Home SPU Special คุยไม่เก่ง แต่อยากมีเพื่อนก็เริ่มได้! ด้วยเทคนิคดีๆ จากเหล่า Mommy ตัวท็อปของ SPU

คุยไม่เก่ง แต่อยากมีเพื่อนก็เริ่มได้! ด้วยเทคนิคดีๆ จากเหล่า Mommy ตัวท็อปของ SPU

by author

คุยไม่เก่ง แต่อยากมีเพื่อนก็เริ่มได้!
ด้วยเทคนิคดีๆ จากเหล่า Mommy ตัวท็อปของ SPU

ปรึกษาได้ทุกเรื่องกับอาจารย์แม่! ที่ SPU ของเรามีอาจารย์ที่เปรียบเสมือนแม่ซึ่งทั้ง 2 ท่านนั้นมีทักษะในการให้เคล็ดลับด้านบุคลิกภาพด้วยนะ วันนี้เราจึงเชิญทั้งแม่กระแตกับแม่วิ มาให้คำแนะนำน้องๆ ที่คุยไม่เก่ง แต่อยากหาเพื่อนรู้ใจไว้คบยาวๆ 4 ปีในรั้ว ม.ศรีปทุม ใครเป็นคนขี้เขินต้องรีบอ่านแล้วล่ะ!

PROFILE :

แม่กระแต – อาจารย์วรวลัญช์ ธนัชปิยะธันย์

ตำแหน่ง : ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

Q : Introvert เริ่มต้นคุยยังไงดี?

A : อยากรู้จักใครลองเริ่มต้นด้วย “รอยยิ้มที่สดใส” เพราะรอยยิ้มคืออาวุธลับที่ใครก็แพ้ ยิ้มอย่างจริงใจ พร้อมสร้างมิตรภาพ จากนั้นทักทายด้วยคำพูดง่ายๆ เช่น “สวัสดีครับ/ค่ะ” ที่สำคัญอย่าลืมสบตา เพราะการสบตาคู่สนทนา แสดงถึงความสนใจและตั้งใจฟัง ตามด้วยการแนะนำตัวเองอย่างสุภาพ บอกชื่อ คณะ สาขา เพื่อให้รู้จักกันค่ะ

Q : ทำไงให้มั่นใจมากขึ้น?

A : เราต้องดูแลตัวเองให้ดูดี สะอาด แต่งกายให้สุภาพเหมาะสม ลองฝึกพูด ฝึกทักทายหน้ากระจก คิดบวก มองโลกในแง่ดี ที่สำคัญคือเชื่อในศักยภาพของตัวเอง จดจำจุดแข็ง หาสิ่งที่ตัวเองชอบ พัฒนาให้โดดเด่น และอย่าลืมแก้ไขจุดอ่อนของตัวเองให้ดีขึ้นค่ะ

Q : 5 คำถามง่ายๆ ไว้ชวนคุย ถ้าคิดไม่ออกก็ลอกได้เลย!

A : 1.เธอเรียนคณะอะไร? 

2.มาจากจังหวัดไหนหรอ?

3.แถวนี้มีร้านอะไรอร่อยๆ มั่งเปล่า?

4.ชอบทำกิจกรรม/สนใจชมรมไหนบ้างไหม?

5.ชอบดูหนัง/ซีรีส์เรื่องไหนบ้าง?

Q : ถ้าเจอเรื่องไม่อิน/ไม่รู้จัก จะคุยยังไงให้ราบรื่นดี?

A : ลองค้นหาจุดร่วมค่ะ แม้เราไม่คุ้นเคยหรือไม่มีข้อมูลเรื่องนั้นเลย เราต้องตั้งใจฟัง จับประเด็น หาสิ่งที่เราพอจะรู้ แล้วถามคำถามปลายเปิดเพิ่มเติม เพื่อแสดงความสนใจและกระตุ้นให้เขาพูดต่อ ตามด้วยแชร์ประสบการณ์ ความคิดเห็น หรือมุมมองของเรา ที่สำคัญที่สุด เราต้องเปิดใจรับฟัง เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ค่ะ

Q : เคล็ดลับเข้าสังคมได้ไม่มีเฟล?

A : การเข้าสังคมโดยเฉพาะกับเพื่อนใหม่ มีเทคนิคที่เข้าสังคมอย่างไรไม่ให้เฟลอยู่ค่ะ ต้องเริ่มจากพูดจาสุภาพ รับฟังคนอื่นก่อน ไม่พูดแทรก ไม่นินทาว่าร้าย ไม่โอ้อวดตัวเอง ไม่ก้าวก่ายพื้นที่ส่วนตัว และการสนทนาที่ดีคือไม่เล่นมือถือค่ะ

Q : เป็นตัวของตัวเองยังไงให้ดูน่าเข้าหา?

