3

สาขาวิชา

ท่องโลกกว้าง

พร้อมสร้างรายได้

มีงานรองรับ

Skill Level

จำลองสายการบิน

มาตั้งให้เป็นที่เรียน

เตรียมพร้อมด้านภาษา

Thaink Global

Hall of Frame ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

คุณหญิงชนัตถ์ ปิยะอุย

ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

คุณหญิงชนัตถ์ ปิยะอุย

ในการมอบปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต
สาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม ประเภททั่วไป
ปีการศึกษา 2536 มหาวิทยาลัยศรีปทุม

สภามหาวิทยาลัยศรีปทุม ในการประชุมครั้งที่ 4/2536 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2536 ได้พิจารณาเห็นว่า คุณหญิงชนัตถ์ ปิยะอุย เป็นผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรม เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ เป็นผู้มีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์และมีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ ทั้งในวงการบริหารงานการท่องเที่ยว และการโรงแรม และการบริหารงานทางสังคม สมควรได้รับการยกย่องและประกาศเกียรติคุณ ให้เป็นที่กว้างขวางและแพร่หลายต่อไป

คุณหญิงขนัตถ์ ปิยะอุย สําเร็จการศึกษาระดับเตรียมอุดมศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระดับอนุปริญญาการบริหารธุรกิจ จากสหรัฐอเมริกา จากประสบการณ์ขณะศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกา ได้ท่องเที่ยวไปในที่ต่าง ๆ พักตามโรงแรมมากมายหลายแห่ง ทําให้ชอบธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรม เมื่อกลับมาเมืองไทยได้ขอยืมเงินบิดาสร้างโรงแรมขนาด 60 ห้องขึ้นที่ปากตรอกโรงแรมโอเรียนเต็ล ชื่อโรงแรมปริ้นเซส ได้ริเริ่มสร้างสระว่ายน้ำไว้บริการแก่นักท่องเที่ยวเป็นแห่งแรกของเมืองไทย เนื่องจากมีคนงานน้อย บ่อยครั้งที่คุณหญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ต้องเข้าช่วยแผนกจัดห้องพัก ล้างห้องน้ํา ทําอาหาร หรือช่วยงานบาร์ สมัยเมื่อ 40 ปีก่อน ผู้หญิงไม่กล้ามาทํางานโรงแรม แต่เมื่อเห็นตัวอย่างจากคุณหญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ ผู้หญิงกล้ามาทํางานโรงแรมมากขึ้น ตั้งแต่นั้นมา

ต่อมาคุณหญิงขนัตถ์ ปิยะอุย ได้สร้างโรงแรมที่มีสัญญลักษณ์เป็นของตนเอง คือ “โรงแรม ดุสิตธานี” ขึ้นในปี พ.ศ. 2513 เป็นโรงแรมขนาด 525 ห้อง ใช้ทุน 300 ล้านบาท โดยใช้ทุนที่ตนมีอยู่ประมาณ 5% นอกนั้นระดมทุนจากแหล่งเงินทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยไม่มีหลักประกัน แต่ได้อาศัยเกียรติยศชื่อเสียงและความซื่อสัตย์สุจริตที่ได้สะสมมาเป็นประกันเท่านั้น

