NEWS & ACTIVITIES

ทำงานกลุ่มอย่างไร? ให้เพื่อนๆ เลิฟ!

       ไม่ต้องแปลกใจที่ทุกๆ งานทุกๆ วิชาในรั้วมหาวิทยาลัย อาจารย์มักจะให้เรา “จับกลุ่ม” ทำงานกับเพื่อนๆ เสมอๆ นั่นก็เพราะว่าในชีวิตจริงของการทำงานนั้น การเป็น “ฮีโร่ ชนิดข้าเก่งคนเดียว” ไม่ควรจะเกิดขึ้น! ทุกคนเกิดมาถนัดคนละด้าน และงานจะเสร็จไวและดีที่สุดเมื่อมีคนเก่งทุกๆ ด้านมารวมกัน
 
      นี่เองถึงเป็นเหตุผลให้บริษัทมีหลายๆ แผนก ไม่ใช่เจ้าของคนเดียวทำทุกแผนก!
 
      แต่การร่วมงานกับคนอื่นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นเรามาลองดูเทคนิคการทำตัวให้เป็นคนน่ารัก เพื่อการทำงานกลุ่มได้อย่างราบรื่นจนเพื่อนๆ เลิฟกันเลย!
 
1. เปิดโอกาสให้ทุกคนโชว์จุดเด่นของตัวเอง!
 
เมื่อได้รับมอบหมายงานมา เราสามารถเริ่มต้นได้จากการถามเพื่อนๆ ว่า เธออยากทำส่วนไหนเพราะอะไร? เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสทำงานที่ตัวเองถนัดที่สุด (เข้าตำรา Put the right man, on the right job)
 
2. ตั้งเป้าหมายร่วมกัน
 
ถึงแม้ว่าการบ้านทุกชิ้นมีกำหนดส่ง แต่ระหว่างทางที่แต่ละคนทำงานของตัวเอง ก็ต้องมีความคืบหน้างานทีละขั้น เราสามารถเสนอให้ผู้รับมอบหมายชิ้นงานแต่ละงาน เสนอว่าเขาจะทำงานแต่ละส่วนแต่ละขั้นเสร็จเมื่อไหร่ (ควรให้เขาเสนอเอง ไม่อย่างนั้นจะดูเป็นการบังคับ) จากนั้นก็มาลองเทียบดูว่าเวลาที่เขาใช้ไป มันสามารถที่จะทันเสร็จกำหนดของงานโดยรวมหรือเปล่า

ตัวอย่างของการวางแผนงานในรูปแบบของ Timeline ของ Teamweek.com (ใช้บริการฟรี และชวนเพื่อนมาร่วมกันใส่ข้อมูลได้สูงสุด 5 คน)

UploadImage

 
3. นัดประชุมในร้านกาแฟ/สุกี้

เราสามารถนัดอัปเดทงานพร้อมกับกิจกรรมสนุกๆ ไปด้วย เผื่อให้บรรยากาศผ่อนคลาย โดยใช้เวลาเริ่มต้นก่อนรับประทานจะดีที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วทุกคนก็จะได้เอ็นจอยมื้ออาหารไปพร้อมๆ กัน ระหว่างทานก็อย่าลืมกล่าวชื่นชม และขอบคุณที่แต่ละคนทำงานของตนได้เป็นอย่างดี และอย่าลืมว่างานเสร็จก็ควรฉลองกันอีกสักรอบ เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
 
4.  เตรียมใจว่า “ปัญหา” มาแน่!
 
การคิดบวกเป็นเรื่องที่ดี แต่เมื่อเกิดเรื่องลบๆ ขึ้นการทำความเข้าใจกับปัญหา และหาแง่บวกไปแก้ ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถ
เมื่อใดที่เกิดปัญหาและต้องการเคลียร์ หากเราอาสาไปจัดการแล้วไม่คืบหน้า โดยเฉพาะกับปัญหาระหว่างเพื่อนสาว การส่งเพื่อนร่วมทีมที่เป็นหนุ่มๆ บางครั้งอาจจะช่วยแก้ปัญหาได้อีกแบบ เพราะผู้ชายจะมีวิธีคิด วิธีปลอบ และวิธีพูดไม่เหมือนผู้หญิง อาจจะทำให้มองปัญหาได้จากอีกมุมหนึ่ง
 
สุดท้ายจำให้ขึ้นไว้ว่า คนที่จะร่วมมือกับผู้อื่นได้ราบรื่น ต้องมัคุณสมบัติของการรอมชอม และไม่ถือเอาปัญหางานมาเป็นเรื่องส่วนตัว
และยิ่งเราร่วมงานกับคนมากเท่าไหร่ เราจะยิ่งรู้จักวิธีการเข้าถึงบุคคลต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งเนื้องานได้ในที่สุด! ฉะนั้นให้ถือว่าการ “ทำงานกลุ่ม” ทุกๆครั้ง เป็นบททดสอบให้เราเตรียมพร้อมสำหรับโลกแห่งการทำงานจริง ที่เป็นสนามใหญ่และท้าทายกว่าเดิมนั่นเอง