปั๊มนมหรือบีบน้ำนมออกมาสามารถเก็บนมใส่ถุงนมแม่ ทำเป็นสต๊อค ให้ลูกได้กินนมแม่เป็นระยะเวลานาน 

UploadImage

สำหรับประเทศไทยนั้น  เรื่องสถานประกอบการหรือที่ทำงานจะต้องจัดให้มีสถานที่สำหรับในนมบุตรนั้น อาจจะเป็นเรื่องที่ไกลตัว หรืออาจยังไม่เห็นความสำคัญมาก   แต่ในต่างประเทศ  เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา  การให้นมบุตร ถือเป็นสิทธิ ที่มารดาพึงจะกระทำได้ ทั้งในที่สาธารณะและในที่รโหฐาน ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  จะมีกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูประบบสุขภาพของแม่และเด็ก  มีกฎหมายที่ออกมาในแต่มลรัฐในเรื่องเกี่ยวกับการให้นมบุตร ถือเป็นวาระที่สำคัญอีกเรื่องในระดับชาติ  ประธานาธิบดีโอบามาได้ลงนามในพระราชบัญญัติ การดูแลสุขภาพในราคาสมเหตุสมผล(ACA) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2553 ในบทบัญญัติต่างๆมาตรา 4207 แห่งกฎหมายฉบับปรับปรุงพระราชบัญญัติมาตรฐานแรงงานที่เป็นธรรม (FLSA)   ว่าลูกจ้างสามารถพักเพื่อให้นมบุตร ปั๊มนมให้บุตรเมื่อไหร่ก็ได้ในเวลาที่เห็นสมควรหรือเวลาที่จำเป็น เป็นเวลา 1 ปี หลังคลอดลูก (ต่อ 1 คน)  และหลังเลิกงานลูกจ้างไม่จำเป็นต้องทำงานชดเชย ของเวลาที่หายไปนั้นๆด้วย   และทางบริษัทก็ควรจัดสถานที่ สำรอง ที่สะดวกสบายให้กับลูกจ้าง ที่ไม่ใช่ห้องน้ำ เพื่อให้ลูกจ้างสามารถปั๊มนมได้สะดวกขึ้นด้วย     ถ้าบริษัทนั้น ไม่สามารถที่จะทำสถานที่สำหรับห้องให้นมลูกได้  บริษัทนั้น จะต้องมีพนักงานน้อยกว่า 50 คน ก็จะไม่ ผิดกฏหมายข้างต้น แต่จะต้องชี้แจงเหตุผล รวมถึงภาระการพิสูจน์จะตกอยู่แต่นายจ้างว่าเหตุใดจึงไม่สามารถทำสถานที่ดังกล่าวได้   และกฎหมายของรัฐบาลกลางไม่มีผลหากกฎหมายของมลรัฐให้ความคุ้มครองแก่พนักงานผู้ที่ต้องให้นมบุตรหรือปั๊มนมมากกว่ากฎหมายของรัฐบาลกลาง   ซึ่งในปัจจุบัน มีหลายมลรัฐในสหรัฐอเมริกาที่มีกฎหมายให้ความคุ้มครองในเรื่อง เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมของลูกจ้างในสถานที่ทำงาน  เช่น  รัฐแคลิฟอเนีย  รัฐหลุยส์เซียน่า   รัฐนิวยอร์ค   รัฐโอกลาโฮม่า รัฐอาร์คันซอว์ เป็นต้น 

UploadImage

ในสหราชอาณาจักร มีกฏหมายว่าด้วยการให้นมบุตรของลูกจ้าง บัญญัติอยู่ในพระราชบัญญัติว่าด้วยความเสมอภาคหรือความเท่าเทียม ปี คศ.2010   โดย นายจ้างต้องจัดหาสถานที่สำหรับลูกจ้างให้ปั้มนมหรือบีบให้น้ำนมออก หรือให้นมบุตรที่สามารถพักและนอนพิงเอนได้   ลูกจ้างสามารถเรียกร้องขอสถานที่ที่เป็นส่วนตัวและสะดวกที่จะปั๊มนมให้บุตรได้ที่ไม่ใช่ในห้องน้ำ  ห้องพยาบาล หรือ สถานที่ ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ  อีกทั้งพระราชบัญญัติว่าด้วยเด็กและครอบครัว ค.ศ.2014 อนุญาตให้ลูกจ้างสตรีสามารถเจรจากับนายจ้างเพื่อยืดหยุ่นเวลาการทำงานหากต้องการที่จะให้นมหรือปั๊มนม โดยจะพิจารณาเป็นกรณีๆไป ขึ้นอยู่กับความตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ตัวอย่างเช่น  ลูกจ้างทำงานในบริษัท ได้พูดคุยกับนายจ้างว่าเธอต้องการที่จะไปให้นมบุตร และจะไปหาลูกที่เนิร์สเซอรี่ที่ได้ดูแลลูกของเธอ กรณีนี้นายจ้างอาจอนุญาตหากลูกจ้างใช้บริการเนิร์สเซอรี่ที่ใกล้กับบริษัท ซึ่งข้อตกลงยินยอมนี้ให้ลูกจ้างกระทำการดังกล่าวได้เป็นเวลา 3 เดือน หลังจากกลับมาทำงาน เป็นต้น 