จากประสบการณ์จากการบริหารงานโรงแรมดุสิตธานี ตลอดจนได้ศึกษาจากหนังสือจากคําแนะนําของนักท่องเที่ยวและจากการดูงานต่างประเทศทั้งในยุโรป อเมริกาและเอเซีย ทําให้คุณหญิงชนัตถ์ ปิยะอุย สามารถขยายงานออกไปโดยตั้งโรงแรมเพิ่มขึ้น ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด เป็นการสร้างงานเพิ่มขึ้น ทําให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ และผู้บริหารงานระดับต่าง ๆ ซึ่งได้รับการฝึกอบรมไว้ดีแล้วได้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น จากการดําเนินกิจการธุรกิจโรงแรมเป็นที่ประจักษ์ จึงได้รับความไว้วางใจจากเจ้าของกิจการในด้านการบริหาร จึงมีโรงแรมที่ขอให้คุณหญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ช่วยบริหารทั่วทุกภาคทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ โรงแรมระดับ 5 ดาว ขึ้นไป ซึ่งบริหาร โดยกลุ่ม “ดุสิตธานี” รวม 9 โรง จํานวน 2,273 ห้อง จํานวนพนักงาน 3,366 คน โรงแรมระดับ 4 ดาว บริหารโดยกลุ่ม “รอยัลปริ้นเซส” รวม 11 โรง จํานวนห้อง 1,894 ห้อง จํานวนพนักงาน 2,120 คน เพื่อส่งเสริมการศึกษาด้านโรงแรม คุณหญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ได้เปิดโรงเรียนระดับสากล สอนวิชาการบริหารโรงแรมขึ้น คือ “โรงเรียนการโรงแรมดุสิตธานี” มีหลักสูตร 2 ปี รวมฝึกภาคปฏิบัติด้วย ตั้งอยู่ที่ถนนศรีนครินทร์ ได้เปิดดําเนินการมาตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2536  โดยว่าจ้างอาจารย์ผู้ชํานาญจากต่างประเทศมาทําการสอน ในด้านการบริหารงานทางสังคม คุณหญิงชนัตถ์ ปิยะอุย มีบทบาทสําคัญในกิจกรรมสังคมส่วนรวม เป็นกรรมการสมาคมและกรรมการมูลนิธิหลายแห่ง เป็นกรรมการรณรงค์สภาพสิ่งแวดล้อมถูกทําลาย ต่อต้านโรคเอดส์ อนุรักษ์ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมประเพณีไทย และ ศิลปไทยสู่สายตาชาวต่างประเทศทั่วโลก เป็นต้น ด้านคุณงามความดีดังกล่าว ท่านจึงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น จตุตถ-จุลจอมเกล้า ตติยจุลจอมเกล้า และทุติยจุลจอมเกล้า ใน พ.ศ. 2532 2535 และ 2536 ตามลําดับ

ปัจจุบัน คุณหญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ดํารงตําแหน่งประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัทดุสิตธานี จํากัด (มหาชน) โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ และเป็นประธานกรรมการบริษัท อื่น ๆ อีก 17 บริษัท กรรมการผู้จัดการบริษัทรอยัลปริ้นเซส จํากัด (มหาชน) และกรรมการบริษัท มูลนิธิ และหน่วยงานอื่น ๆ อีก 8 แห่ง การบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี มีความนิยมไทย ได้สร้างงานและสร้างคนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไป พร้อม ๆ กัน จึงเป็นที่ยอมรับนับถือของคนในวงงานและบุคคลทั่วไป เกียรติคุณที่ได้รับ เช่น โล่บุคคล ผู้บําเพ็ญประโยชน์อย่างยิ่งแก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย โล่รางวัล Singapore Business and Professional Women’s Association. Congress Women in Decision Making ค.ศ. 1985 เกียรติคุณบัตรบุคคลตัวอย่าง ประจําปี 2531 โล่นักบริหารโรงแรม นักธุรกิจสตรีแห่งปี ประจําปี 2532 และได้รับพระราชทานปริญญาพัฒนาบริหารศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ทางบริหารธุรกิจจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2533 ทําให้มองเห็นได้ชัดว่า คุณหญิงชนัตถ์ ปิยะอุย เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการบริหารงานด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรมเป็นอย่างสูง มีบทบาทในการเสริมสร้างและบําเพ็ญประโยชน์ให้แก่สังคมเป็นอันมาก จนเป็นที่ประจักษ์และได้รับการยอมรับโดยทั่วไป

จากผลงานและเกียรติคุณอันดีเด่นดังกล่าว สภามหาวิทยาลัยศรีปทุมจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ได้รับปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม ประเภททั่วไป แก่คุณหญิง ชนัตถ์ ปิยะอุย เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป

นายจตุพร สีหนาทกถากุล

ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

นายจตุพร สีหนาทกถากุล
ในการมอบปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต
สาขาวิชาการโรงแรมและการท่องเที่ยว ประเภททั่วไป
ปีการศึกษา 2548 มหาวิทยาลัยศรีปทุม

นายจตุพร สิหนาทกถากุล ถือกําเนิดที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พุทธศักราช 2484 สําเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อพุทธศักราช 2507 หลังจากสําเร็จการศึกษาแล้วได้เริ่มทํางานในตําแหน่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบบัญชีภายใน บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย ทํางานอยู่ได้เป็นเวลา 2 ปี บิดาได้สร้างโรงแรมสยาม ที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพมหานคร จึงได้ให้ นายจตุพร สิหนาทกถากุล มาบริหารโรงแรม ในตําแหน่งผู้จัดการทั่วไป โดยที่นายจตุพร สิหนาทกถากุล ไม่ได้ศึกษามาทางด้านการบริหารโรงแรม จึงได้ดูแลด้านการเงินและการบัญชีไปก่อน แต่จากการที่เป็นคนที่ตั้งใจจริงในการทํางาน และมีอุปนิสัยรักการศึกษาเป็นทุนอยู่แล้ว จึงได้ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง มาปรับปรุงดัดแปลงใช้กับโรงแรมสยาม จนทําให้โรงแรมสยามเป็นโรงแรมที่ประสบความสําเร็จในระดับสูง

ด้วยความเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและมองเห็นประโยชน์ของสังคมและประเทศชาติ นายจตุพร สิหนาทกถากุล เห็นว่า ธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจสําคัญที่จะสนับสนุนการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นธุรกิจที่นํารายได้เข้ามาสู่ประเทศ และเป็นการสร้างงาน และกระจายรายได้ให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จึงได้ตัดสินใจสร้างโรงแรมขนาดใหญ่ คือ โรงแรมแลนด์มาร์ค ขึ้นที่ถนนสุขุมวิท กรุงเทพมหานคร เป็นโรงแรมขนาด 414 ห้อง เมื่อพุทธศักราช 2530 หลังจากนั้นได้ซื้อกิจการโรงแรมในประเทศอังกฤษ 3 แห่ง คือ โรงแรมรอยัลแลงคาสเตอร์ ขนาด 418 ห้อง เมื่อปีพุทธศักราช 2537 โรงแรมแลนด์มาร์คลอนดอน ขนาด 309 ห้อง เมื่อปีพุทธศักราช 2539 และโรงแรม เค เวส เมื่อพุทธศักราช 2544

ด้วยความรู้ความสามารถอันสูงยิ่งของนายจตุพร สิหนาทกถากุล ทําให้ธุรกิจโรงแรมทั้งในกรุงเทพมหานคร และในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ประสบความสําเร็จอย่างงดงาม ประจักษ์พยาน ก็คือโรงแรมทั้ง 4 แห่ง ได้รับรางวัล จากนิตยสารและองค์กรที่เกี่ยวกับธุรกิจการท่องเที่ยวมากมาย อาทิ ระหว่างปี 2539-2548 โรงแรมแลนด์มาร์ค กรุงเทพมหานคร ได้รับรางวัลรวม 8 รางวัล โดยเฉพาะปี 2547 ได้รับรางวัลชนะเลิศด้านมาตรฐานการบริการ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค คือ รางวัล “QXL Champion Hotel of the Year, Asia Pacific” จากซัมมิทโฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท ระหว่างปี 2537-2549 โรงแรมแลนด์มาร์ค ลอนดอน ได้รับรางวัลหลายประเภทรวม 17 รางวัล โดยเฉพาะปี 2548 ได้รับรางวัลโรงแรมที่ดีที่สุดในโลก คือรางวัล “Gold List World’s Best Places to Stay” จากนิตยสาร ท่องเที่ยวดังที่สุดของโลก Conde Nast Traveler ระหว่างปี 2533-2542 โรงแรมรอยัลแลงคาสเตอร์ ลอนดอน ได้รับรางวัลรวม 16 รางวัล และในปี 2547 โรงแรม เค เวส ได้รับรางวัลโรงแรมที่ดีที่สุดในนครลอนดอน ในส่วน ของบาร์และห้องอาหาร

