Home SPU Special รวมสิ่งที่ต้องรู้ ก่อนทำโปรเจกต์ให้ปัง แบบเด็กสถาปัตย์ SPU

รวมสิ่งที่ต้องรู้ ก่อนทำโปรเจกต์ให้ปัง แบบเด็กสถาปัตย์ SPU

by author

รวมสิ่งที่ต้องรู้ ก่อนทำโปรเจกต์ให้ปัง แบบเด็กสถาปัตย์ SPU

เด็กสถาปัตย์ช่วงว้าวุ่นกับโปรเจกต์ คงไม่อยากพลาดคอลัมน์นี้ ใครมีฝันอยากคว้ารางวัลประกวด หรืออยากทำโปรเจกต์ให้ปัง 3 ผ่าน เตรียมจดวิธีทำได้ เพราะเราขอเคล็ดลับจากรุ่นพี่ที่ผ่านโปรเจกต์มาแบบปังๆ ว่าแต่ละคนมีวิธีอะไรในการทำโปรเจกต์ให้โดนใจกรรมการกันบ้าง ตามมาอ่านเลยสิ!

PROFILE :

เรน – อาทิตยา คงกะแดะ

คณะการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์

สาขาโดนใจ : การออกแบบภายใน

จบจากโรงเรียน : สวนศรีวิทยา จังหวัดชุมพร

IG : Me_Rain

วาดรูปไม่เป็น สู่เด็กสถาปัตย์คว้ารางวัล

พี่เป็นนักเรียนคนหนึ่งที่เรียนมัธยมต้นและปลายสายวิทย์ (SMTE) ซึ่งไม่เกี่ยวกับสายศิลป์หรือการออกแบบและสถาปัตย์แม้แต่น้อย หมายความว่าพี่ไม่มีพื้นฐานเลยแม้แต่การวาดรูป ไม่ได้มีพรสวรรค์ใดๆ จากตอนนั้นจนมาถึงวันนี้พี่ก็พยายามเรียนรู้ในด้านต่างๆ จนได้รับรางวัลเป็นของตนเอง แม้ไม่ได้ยิ่งใหญ่แต่ก็ภูมิใจนะ

มันคงดีกว่า “ถ้าพื้นที่นี้เชื่อมต่อผู้คนทุกช่วงวัยเข้าด้วยกัน”

โปรเจกต์ของพี่เรนชื่อว่า PEAK A BOO Playground and Café ซึ่งได้นำโปรเจกต์เข้าร่วมการประกวดของ VICHITR Young Designer Contest 2023 ภายใต้หัวข้อ Ecoscape สร้างสรรค์พื้นที่ Community Space เพื่อผู้คนและโลกที่ดีกว่า จนได้รับรางวัล TOP 5 รางวัลชมเชย มาด้วยค่ะ

จุดเริ่มต้นมาจากแนวคิดที่ว่า
“เราควรทำอะไรเพื่อให้เกิดพื้นที่ Community Space ที่ดีต่อทั้งคนและโลก”

มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมค่ะ ต่อให้คนๆ นั้นไม่เข้าพวกขนาดไหน หรือไม่ชอบเข้าสังคมเท่าไหร่ก็ต้องมีสักวันที่ได้เข้าสังคมอยู่ดี สิ่งนี้ต้องเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เด็กหรือผู้ใหญ่ วัยเรียนหรือวัยทำงาน ทุกคนล้วนได้ลองเข้าสังคมกันสักครั้ง เรนมองว่าถ้าเริ่มต้นด้วยดีก็ดีไป แต่ถ้าแย่หรือไม่ดีเท่าที่ควรล่ะ? มันจะกลายเป็นปัญหาเล็กน้อยหรือใหญ่โตจนกลายเป็นเรื่อง Toxic ไหมนะ? เพราะปัจจุบันเราคงได้พบปัญหาเหล่านี้อยู่บ้างใช่ไหมคะ บ้างก็แก้ไขได้ง่ายๆ บ้างก็แก้ปัญหาไม่ได้เลย อีกทั้งเรายังมีปัจจัยที่เรียกว่า “ช่วงวัย ช่วงอายุ” ที่แตกต่างกัน ทำให้ต่างคนต่างเข้าใจเพียงมุมมองของตัวเอง หรือไม่ก็คิดว่าอีกคนไม่มีทางเข้าใจเราหรอก สิ่งนี้มันสร้างผลกระทบต่อการเข้าสังคม การสานสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและกัน ดังนั้นเรนจึงตั้งใจออกแบบพื้นที่เล็กๆ ให้เป็นพื้นที่พักผ่อนและพื้นที่วิ่งเล่นของเด็กๆ ในช่วงเวลาเลิกเรียน ถือเป็นจุดสำคัญสำหรับชุมชนที่บริเวณรอบๆ นั้น มีโรงเรียนหลากหลายโรงเรียนอยู่ในพื้นที่เดียวกัน นอกจากสามารถเป็นสถานที่ให้เด็กๆ ได้รอคอยผู้ปกครองมารับ ยังเหมาะกับผู้ใหญ่ที่สามารถใช้เป็นจุดนั่งพัก เพื่อดื่มหรือกินอะไรง่ายๆ ระหว่างรอลูกเลิกเรียนอีกด้วย พื้นที่แห่งนี้จึงเป็นสถานที่ที่ทุกคนสามารถมาใช้งานได้ เป็นจุดรวมผู้คนไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่นั่นเองค่ะ