UploadImage

กฎหมายของประเทศอาร์เจนตินา อนุญาตให้ลูกจ้างสามารถพักไปให้นมหรือปั๊มนมได้ 2 ครั้งต่อวัน และในแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 30 นาที จนกระทั่งเด็กอายุครบ 1 ปี  และระยะเวลาดังกล่าวสามารถยืดออกไปได้อีก หากมีความจำเป็นตามความเห็นของแพทย์  
สำหรับประเทศในทวีปเอเชียนั้น   ประเทศที่มีกฎหมายเกี่ยวกับการให้นมบุตร เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ มีพระราชบัญญัติส่งเสริมการให้นมบุตร  ค.ศ.2009   โดยถือเป็นนโยบายระดับชาติเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  ส่วนหนึ่งของกฎหมายนั้น มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฉบับเดิม โดยกล่าวถึงสถานที่ที่มารดาจะให้นมบุตร และมารดาที่จะปั๊มนมหรือให้นมในระหว่างเวลาทำงาน  กล่าวคือ จะมีช่วงเวลาให้พนักงานสามารถไปให้นม หรือปั๊มนมเพิ่มเติมจากเวลาพักปกติ  และชั่วโมงที่ออกไปให้นมจะถูกนับกลับมาเป็นชั่วโมงการทำงานได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าหากเป็นการให้นมในสถานที่ที่กำหนดไว้  เช่น ห้องให้นมในสถานประกอบการ โดยลูกจ้างสามารถให้นมได้อย่างน้อย 40 นาทีในเวลาทำงาน 8 ชั่วโมง 

UploadImage

สำหรับประเทศไทยนั้น   ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับสถานที่ที่มารดาสามารถให้นมบุตรหรือปั๊มนมในสถานประกอบการ  แต่เป็นที่น่ายินดีที่ในหลายๆสถานประกอบการเห็นความสำคัญของเรื่องนี้  จัดให้มีห้องหรือสถานที่ดังกล่าว ซึ่งไม่ใช่ห้องน้ำ หรือห้องพยาบาล อยู่ในสถานประกอบการ  แต่อาจยังเป็นส่วนน้อยอยู่ เมื่อเทียบกับสัดส่วนจำนวนสถานประกอบการในประเทศไทย  ดังนั้นภาครัฐควรส่งเสริมและสนับสนุนในเรื่องดังกล่าว  เพราะประโยชน์ที่ได้รับทั้งกับลูกจ้างและนายจ้าง เช่น คุณแม่ผู้เป็นลูกจ้างลางานน้อยลง เพราะเด็กที่ได้รับนมแม่จะไม่เจ็บป่วยง่าย ความเป็นห่วง ความกังวลใจของพนักงานก็จะลดลง มีสมาธิและขวัญกำลังใจที่ดีขึ้น ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานก็จะดีขึ้น ผู้ประกอบการรวมถึงบริษัทก็จะได้ภาพลักษณ์ที่ดี  อีกทั้งประเทศชาติจะได้เด็กและเยาวชนที่มีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคตต่อไป
Cr. http:www.thaihealth.or.th , http:www.thaihealth.or.th , https://www.babylist.com, http://www.telegraph.co.uk ,http://www.nwff.com.hk
#SRIPATUM #SPU #มหาวิทยาลัยศรีปทุม #เรียนกับตัวจริง ประสบการณ์จริง #SPUสร้างผู้ประกอบการ

สิทธิการให้นมแม่ ในสถานประกอบการ ประเด็นใหม่ในด้านกฎหมาย
บทความโดย  ผศ.ทัชชภร  มหาแถลง
ผู้ช่วยคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ศรีปทุม
สิทธิการให้นมแม่ ในสถานประกอบการ ประเด็นใหม่ในด้านกฎหมาย
บทความโดย  ผศ.ทัชชภร  มหาแถลง
ผู้ช่วยคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ศรีปทุม