A : จำไว้ว่าทุกคนเคยผ่านจุดเริ่มต้นมาทั้งนั้น ลองกล้าแสดงออก แบ่งปันความคิด ลองผิดลองถูก เพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์ ที่สำคัญ Be yourself แค่มีรอยยิ้มและความมั่นใจ ทุกคนก็พร้อมสร้างมิตรภาพดีๆ ในรั้วมหาวิทยาลัยศรีปทุมได้แล้วค่ะ สุดท้ายยินดีต้อนรับสู่ SPU พื้นที่จุดประกาย “ตัวตน” ค้นพบ “Passion” และ “เป้าหมาย” มาเรียนรู้ เติบโต และสร้างอนาคตที่สดใสไปด้วยกันนะคะ อาจารย์ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน กล้าฝัน กล้าทำ กล้าเปลี่ยนแปลง อาจารย์ทุกท่านพร้อมอยู่เคียงข้าง สนับสนุน ผลักดัน สู่เส้นทางแห่งความสำเร็จระดับโลก เพราะ SPU พร้อมสร้าง “ดาวดวงใหม่”

PROFILE :

แม่วิ – อาจารย์วิกานดา   เจียมสุข   นักจิตวิทยาให้คำปรึกษา

ตำแหน่ง : ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาสุขภาวะ  กลุ่มงานกิจการนักศึกษา   มหาวิทยาลัยศรีปทุม

Q : คุยไม่เก่ง เริ่มต้นยังไงดี?

A : แม่วิขอแนะนำคำถามง่าย ๆ ที่สามารถชวนคนอื่นคุยได้ค่ะ

  • แนะนำตัวก่อนเสมอ : สวัสดีค่ะ / ครับ  ยินดีที่ได้รู้จัก 
  • คุยโดยอาศัยจังหวะที่เกิดขึ้น : ที่ตรงนั้นว่างไหมคะ?  ขอนั่งด้วยได้ไหม?
  • คุยเกี่ยวกับสิ่งที่เราถนัด : งานอดิเรกที่ชอบ / ชอบดูหนังแนวไหน / การ์ตูนที่ชอบ

คำถามเชิงห่วงใย : เธอเหนื่อยไหม? มีอะไรให้ช่วยไหม? ก็ช่วยเริ่มต้นการสนทนากับเพื่อนใหม่ในเชิงบวกได้นะคะ

Q : ทักทายยังไงให้ดูธรรมชาติ?

A : การพูดคุยกับเพื่อนใหม่ไม่ได้เป็นเรื่องยากเย็นเสมอไป อาจเริ่มจากสูดหายใจเข้าลึกๆ คิดถึงการเริ่มต้นที่ดี แล้วเข้าไปคุยกับเพื่อนคนนั้นได้เลย ทักทายแนะนำตัวด้วยคำง่ายๆ เช่น สวัสดี  เราชื่อ…ยินดีที่ได้รู้จัก แล้วปล่อยให้การสนทนาดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ อาจพูดคุยถึงเรื่องที่เป็นประโยชน์ทั่วไป

Q : เพิ่มความมั่นใจ สไตล์นักจิตวิทยา

A : ขอแนะนำเทคนิคการเพิ่มความมั่นใจให้ตัวเองง่ายๆ เริ่มจากอย่าให้ความล้มเหลวในอดีตมาทำให้เราขาดความมั่นใจ ไม่เปรียบเทียบตัวเรากับคนอื่น คนเรางดงามได้ต่างกัน ให้นึกถึงความสำเร็จและจุดแข็งของเรา เพราะการนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นจะทำให้เราเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อตัวเอง รักตัวเองให้มาก คิดบวก หมั่นพัฒนาตัวเอง ให้โอกาสตัวเองเมื่อทำผิดพลาด และเอาชนะความกลัว

Q : คุยยังไงให้คนฟังรู้สึกดี?

A : เมื่อพูดคุยกันควรฟังอย่างตั้งใจ วางมือถือลงและให้ความสนใจกับคนที่อยู่ตรงหน้า   จะทำให้เข้าใจกันมากขึ้นและลดความขัดแย้งลง เท่านี้คนฟังก็รู้สึกดีแล้วค่ะ แม่วิขอเป็นกำลังใจให้ลูกๆ นักศึกษาทุกคนที่อาจยังเข้าสังคมไม่เก่ง แต่ถ้าหากตั้งใจเราก็สามารถพัฒนาทักษะด้านนี้ได้นะคะ

Q : ปรึกษางานกลุ่ม แต่ไม่เห็นด้วย ต้องทำไงดี?

A : เริ่มจากทำความเข้าใจสิ่งที่คู่สนทนาต้องการเล่าก่อน  เป็นผู้ฟังที่ดี ตั้งใจฟังเพื่อให้ไม่หลุดประเด็นนั้น   จากนั้นลองหาจุดที่คู่สนทนาและเรายอมรับร่วมกันได้   และที่สำคัญหากมีการโต้แย้งข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เราต้องพูดจาอย่างละมุนละม่อมจะดีมากค่ะ

You may also like

Leave a Comment