อยากเป็นฟรีแลนซ์แบบแว๊นซ์ๆ ต้องรู้อะไรบ้าง?
เทรนด์ของเด็กรุ่นใหม่ที่อายุ 20 ต้นๆ ในชั่วโมงนี้ น้อยคนนักที่อยากเป็นพนักงานประจำหลังเรียนจบ อาจจะเป็นเพราะพวกเราเชื่อว่า “อายุน้อย” ก็มี “ร้อยล้าน” ได้ หรือบางคนเห็นพี่ๆ ในครอบครัวเป็นพนักงานประจำมีชีวิตที่จำเจ ตื่นเช้าเข้างาน 9 โมง พักกลางวันต่อแถวซื้อกาแฟ ตอนเย็นโบกรถกลับบ้าน ฯลฯ เป็นไลฟ์สไตล์ที่น่าเบื่ออย่างยิ่ง!
ทำให้ร้อยละ 90 ของเด็กเจนใหม่ฝันอยากมีอาชีพอิสระ หรือที่เรียกกันว่า “ฟรีแลนซ์” ผู้เขียนในฐานะคนที่เคยเป็นพนักงานกินเงินเดือนมากกว่าทศวรรษ และวันนี้ผันตัวมาเป็นฟรีแลนซ์ จึงมีข้อคิดและข้อเท็จจริงมากมายกับอาชีพฟรีแลนซ์ที่อยากแบ่งปันให้น้องๆ ฟัง
ต้องมีลูกค้าถึงได้มาเป็นฟรีแลนซ์!
เพราะฟรีแลนซ์จริงๆ แล้วคือ “อาชีพรับจ้าง” ดีๆ นั่นเอง แต่จะรับจ้างด้วยงานแบบไหน ก็ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถของเรา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วต้องยอมรับว่ามันเป็นงานที่ไม่ได้สำคัญหรือเป็นความลับต่อบริษัทมากนักเขาถึงยอมจ้างคนนอก โดยมีลักษณะการจ้างงานเป็นรายโครงการๆ (หรือที่เรียกว่าโปรเจค)
ตัวอย่างงานที่บริษัทส่วนใหญ่เลือกจ้างฟรีแลนซ์
- งานทำภาพกราฟฟิก / ออกแบบเว็บหรือแอปฯ / ทำพรีเซ็นเทชั่น
- งานเขียนบทความ/เขียนบทภาพยนตร์
- งานแปล
- เขียนโปรแกรม
- ถ่าย ตัดต่อ ลงเสียง วิดีโอ
- การวางแผนสื่อโฆษณา
ทำยังไงจะมีลูกค้า?
ปกติแล้วเราต้องเคยทำงานประจำก่อน คนวงในรู้จักฝีมือ และออกมารับงานเองแบบนี้ ถึงจะมีลูกค้าตามมาด้วย แต่หากเราเริ่มเป็นฟรีแลนซ์ดุ่ยๆ การโปรโมทตัวเองให้คนอื่นรู้ก็เป็นสิ่งแรกที่ต้องทำ เช่น โปรโมทผ่านเฟสบุ๊กของตัวเอง หรือเข้าไปประกาศหางานที่เว็บจ้างฟรีแลนซ์อย่าง https://fastwork.co/
เค้าจ้างงานกันยังไง?
ส่วนใหญ่แล้วการจ้างงานฟรีแลนซ์มักจะเริ่มจากสัญญาใจ หากโครงการหลักพันถึงหลักหมื่นมักไม่มีการทำสัญญาให้ยุ่งยากทั้งสองฝ่าย ฉะนั้นใครที่ทำสัญญาใจได้แน่นแฟ้น เช่น ส่งงานดีๆ ตรงเวลา มีของแถม และส่วนลด คนนั้นแหละจะเป็นคน “งานเข้า” โดยไม่ต้องออกไปหาลูกค้าใหม่ แต่หากใครทำโครงการใหญ่มากถึงหลักแสน ก็อาจจะลองหาช่องทางทำสัญญาเอกสารได้
โดนโกงทำยังไง?
หากทำงานกับคนคุ้นเคยแล้ว บอกได้เลยว่าโอกาสโดนโกงนั้นมีน้อยมาก เพราะยังไงก็คนคุ้นเคย แต่อาจจะมีโอนช้าบ้าง เราก็ถามไถ่ไปในแชตได้ แต่ถ้าโครงการใหญ่ๆ ที่คิดว่าเป็นตายกับชะตาชีวิตเรา การทำสัญญาก็จะช่วยรักษาสิทธิ์ในการฟ้องร้อง (แต่อย่าลืมคิดค่าใช้จ่ายและเวลาฟ้องร้องด้วยว่าคุ้มกันไหม?)
การคิดราคา
ปกติเรารับงานใดๆ เราก็ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าคนอื่นเขาคิดราคากันยังไง วิธีที่ได้ผลที่สุดคือ คิดจากความพึงพอใจ + และ - กับความสามารถของเราดู (อาจจะสูงกว่าคนอื่นได้ถ้าเราเจ๋งจริง) เราเพียงบอกราคาไป ลูกค้าคนไหนรับไหว ก็ได้ดีลกัน เราสามารถลดราคาพิเศษได้ตามใจชอบอีก ด้วยเงื่อนไขที่เรากำหนดได้เอง เช่น งานเพื่อการศึกษา งานเพื่อการกุศล เป็นต้น
กฎเหล็กของการเป็นฟรีแลนซ์มืออาชีพ
คนที่เขาจ้างเราไม่ได้เพราะแค่ชอบเรา แต่ทุกคนต้องการล้วนได้งานที่เกิดจากความสามารถของเรา ดังนั้น การทำงานได้ตามที่บอก ส่งงานได้ตรงเวลา เพียง 2 สิ่งนี้ที่ทำเป็นมาตรฐานได้ตลอด การจ้างงานและบอกต่อกันแบบปากต่อปากก็จะเกิดขึ้นเอง เมื่อนั้นเราก็จะมีคนมาเสนองานให้เราอยู่ในทุกโอกาสนั่นเอง