“Sustainable Architect ” ยั่งยืนทั้งกายและใจของผู้คน

หากมองในแง่ของความยั่งยืน สถานที่นี้ให้ความยั่งยืนกับสภาพจิตใจนะ ให้สุขภาพจิตที่ดี ความเป็นมิตรที่ดี สังคมที่ดี และความสัมพันธ์ที่ดี ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ พอสุขภาพจิตดีสุขภาพกายก็ดีขึ้นด้วย ในแง่ความยั่งยืนของ Community Space พื้นที่นี้ให้ได้ทั้งสภาพแวดล้อมที่มีธรรมชาติรายล้อม แสงแดดส่องถึง และลมที่พัดผ่านให้ความสดชื่นความสบายใจแก่ผู้คนที่มายังสถานที่แห่งนี้ ในด้านของวัสดุเอง เรนได้เลือกใช้วัสดุที่ลดการสะสมของสารเคมี ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจรวมถึงระบบอื่นๆ ในร่างกายค่ะ

ลองมาอ่านขั้นตอนการทำโปรเจกต์จนได้รับรางวัล

ขั้นตอนแรกของการทำโปรเจกต์ คือมองว่าเราควรทำอะไร เพื่ออะไร เลือกใช้แนวทางที่คิดว่าสนุกและมีความสุขไปกับงานนั้น ขั้นต่อมาลองมองกลับไปที่หัวข้อของ Project ซ้ำๆ ตีโจทย์ว่ามันคืออะไรนะ ถ้าลองคิดจากหัวข้อที่ได้เราจะโฟกัสกับประโยค “พื้นที่ Community Space เพื่อคนและโลกที่ดีกว่า” และ “Ecoscape” แยกกัน ลองมองว่าประโยคนี้คืออะไร มีหมายความว่าอย่างไร มีประโยชน์ยังไง เพื่ออะไร สำหรับผู้คนแบบไหน จะทำเพื่อโลกได้ยังไง แล้วในแง่ไหน จากนั้นเอาทุกอย่างมารวมกัน อาจลองทำเป็น Paragraph หรือ Mind Map ก็ดี หาวิธีที่สะดวกเราที่สุด แล้วค่อยเริ่มลงมือออกแบบ 

ลองดู Referents งานคนอื่นๆ จาก Pinterest หรือเว็บไซต์ที่มีงานมาโชว์บ้าง เพื่อให้เราได้เปรียบเทียบดูว่างานของเราดีหรือไม่ อะไรคือสิ่งที่ยังขาดอยู่ จุดไหนที่เรามีมากเกินไป น้องๆ ต้องใช้วิธีนี้หา Referents เท่านั้นห้ามลอกเลียนแบบโดยเด็ดขาด ขั้นตอนถัดไปคือทำ Research และออกแบบงาน 2D ส่วนตัวพี่ชอบวาดลงกระดาษก่อน เพราะเส้นสีจากการวาดด้วยดินสอมันทำให้รู้สึกดีกว่า เข้าใจเส้นของตัวเองได้มากกว่า หลังจากนั้นพี่จะขึ้น 3D And Render ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้สึกว่าเราได้งานที่น่าพอใจและรู้สึกดีกับผลงานนั้นๆ สิ่งสำคัญสำหรับพี่คือเราต้องรู้สึกชอบผลงานของตนเองด้วย งานถึงสมบูรณ์แล้ว

สถาปัตย์ 1 ชิ้นงาน โดดเด่นได้ด้วยแนวคิดที่ดีกว่า

สำหรับ PEAK A BOO Playground and Café นั้นได้รับคำแนะนำด้านบวกและความสนใจจากคณะกรรมการ จากที่มาและแนวคิดในการออกแบบพื้นที่ Community Space ที่ผนวกเข้ากับปัญหาการเข้าสังคม โดยพื้นที่สามารถสร้างและสานสัมพันธ์ระหว่างช่วงวัย ซึ่งช่วยลดปัญหาและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในสังคม สิ่งเหล่านี้ทำให้โปรเจกต์นั้นดูโดดเด่นจนเตะตาคณะกรรมการขึ้นมาค่ะ

ไม่มีปัญหา คงไม่ค้นเจอทางแก้ไขที่ดีที่สุด

ความท้าทายของโปรเจกต์ PEAK A BOO Playground and Café  คือการออกแบบโดยต้องคำนึงถึงการใช้งานจากผู้ใช้ที่มีช่วงวัยแตกต่างกัน ซึ่งในบางครั้งอาจเกิดปัญหากันเองได้ เราอยากแก้ไขให้ช่องว่างระหว่างวัยลดลง ทุกคนสามารถคุยกันได้ เข้าใจอีกฝ่ายได้ ต้องเป็น Community Space ให้ทุกคนอยู่อย่างสบายใจและปลอดภัย ความท้าทายอีกอย่างคือความชอบของคนเราไม่เหมือนกัน ดังนั้นการออกแบบเพื่อให้ทุกคนชื่นชอบจึงเป็นเรื่องยากพอควร ฉะนั้นความคิดเห็นของอาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อนๆ ที่มาดูก็สามารถช่วยเราได้ ลองขอเวลาเขาสักนิด เราอาจได้อะไรดีๆ ไปต่อยอดงานของเราก็ได้

ถึงน้องๆ สถาปัตย์ที่วุ่นวายกับการทำโปรเจกต์อยู่

สำหรับใครที่อยากทำโปรเจกต์ด้านการออกแบบและสถาปัตย์ฯในอนาคตเพื่อส่งประกวดหรือเพื่อเป้าหมายสักอย่าง อยากบอกว่าสู้ๆ นะ เป็นกำลังใจแบบใส่ไข่คูณสอง (หัวเราะ) มันอาจจะเหนื่อยหน่อยนะ  หรือไม่ก็เหนื่อยมากๆ แต่ถ้าน้องเลือกเรียนแล้ว น้องทำได้แน่นอน เย้!

You may also like

Leave a Comment