ในเบื้องต้นของการดําเนินกิจการ นายจตุพร สิหนาทกถากุล ประสบวิกฤติการณ์หลายประการ เช่น เกิดสงคราม อ่าวเปอร์เซีย ในประเทศมีวิกฤตการณ์ทางการเมืองในเดือนพฤษภาคม 2535 แต่ละเหตุการณ์ล้วนมีผลกระทบอย่างรุนแรง ต่อกิจการท่องเที่ยวและโรงแรม และที่สําคัญคือ วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 แต่ด้วยศักยภาพในการใช้หลักวิชาทั้ง การบริหารและด้านการท่องเที่ยวและโรงแรม นายจตุพร สิหนาทกถากุล สามารถบริหารกิจการผ่านวิกฤติดังกล่าวมาได้ จนกระทั่งประสบความสําเร็จอย่างสูงยิ่งในปัจจุบัน

นอกจากเป็นผู้บริหารกิจการโรงแรมอันส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศแล้ว จากการเป็นผู้รอบรู้ ด้านกิจการโรงแรมและการท่องเที่ยวอย่างถ่องแท้ ทําให้นายจตุพร สิหนาทกถากุล ใช้ความรู้นั้น ประกอบคุณงามความดีและเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ดังจะเห็นได้จากเป็นผู้มีบทบาทสําคัญในด้าน การบริการทางวิชาการและสังคม เช่น เป็นผู้พิพากษาสมทบศาลแรงงาน รวม 9 สมัย เป็นกรรมาธิการยกร่าง พระราชบัญญัติการท่องเที่ยว เป็นที่ปรึกษา คณะกรรมการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร เป็นนายกสมาคม การค้าไทยอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และเลขาธิการสมาคม นายจ้างโรงแรมกรุงเทพ เป็นต้น
จากผู้ที่มีพื้นฐานการศึกษาทางด้านบัญชี แต่จากการศึกษาด้วยตนเองด้วยการปฏิบัติจริง จนเป็นนักธุรกิจ ที่รอบรู้เรื่องการท่องเที่ยวและการโรงแรมอย่างถ่องแท้ ได้ใช้หลักวิชาประกอบประสบการณ์และศักยภาพส่วนตัว ดําเนินกิจการจนประสบความสําเร็จ ทั้งได้ทํางานเพื่อช่วยเหลือสังคมตลอดมา เป็นที่ประจักษ์ทั้งวงราชการและ ประชาชนโดยทั่วไป สภามหาวิทยาลัยศรีปทุม จึงมีมติเป็นเอกฉันท์มอบปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการโรงแรมและการท่องเที่ยว ให้แก่ นายจตุพร สิหนาทกถากุล เพื่อเป็นเกียรติประวัติต่อไป

นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ

ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

ในการมอบปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต
สาขาวิชาธุรกิจการบิน ประเภททั่วไป 
ปีการศึกษา 2555 มหาวิทยาลัยศรีปทุม

นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ สําเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหิดล) เมื่อปี พ.ศ. 2503 รับราชการเป็นแพทย์ประจําบ้าน หัวหน้าแพทย์ประจําบ้าน และ อาจารย์ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลศิริราชรวมเวลา 5 ปี จึงลาออกเพื่อประกอบธุรกิจส่วนตัว

นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เป็นแพทย์ที่ประสบความสําเร็จเป็นอย่างยิ่งในการประกอบธุรกิจ ด้านการคมนาคมทางอากาศ โดยเป็นเอกชนรายแรกที่บุกเบิกและดําเนินกิจการด้านการบินพาณิชย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 ในนามของบริษัท สหกลแอร์ จํากัด ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท การบินกรุงเทพฯ จํากัด ในปี 2537 ได้รับอนุญาตให้สร้างสนามบินพาณิชย์ของเอกชนเป็นรายแรกของประเทศไทย ที่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และ ในเดือนเมษายน 2532 ได้เปิดเที่ยวบินแรกจากกรุงเทพฯ สู่เกาะสมุย ในปี 2535 ได้รับอนุญาตให้สร้างสนามบินสุโขทัยเป็นแห่งที่สอง ซึ่งจะเปิดดําเนินการในปี 2537 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งบริษัท บางกอกแอร์ เวย์ รวมถึงได้ขยายอาณาจักรเครือข่ายธุรกิจครบวงจร

