บทความ SPU : ผู้มีทุนทรัพย์ กับ ผู้ไม่มีทุนทรัพย์ : โอกาสในการรับบริการสาธารณสุขที่เท่าเทียมกันจากรัฐ มีหรือไม่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นพดล ปกรณ์นิมิตดี ค

UploadImage
 
ผู้มีทุนทรัพย์ กับ ผู้ไม่มีทุนทรัพย์ : โอกาสในการรับบริการสาธารณสุขที่เท่าเทียมกันจากรัฐ มีหรือไม่
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์นพดล ปกรณ์นิมิตดี
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
            
            ข่าวของน้องนิว ในห้วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้ผู้เขียน นึกย้อนอดีตไป เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.2538   ซึ่งหากได้นับจนถึงเวลานี้ ก็ 22 ปีผ่านมาแล้ว  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในห้องฉุกเฉิน ของโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง  ซึ่งมีผู้ป่วยนอนเต็มไปหมด   เต็มไปด้วยญาติ ที่เฝ้ารออาการที่ดีขึ้นของคนป่วย   คุณหมอ ซึ่งมีจำนวนน้อยคนมาก กับพยาบาล เพียง 2 คน ในการทำงานกะค่ำ ที่ดูแลคนป่วย จำนวนมากกว่าบุคลากรหลายเท่า   
          คำถามที่คิดได้ในตอนนั้น  หากคุณหมอ ไม่พอ ทำไม ไม่หาหมอมาเพิ่ม   หากตึกคนป่วย ไม่พอ ทำไมไม่สร้างตึกเพิ่มครับ      คำถามในเหตุการณ์ตอนนั้น  กับคำถามในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กับน้องนิว ณ ปี พ.ศ.นี้  ก็น่าจะเป็นคำตอบที่ไม่แตกต่างกัน  นั่นก็คือ    การได้รับบริการสาธารณสุข  ที่ดี  ต้องมี เรื่องเงินทอง ทรัพย์สิน เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้   หากผู้ป่วย เป็นคนไม่มีเงิน หรือขาดแคลนทุนทรัพย์   การเลือกเข้าใช้บริการสาธารณสุข ในโรงพยาบาลของรัฐ คือคำตอบที่ถูกต้อง แต่ก็ต้องยอมรับความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ ก็คือ การได้รับบริการสาธารณสุข ที่ดี และเท่าเทียมกัน ย่อมเกิดขึ้นได้ยาก  ด้วยจำนวนแพทย์ พยาบาล  และเครื่องมือทางการแทพย์   ที่อาจไม่ได้สัดส่วนกับจำนวนผู้ป่วย
           ในแง่มุมของกฎหมาย      รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐
                            มาตรา ๕๕  บัญญัติว่า  “รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง เสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค และส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด
                          บริการสาธารณสุขตามวรรคหนึ่ง ต้องครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุม และป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพด้วย
                          รัฐต้องพัฒนาการบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
           
