NEWS & ACTIVITIES

"โอกาสการท่องเที่ยวประเทศไทยหลังโควิด หรือ เราควรเป็น Medical Health Tourism Hub ของภูมิภาค"

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการเป็นภาคเศรษฐกิจหลักของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การท่องเที่ยวและบริการนับว่าได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเป็นอันดับแรกๆ เพราะผู้คนทั่วโลกต่างชะลอและหยุดการเดินทาง นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญต่างคาดการณ์ว่า ธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างเร็วที่สุด คือไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 หรือราวๆช่วงเดือนตุลาคม 2563 แต่หากการแพร่ระบาดยังคงรุนแรงต่อเนื่อง เศรษฐกิจการท่องเที่ยวคงจะได้ฟื้นตัวในราวเดือนตุลาคม 2564 และกลุ่มที่จะฟื้นตัวก่อน ได้แก่ การท่องเที่ยวเดินทางเพื่อเจรจาธุรกิจ ทั้งนี้ เพื่อให้ธุรกิจของตนผ่านพ้นช่วงเวลายากลำบากโดยเร็ว
แต่ไม่ว่าภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวเร็วหรือช้าขนาดไหน ภาพรวมของอุตสาหกรรมหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ย่อมเปลี่ยนแปลง ทั้งตัวของนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ นอกเหนือจากที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และเป็นสังคม Cashless มากขึ้น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการยังต้องปรับตัวกับเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น
  • มาตรฐานความสะอาดจะเป็นสิ่งแรกที่ผู้เดินทางให้ความสนใจ ขั้นตอนในการทำความสะอาดพื้นผิว การซักล้าง ตลอดจนความสะอาดของผู้ให้บริการ เป็นเรื่องที่ต้องสื่อสารให้ชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นแก่ผู้เดินทาง
  • ระบบการสื่อสารและแผนสำรองในยามเกิดเหตุฉุกเฉินเป็นเรื่องจำเป็น จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้าไม่ถึงข่าวสารหรือความช่วยเหลือจากทางราชการ ทางสถานประกอบการเองไม่มีแผนรับมือต่อเหตุการณ์เท่าที่ควร ปรากฏภาพนักท่องเที่ยวตกค้างในประเทศต่างๆ การวางแผนดูแลช่วยเหลือนักเดินทางจึงมีความสำคัญ อย่างน้อยที่สุด ผู้คนต้องสามารถติดต่อกับสถานทูตของตนเอง หน่วยงานราชการ โรงพยาบาล หรือสถานีตำรวจได้
  • การท่องเที่ยวกลุ่มเล็กจะมีบทบาทมากหลังวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและความเชื่อมั่นของผู้เดินทาง การจำกัดจำนวนคนในการเข้าพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวจะมีส่วนในการตัดสินใจเลือกสถานที่เดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น การทำการตลาดจะเปลี่ยนไป ต้องเจาะไปยังแต่ละกลุ่มเป้าหมาย โดยยึดความสนใจและ lifestyle เฉพาะกลุ่มเป็นสำคัญ
โอกาสที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทยที่จะฟื้นตัว คงไม่ได้หมายถึง outbound travel ในเร็ววันนี้ เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลกก็ยังไม่ได้ดีนัก ประเทศไทยคงต้องหวังพึ่งการท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นหลัก แม้ว่าในช่วงกักตัว และ lockdown ผู้คนจะโหยหาการเดินทางท่องเที่ยว แต่เชื่อได้เลยว่าหลังสถานการณ์นี้จบลง ราคาตั๋วเครื่องบินและห้องพักต่างๆจะถูกลงเป็นอย่างมาก และจะขายได้เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น และคงจะกลับมาเต็มเหมือนเดิมเมื่อผ่าน 2 ปีไปแล้ว
ในความโชคร้ายยังมีโอกาสที่ดีอยู่ เมื่อประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ได้รับความชื่นชมจากทั่วโลกว่ามีระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดี การนำโอกาสตรงนี้พัฒนาปรับปรุงการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงน่าจะเป็นจุดขายของประเทศไทยในอนาคตได้
ประเทศไทยถูกพูดถึงในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมานานหลายปี แต่ไม่ได้มีการสงเสริมอย่างจริงจัง ทั้งที่เป็น 1 ใน 11 นโยบายของท่านนายกรัฐมนตรีในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และทำให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub of this region จากสถิติของ Medical Tourism Survey และ CBI Trade Stat for Tourism ประชากรจากหลากหลายประเทศ อาทิ สหราชอาณาจักร เยอรมัน UAE   และประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลก เดินทางเพื่อ Health Tourism ไม่ต่ำกว่าประเทศละ 50,000 คนต่อปี โดยประเทศไทยเป็น 1 ใน 4 ประเทศปลายทางในภูมิภาคเอเชีย และอยู่อันดับที่ 20 ในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ที่ดีที่สุดในโลก

UploadImage
 
ในอนาคตหากประเทศไทยสามารถผลักดันการเป็น Medical Health Tourism Hub ได้ เชื่อว่าโรงแรมต่างๆจะสามารถปรับตัวเพื่อรองรับผู้เดินทางเพื่อมารักษาตัว ผู้สูงอายุ และ/หรือกักตัวในกรณีมีโรคระบาดเช่นนี้อีก กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ต้องส่งเสริมและผลักดันการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้เป็น New Normal ในอนาคต แน่นอนว่าตอนนี้ ประเทศไทยอาจจะยังไม่สามารถส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวได้มากนัก เพราะต้องติดตามสถานการณ์ของโรคเป็นรายวัน แต่ก็นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีในการวางแผน ทบทวน และวิเคราะห์การท่องเที่ยวประเทศไทยอย่างจริงจัง