บริษัท การบินกรุงเทพ จํากัด ในระยะแรกได้ดําเนินกิจการเดินอากาศประเภทเช่าเหมาลํา เครื่องบินแรกของบริษัทฯ เป็นเครื่องบินแบบ “Trade Wind” 2 เครื่องยนต์ ขนาด 9 ที่นั่งโดยสาร ทําการบินตามสัญญา ว่าจ้างจากหน่วยงานก่อสร้างทางทหารของสหรัฐอเมริกา (OICC) ในการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาและทําการบิน โดยเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ สนับสนุนการขุดเจาะน้ํามันและก๊าซในอ่าวไทยต่อมาบริษัทฯ ได้นําเข้าเครื่องบิน ISLANDER BN2 เพื่อทําการบินให้กับหน่วยงาน OICC และ USOM เพิ่มเติม นับจากนั้นบริษัทฯ ก็ได้มีการพัฒนาการจัดหาเครื่องบินและธุรกิจการบินมาตลอด โดยการนําเครื่องบินที่มีสมรรถนะการใช้งานดีเข้ามาเสริมการบริการ บริษัทฯ ได้รับการว่าจ้างจากบริษัทสํารวจหลายแห่งให้ทําการบินด้วยเครื่องบินและ เฮลิคอปเตอร์ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัท การบินกรุงเทพ จํากัด โดยการบริหารงานของนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร ได้พยายามทุกวิถีทางที่จะดําเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องด้วยความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวตั้งแต่เริ่มต้นในด้านต่างๆ ทั้งในเรื่องของการบุกเบิกเส้นทางบินใหม่ การมีสนามบินเอกชนแห่งแรกเป็นของตนเอง รวมทั้ง การเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ และการบริการอันแสนประทับใจแก่ผู้โดยสารในด้านต่างๆ ทําให้ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นจํานวนมาก ณ วันนี้ บางกอกเอร์เวย์ ได้พัฒนาอย่างไม่หยุดหย่อนทั้งด้านบริการ ราคา และภาพลักษณ์ โดยเน้นการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง รวมถึงภาพลักษณ์ต้องเข้าถึงใจลูกค้าด้วยการตลาดที่เป็นเชิงรุก บริษัทฯ ได้ประกาศจุดยืนที่เด่นชัดของการเป็น Asia’s Boutique Airline ที่จะร่วมแรงร่วมใจกันและมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนสายการบินแห่งนี้ให้เติบโตและสามารถให้บริการอันแสนประทับใจเพื่อให้ทั่วโลกได้ตระหนักถึง “ความประทับ ใจแห่งเอเชีย” ในทุกๆด้าน ที่นิยามความเป็น Boutiquen ไม่ว่าจะเป็น Boutique Lounges, Blue Ribbon Club เมนูที่คัดสรรเป็นพิเศษ การบริการที่ประทับใจ และเครื่องบินใหม่ที่ได้รับการตกแต่งให้มีสีสันเป็นเอกลักษณ์

ด้วยความพยายามอย่างยิ่งยวดประกอบกับวิสัยทัศน์อันกว้างไกลในการประกอบธุรกิจด้านการคมนาคมทางอากาศ ซึ่งถือปัจจัยสําคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นส่วนสําคัญในการ พัฒนาการท่องเที่ยวซึ่งกําลังเจริญเติบโตอย่างมาก จนกลายเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ทํารายได้เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ สภามหาวิทยาลัยศรีปทุม จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ มอบปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธุรกิจการบิน ประเภททั่วไป แก่ นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป

