มาของภาพ https://www.pinterest.com/pin/189010515585392778/
เราต้องเคยทราบข้อเท็จจริงที่ว่าภาษาจีนมีต้นกำเนิดจากภาษาภาพกันบ้างแล้ว ทำให้คอร์สเรียนอักษรจีนในเบื้องต้น อาจารย์ก็มักจะเล่าที่มาของตัวอักษรจีนแต่ละตัวให้ฟัง ซึ่งก็สนุกและเปิดจินตนาการได้ไม่น้อยเลยทีเดียว!
นี่เป็นภาพตัวอย่างของผู้จัดทำหนังสือเรียนอักษรจีนจากภาพแบบสมัยใหม่ chineasy.com
ลองมาดูคลิปวิดีโอฮั่นจื้อกง ที่มีอากงผู้ปราดเปรื่องมาสอนภาษาจีนทีละตัวๆ จากภาพวาดในตำนานกัน
https://www.youtube.com/watch?v=7jE44lmjUl4
แต่ต้องบอกน้องๆก่อนว่าเมื่อเราเรียนภาษาจีนในระดับสูงขึ้น ซึ่งเป็นคำที่ซับซ้อนขึ้น การเดาคำศัพท์จากรากศัพท์อาจจะไม่ได้ผล ซึ่งเหลือเพียงวิธีเดียวนั่นก็คือ อ่านมากๆ ใช้บ่อยๆ เพื่อให้มันซึมลึกนั่นเอง
ภาษาจีนใช้คำตรงๆ ตัว
เมื่อเรียนภาษาจีนแล้วจุดที่ท้าทายมากที่สุดคือ การจำคำศัพท์ว่าคำๆ นี้ภาษาจีนเรียกว่าอะไร ซึ่งเสน่ห์ของคำศัพท์จีนนั้นมักจะใช้คำตรงๆตัว เข้าใจง่าย ซึ่งก็จะช่วยในการจดจำมากยิ่งขึ้นด้วย
เช่นคำว่า “หนีห่าว” คำทักทายที่คนไทยรู้จักดี ซึ่งก็มาจากคำว่า 你 (หนี่) คุณ และ 好 (ห่าว) ดี คุณดีไหม หรือพูดให้ถูกต้องก็เป็นคุณสบายดีไหมนั่นเอง
หรืออย่างเช่นคำศัพท์ที่มีคำว่า 电 (เตี้ยน) ที่แปลว่าไฟฟ้า เมื่อเอาไปรวมกับหลายๆ คำนาม ก็จะกลายเป็นชื่อเรียกสิ่งของที่เราคุ้นเคยในชีวิตประจำวันมากมาย อาทิ
电+脑 (หน่าว) สมอง : อะไรกันนะที่เรามักเรียกมันว่า “สมองกล” คำตอบก็คือ คอมพิวเตอร์นั่นเอง
电+话 (ฮว่า) พูด: พูดให้คลื่นเสียงสะเทือนส่งผ่านไฟฟ้า เป็นหลักการเบื้องต้นที่อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์คิดค้น...โทรศัพท์ นั่นเอง!
电+视 (ชื่อ) ดู: การดูภาพด้วยระบบไฟฟ้า ติ๊กต็อก....โทรทัศน์ นั่นเอง
สำหรับคนที่เรียนศัพท์จีนไปเยอะๆ จนเบลอ ปัญหาที่คนไทยจะพบเหมือนๆ กันก็คือ การเรียกสลับกันไปมา จนทำให้คนจีนงง แต่ก็เรียกเสียงฮาในขณะสนทนากันได้ดีทีเดียว รวมถึงการคิดไปเองว่าน่าจะเป็นคำนั้นคำนี้ เช่น คำว่าแอร์โฮสเตส เมื่อแปลตรงๆ ตัวคนไทยอาจจะคิดว่าใช้คำว่า 飞 (เฟย) บิน 女 (หนู่) ผู้หญิง = ผู้หญิงบิน แต่คนจีนฟังแล้วฮาแตก เพราะคำเรียกที่ถูกต้องของแอร์โฮสเตส ในภาษาจีนคือ "คงเจย่" ที่มาจากคำว่า 空 (คง) อากาศ + 姐 (จเย่) ผู้หญิง นั่นเอง
ภาษาจีนมีเสียงอ่านชวนฮาๆ
เพราะภาษาจีนถือเป็นภาษาสุดท้าย (ที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลก) ที่เป็นภาษาที่ตัวอักษร 1 ตัวสามารถอ่านออกเสียงได้หลายเสียง และมีหลายความหมาย มิได้เป็นการรวมกันระหว่างพยัญชนะและสระเหมือนภาษาอื่นๆ ในโลก อาทิ ภาษาไทย อังกฤษ เกาหลี
ฉะนั้นการสร้างสรรค์คำสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นศัพท์ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี หรือแบรนด์เนม คนจีนก็จะใช้ภาษาจีนในการเรียก ซึ่งชื่อก็อาจจะมาจากการเลียนเสียง หรือการแปลความหมาย
เช่น คำว่า Big Data ซึ่งถือว่าเป็นคำใหม่มากในวงการเทคโนโลยีของโลก ซึ่งคนไทยเวลาจะแปลก็จะใช้คำอธิบายยาวๆ เช่น การประมวลผลข้อมูลมหาศาล แต่ภาษาจีนจะใช้แค่ตัวอักษร 3 ตัวที่แปลคำนี้แบบตรงๆ ตัวว่า 大数据 มาจากคำว่า 大+数据 ซึ่งก็พอเดาได้ว่าคำว่า 大 (ต้า) = Big, 数据 (ชรู้จู้) = ตัวเลข นั่นเอง
หรือหากเป็นการเลียนเสียงก็มักจะเป็นชื่อแบรนด์ฝรั่ง เช่น นิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) ภาษาจีนจะเรียกว่า 福布斯 (ฝูปู้ซือ) ลองพูดคำว่าฝูปู้ซือไวๆ ซัก 5 ครั้งติดกัน ก็จะได้ยินเป็นคำออกเสียงใกล้เคียงกับคำว่าฟอร์บส์นั่นเอง
ถึงตอนนี้หากน้องๆ ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะลงเรียนจีนเป็นวิชาเอกหรือโท การเข้าไป sit in ลองฟังคลาสภาษาจีนเบื้องต้นก่อนก็จะเป็นอีกทางที่ช่วยให้น้องๆ ตัดสินใจได้นะคะ แต่เชื่อได้ว่า “ได้จีนเป็นภาษาที่ 3 แล้ว” อนาคตทั้งการเรียนและการงานย่อมสดใสอย่างแน่นอนค่ะ