               บทบัญญัติ มาตรา ๕๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นี้  อยู่ในหมวดที่ ๕ หน้าที่ของรัฐ หรืออธิบายความในอีกนัยหนึ่ง ก็คือ  มาตรา ๕๕ คือ สิ่งที่กฎหมายสูงสุดของประเทศ กำหนดให้รัฐต้องกระทำ   คำว่า ประชาชน ในที่นี้  มิได้แยก คนรวยหรือคนจน หรือ ผู้มีทุนทรัพย์ หรือ ผู้ไม่มีทุนทรัพย์    แสดงให้เห็นว่า  ประชาชนทุกคน ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง
              ปัญหาเรื่องการรับบริการสาธารณสุข  มิได้เป็นปัญหาเฉพาะแต่ในประเทศไทย  ในต่างประเทศ เช่น กรณีประเทศสหรัฐอเมริกา กฎหมายว่าด้วยการประกันสุขภาพและระบบสาธารณสุข  หรือ โครงการ โอบามาแคร์ ก็เคย ก่อให้เกิดวิกฤตปัญหาแก่สหรัฐ   และถูกนำมาเป็นประเด็น มาในการหาเสียงเลือกตั้ง ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐมาแล้ว 
            สำหรับปัญหาเรื่องการรับบริการสาธารณสุข ในประเทศไทยนั้น  การได้รับบริการสาธารณสุข ที่เท่าเทียมกัน อาจมิได้ มีปัญหาที่กลุ่มของ ข้าราชการ หรือ   ลูกจ้างภาคเอกชนที่อยู่ในระบบประกันสังคม ที่โรงพยาบาลเอกชน หลายแห่ง ก็มีแผนก ประกันสังคม ที่ไว้ค่อยดูแลคนไข้ประกันสังคมโดยเฉพาะ เท่าไรนะ    แต่น่าจะอยู่ที่กลุ่มประชาชน  ที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ ที่เข้าใช้บริการสาธารณสุข ในโรงพยาบาลของรัฐ  เป็นสำคัญ
           ที่ผ่านมา  คนมีฐานะทางการเงินที่ดี (ผู้มีทุนทรัพย์) แม้จะไม่ได้มีชื่ออยู่ในระบบประกันสังคม  มีชื่อใช้บัตรทอง 30 บาทได้  แต่คนมีเงินหรือมีทุนทรัพย์เหล่านี้  โดยส่วนใหญ่ คงเลือกใช้บริการสาธารณสุขในโรงพยาบาลเอกชน  เพื่อได้รับบริการ ที่ดี และมีคุณภาพ อยู่แล้ว       ฉะนั้น  สิ่งที่มาตรา 55 ของรัฐธรรมนูญ ได้เขียนไว้ว่า .....ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง.....    คงอาจเป็นเพียงมโนภาพ แม้จะเป็นหน้าที่ของรัฐ  โดยนิตินัย  แต่โดยพฤตินัย ยาก และสามารถพยากรณ์ ไปอีก 10 ปีล่วงหน้า  เลยได้ว่า ยากเสียยิ่งกว่ายาก เพราะรัฐบาล จะมีเงินงบประมาณมากมายเพียงพอ มาสนับสนุนโครงการหลักประกันสุขภาพ  ได้หรือ   หากแม้รัฐบาลต่อๆไป จะทุ่ม งบประมาณด้านสาธารณสุข เพิ่มขึ้น ก็ย่อมไปกระทบงบประมาณ ด้านอื่นๆ ที่มีความสำคัญ ไม่แพ้กัน เช่นการป้องกันประเทศ  หรือ การศึกษา ฯลฯ   ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว
        การที่รัฐบาล เปิดให้มีการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย  จึงนับได้ว่า เป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง   การสนับสนุนงบประมาณของรัฐ ในโครงการหลักประกันสุขภาพ  ควรลงไปให้แก่ผู้ที่มีรายได้น้อย ที่ได้ถูกขึ้นทะเบียนไว้    การได้รับบริสาธารณสุข ที่ดี   ผู้ป่วยที่มีฐานะ หรือมีทุนทรัพย์ ควรมีส่วนร่วมในการจ่ายเงินค่ารักษาตัวเอง ในส่วนที่ตนพอจ่ายได้     เพราะบางครั้งความเท่าเทียมในทางกฎหมาย  อาจนำมาซึ่งความไม่ยุติธรรมได้เช่นด้วยกัน
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อาจมีคำตอบ ของคำถาม ที่ว่า ผู้มีทุนทรัพย์ กับผู้ไม่มีทุนทรัพย์ จำเป็นต้องได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกันจากรัฐ ในเรื่องบริการสาธารณสุข   คำตอบ คือ ใช่ครับ  ทุกคนต้องได้โอกาสที่เข้าถึงสิทธิในบริการสาธารณสุขของรัฐ    ส่วนบริการสาธารณสุข ทางเลือก สำหรับคนมีเงิน ก็สุดแล้วแต่ความพร้อมของแต่ละคน     แต่สำหรับโครงการหลักประกันสุขภาพ   เสนอว่า ควรต้องแยก
        รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๔๗ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า  บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ
        และวรรคสอง บัญญัติว่า  “บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ”
        ประชาชนทุกคน ย่อมควรมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ โดยเท่าเทียมกัน เพียงแต่ ผู้ที่มีทุนทรัพย์ ก็ควรต้องจ่ายเพิ่มบ้าง  งบประมาณรัฐที่มีจำกัด ควรให้เป็นเงินอุดหนุนรายหัวแก่ผู้ไม่มีทุนทรัพย์หรือผู้ที่ได้ลงทะเบียนไว้กับรัฐ เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้มีโอกาสเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ดี พอ อันเทียมเท่ากับ บริการสาธารณสุข ที่ผุ้มีทุนทรัพย์ จ่ายเองได้
       ท้ายสุดนี้  เงินอาจเป็นตัวกำหนดคุณภาพของการให้บริการทางการแพทย์ ในโรงพยาบาลเอกชนได้  แต่เงิน ก็ไม่ควรมาเป็นตัวสร้างปัญหาให้กับระบบบริการสาธารณสุขของรัฐ  ทำให้ประชาชนโดยส่วนใหญ่ ที่ยังมีรายได้ไม่เพียงพอ เข้าถึงบริการที่มีคุณภาพไม่ได้        คงได้แต่เพียงหวังว่า จะมีการร่วมคิด ใหม่ทำใหม่ เพื่อการบริหารจัดการใหม่ ในเรื่องนี้ กันอย่างจริงจังเสียที อีกครั้งนะครับ