นางสุพัตรา จิราธิวัฒน์

ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

ในการมอบปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต
สาขาวิชาการโรงแรมและการท่องเที่ยว ประเภททั่วไป 
ปีการศึกษา 2554 มหาวิทยาลัยศรีปทุม

นางสุพัตรา จิราธิวัฒน์ เป็นสมาชิกของตระกูล จิราธิวัฒน์ ซึ่งเป็นตระกูลนักธุรกิจที่สําคัญของประเทศ หลังจากสําเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานจากโรงเรียนจิตรลดาแล้ว ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีสาขารัฐศาสตร์จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจจาก University of New Haven ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงที่ประกอบธุรกิจ ได้รับการศึกษาอบรมในหลักสูตร Hotel Management Course Cornell University สหรัฐอเมริกา หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร, หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน หลักสูตรการจัดการโรงแรมจากประเทศแคนนาดา ประเทศสิงคโปร์ และหลักสูตร Hospitality Services Seminar for Asean Countries จาก ILO (International Labour Organization) ที่จัด ณ ประเทศมาเลเซีย เป็นต้น

นางสุพัตรา จิราธิวัฒน์ เป็นผู้บริหารธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ทในเครือ CENTARA ทั้งในและต่างประเทศถึง 54 แห่งและที่จะแล้วเสร็จในปี 2557 อีก 24 แห่ง ผลงานบริหารที่โดดเด่น คือผลงานที่นางสุพัตรา จิราธิวัฒน์ มีบทบาทสําคัญมาตั้งแต่ดํารงตําแหน่ง เป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการจัดประชุมนานาชาติของโรงแรมไฮแอทเอราวัณ กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2526 เจริญก้าวหน้าเป็นลําดับ จนกระทั่งเป็นรองประธานอาวุโส ฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และ ภาพลักษณ์ โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา ตลอดระยะเวลา 26 ปีที่เป็นผู้บริหาร ได้สร้างความสําเร็จที่ เกิดประโยชน์ต่อต่อการท่องเที่ยว เช่น โรงแรมและรีสอร์ทในเครือ CENTARA ได้รับรางวัลต่างๆ เช่น สุดยอด โรงแรมปลอดบุหรี่ 12 รางวัล จากสํานักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) เมื่อ พ.ศ. 2554 และผลงานการบริหารของโรงแรมและรีสอร์ทในเครือที่เจริญรุ่งเรืองย่อมเป็นที่ประจักษ์

นางสุพัตรา จิราธิวัฒน์ ได้ริเริ่มดําเนินงานโครงการที่เป็นประโยชน์แก่สังคม โดยการพัฒนาคนด้านการ โรงแรมและการท่องเที่ยวหลายโครงการ อาทิ โครงการ Centara Academy เปิดสอน และให้ทุนการศึกษาแก่ นักเรียนที่สําเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ศึกษาวิชาการโรงแรม ร่วม กับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน โครงการ Young Career Development Program (TCDP) สงเคราะห์นักเรียน ที่จบระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้า ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ฯลฯ นักศึกษาในโครงการสําเร็จการศึกษาเป็นบุคลากรที่มีศักยภาพออกไปประกอบ อาชีพ ด้านการโรงแรม และการท่องเที่ยว เป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

ถึงแม้หน้าที่การงานในฐานะผู้บริหารระดับสูงจะต้องมีความรับผิดชอบมากมาย แต่นางสุพัตรา จิราธิวัฒน์ ยังสละเวลาปฏิบัติงานช่วยสังคมหลายด้าน เช่น เป็นที่ปรึกษาสมาคมโรงแรม, กรรมการ สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (TICA), กรรมการสมาคมและองค์กรส่งเสริมธุรกิจโรงแรมและการ ท่องเที่ยว, ประธานคณะกรรมการฝ่ายการตลาด สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, กรรมการ ท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ประธานวุฒิสภา, ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง สาธารณสุข และปัจจุบันทําหน้าที่เป็นกรรมการและผู้ช่วยประธานด้านการตลาด สภาอุตสาหกรรม ท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ผลงานทั้งในหน้าที่และต่อสังคมทําให้ นางสุพัตรา ได้รับยกย่องเป็น BOSS OF THE YEAR จาก นิตยสาร BOSS เมื่อ พ.ศ. 2550 และเป็น 100 สตรีแถวหน้าแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2551 ด้วยผลงานในการบริหารได้ใช้ความรู้ความสามารถ มีส่วนสนับสนุนส่งเสริมองค์การท่องเที่ยวของไทยให้ เจริญรุ่งเรือง ก่อประโยชน์มหาศาลในด้านเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ

นางอรวรรณ พัฒนพีระเดช

ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

ในการมอบปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต
สาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม ประเภททั่วไป 
ปีการศึกษา 2557 มหาวิทยาลัยศรีปทุม 

นางอรวรรณ  พัฒนพีระเดช สกุลเดิม รักสุจริต  ถือกำหนดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ปีพุทธศักราช2512  ที่จังหวัดขอนแก่น สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานจากโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ระดับปริญญาตรีสาขาการตลาดระหว่างประเทศ จากคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาโท  ด้านบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ จาก University of Dallas ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปีพุทธศักราช 2536

หลังจากสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ  นางอรวรรณ  พัฒนพีระเดช   เริ่มงานในสายธุรกิจของบิดา  คือ  บริษัท โรงแรมราชาออคิด จำกัด  ที่จดทะเบียนดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2535  ภายใต้แบรนด์ SOFITEL  ได้เบนเข็มที่จะดำเนินกิจการโรงแรมขนาดใหญ่ได้มาตรฐานสากล  โดยจ้างทีมบริหารโรงแรมระดับ 6 ดาว คือ “ACCOR ASIA PACIFIC” Group of Hotel & Resort  เปลี่ยนแบรนด์ SOFITEL เป็นแบรนด์ PULLMAN ดำเนินกิจการ ประสบความสำเร็จได้รับการยอมรับในปีพุทธศักราช 2553  โรงแรมได้รับรางวัลโรงแรมมาตรฐาน 5 ดาว ในปีพุทธศักราช 2555 นางอรวรรณ  พัฒนพีระเดช จึงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบในฐานะกรรมการผู้จัดการ การลงทุนในอุตสาหกรรมบริการโดยเฉพาะการบริการโรงแรมในระดับ 5 ดาว ในภูมิภาค  นับว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก  ที่จะมีผู้ที่กล้าแบกรับความเสี่ยงโดยการลงทุนในลักษณะนี้  โดยเฉพาะในภูมิภาคที่ไม่ใช่เป็นเมืองท่องเที่ยว แต่นางอรวรรณ  พัฒนพีระเดช  ได้ดำเนินการและประสบความสำเร็จ

ความสำเร็จของธุรกิจที่ดำเนินการโดยนางอรวรรณ พัฒนพีระเดช มิได้มีเฉพาะเรื่องของการบริหารกิจการโรงแรมเท่านั้น หากพิจารณาถึงรางวัลซึ่งนางอรวรรณได้รับ  เห็นว่ามีหลายสาขาที่กิจการไปมีผลกระทบต่อสังคม ที่อยู่ในสายของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยตรง ได้แก่ รางวัลดีเด่นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ประเภทที่พักในปี 2543, 2545, 2547,  2549,  2553  รางวัลโรงแรมมาตรฐานระดับ 5 ดาว  ปี 2549 – 2551  รางวัลรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวไทยปี 2556  จากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  รางวัล Award of Excellent for The Booking.com Guest Review Award 2557  ส่วนที่เป็นผลกระทบจากธุรกิจอื่น ได้แก่ รางวัลสถานประกอบการด้านความปลอดภัย ชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน  ระดับจังหวัด จากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน รางวัลชนะเลิศระดับประเทศ / ภัตตาคาร จากงานภูมิปัญญาอาหารไทย ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี

ด้วยความรู้  ความสามารถ  มีวิสัยทัศน์ได้ดำเนินกิจการที่ขยายความเจริญกระจายรายได้ไปสู่ภูมิภาคมีผลต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว  และต่อเศรษฐกิจของชาติ เป็นอเนกประการ  สภามหาวิทยาลัยศรีปทุม   มีมติเป็นเอกฉันท์มอบปริญญา ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  สาขาวิชาการจัดการโรงแรม ประเภททั่วไป แก่นางอรวรรณ  พัฒนพีระเดช  เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป

ความภาคภูมิใจ  :
สามารถบริหาร และนำพาธุรกิจโรงแรมที่เป็นของคนท้องถิ่น(ขอนแก่น)ให้อยู่รอดท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ, การเข้ามาของเงินทุนต่างประเทศ และความไม่สงบทางการเมือง มาตลอดระยะเวลา 20 ปี โดยยังคงรักษามาตรฐานการให้บริการระดับ 5 ดาว ทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ และสร้างแรงงานการโรงแรมระดับสูงของภาคอีสาน และสามารถสร้างสมดุลในชีวิตได้ทั้งในเรื่อง การงาน, ชีวิตครอบครัว และชีวิตส่วนตัว ทำให้มีความสุขกับสิ่งเล็กๆที่อยู่รอบข้างได้เสมอ
แนวคิดในการดำเนินชีวิต :
อย่ากลัวความผิดพลาด เพราะความผิดพลาด คือขบวนการเรียนรู้ไปสู่ความสำเร็จ  และอย่าไว้ใจในความสำเร็จ เพราะมันจะนำพาไปสู่ความล้มเหลว ไม่ยอมประนีประนอมในมาตรฐานและคุณค่าของงานที่ทำ  เพราะมันจะนำไปสู่ความมักง่าย และล้มเหลวในที่สุด

Are You Ready To Start?

ค่าเทอมสาขา

คณะ/สาขาวิชา ลักษณะการกู้ยืมฯ เทอม 1 ตลอด หลักสูตร
คณะวิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการ
ธุรกิจการบิน 2 41,200 36,200 321,000
การจัดการธุรกิจโรงแรมและการออกแบบประสบการณ์ท่องเที่ยว 1 41,200 36,200 317,800
การจัดการบริการธุรกิจเรือสำราญ 2 40,500 35,500 328,200

ธุรกิจการบิน

ปีการศึกษา เทอม 1 เทอม 2 เทอม 3
สาขาธุรกิจการบิน
ปีการศึกษาที่ 1 41,200 36,200 34,600 15,300
ปีการศึกษาที่ 2 42,700 43,300 20,500
ปีการศึกษาที่ 3 44,300 44,700 14,900
ปีการศึกษาที่ 4 19,500
    ลักษณะการกู้ยืมฯ 2
    ค่าเทอม (4ปี) 321,000

การจัดการธุรกิจโรงแรมและการออกแบบประสบการณ์ท่องเที่ยว

ปีการศึกษา เทอม 1 เทอม 2 เทอม 3
สาขาการจัดการธุรกิจโรงแรมและการออกแบบประสบการณ์ท่องเที่ยว
ปีการศึกษาที่ 1 41,200 36,200 40,600 16,300
ปีการศึกษาที่ 2 41,300 38,600 20,500
ปีการศึกษาที่ 3 40,900 44,000 14,900
ปีการศึกษาที่ 4 19,500
    ลักษณะการกู้ยืมฯ 1
    ค่าเทอม (4ปี) 317,800

การจัดการบริการธุรกิจเรือสำราญ

ปีการศึกษา เทอม 1 เทอม 2 เทอม 3
สาขาการจัดการบริการธุรกิจเรือสำราญ
ปีการศึกษาที่ 1 40,500 35,500 28,800 15,300
ปีการศึกษาที่ 2 37,600 39,600 20,500
ปีการศึกษาที่ 3 41,100 40,400 19,300
ปีการศึกษาที่ 4 25,900 19,200
    ลักษณะการกู้ยืมฯ 2
    ค่าเทอม (4ปี) 328,200